“ปัญหาฝุ่น” วาระชาติหรือแค่วาทกรรมระดับชาติ นักวิชาการย้อนถาม รัฐจริงจังแค่ไหน

3 นักวิชาการ เสนอปรับเกณฑ์ค่ามาตรฐานไทยให้ตัวเลขต่ำลง ผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด พร้อมบูรณาการทุกอำนาจรวมอยู่ในองค์กรเฉพาะ เชื่อเห็นผลเป็นรูปธรรม

การปรับเกณฑ์มาตรฐานค่าฝุ่นพิษจิ๋ว ให้ต่ำกว่าตัวเลขเดิม คือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ไทยใช้มานาน 10 ปี ถูกพูดถึงอีกครั้ง เมื่อ กรมควบคุมมลพิษ มีแผนปรับเกณฑ์มาตรฐานโดยมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไปช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา    โดยมีแนวโน้มจะปรับตัวเลขให้เหลือ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร ตามระยะที่ 3 ที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ  นี่ถือเป็นข่าวดีในแวดวงผู้รักสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าเรื่องนี้จะยังมองไม่เห็นปลายทางที่ชัดเจนก็ตาม แต่ถ้ายึดจาก แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ประเทศไทยจะมีการปรับค่ามาตรฐานทั้งเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และเฉลี่ยรายปี ภายในปีนี้ และปีหน้า

สำหรับแผนวาระชาติฯ ที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอไว้ตั้งแต่ปี 2562 ในแผนนี้ ไม่ได้ระบุแค่การปรับเกณฑ์มาตรฐานเท่านั้น แต่ยังระบุมาตรการ และระบุอำนาจที่ยึดโยงแต่ละกระทรวงไว้หมด ผ่านไป 1 ปีเศษ แผนในกระดาษมีอะไรเกิดขึ้นจริงในรูปธรรมหรือไม่ ?

ในเวทีเสวนาทางวิชาการ “2021 PM 2.5 มัจจุราชเงียบ” ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน  รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า แผนวาระชาติขาดเป้าหมายที่ชัดเจน หากจะแก้เรื่องนี้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันดับแรก เห็นว่า ควรปรับเกณฑ์ค่ามาตรฐานของไทยให้ต่ำลงกว่านี้ เพื่อกระตุ้นทุกภาคส่วน ควบคู่กับการออกกฎหมายอากาศสะอาด เพราะกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่บทลงโทษเบา และควรมีองค์กรเฉพาะเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยตรงเหมือนต่างประเทศ  

“วาระชาติคือเรื่องไร้สาระ ถ้ามีแต่ไม่ทำให้เกิดเป็นรูปธรรม ถ้าเราแก้ปัญหานี้ได้ จะส่งผลดีต่อลูกหลานในอนาคต มันจะเป็นเรื่องน่าเศร้ามากถ้าพวกเขาต้องใช้เงินซื้ออากาศบริสุทธิ์”

ด้าน ผศ.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นด้วยว่าการปรับค่ามาตรฐานจะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นจากแหล่งกำเนิด พร้อมตั้งคำถามต่อรัฐไทยว่าจริงจังแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาเมื่อเทียบน้ำหนักระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม รัฐให้น้ำหนักเศรษฐกิจมากกว่า และหากในอนาคตมีการสอบสวนโรคและระบุความเชื่อมโยงว่าเกิดจากฝุ่นได้ จะเป็นเรื่องดีมาก

“ไม่มีประโยชน์อะไรหากการพัฒนาอยู่บนซากปรักหักพังของดินน้ำอากาศ สุดท้ายเราต้องหาเงินอีกก้อนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่ดี  ตอนนี้ไม่ต้องให้น้ำหนักสิ่งแวดล้อมมากกว่าก็ได้ ขอแค่ใกล้เคียงก็พอ”

ด้าน ศ.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระบุว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงสร้างอำนาจ ถ้าไทยแก้ปัญหาฝุ่นพิษจิ๋วได้ ไทยก็หลุดจากประเทศที่กำลังพัฒนาได้ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลขาดความชัดเจนต่อนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำมัน การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในฐานะนักวิชาการจึงต้องทำงานควบคู่เพื่อให้ประชาชนตื่นตัวและเกิดกระแสกดดันเปลี่ยนแปลงไปยังรัฐบาล

“ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้วาระชาติก็แค่วาทกรรม แต่อย่างน้อยแผนชาติก็ยังทำให้เกิดการตั้งคำถาม ประชาชนตื่นตัว ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง”

วิเคราะห์พฤติกรรมฝุ่น พุ่งสูงถึง 7 ก.พ.  

ผศ.สุรัตน์ บัวเลิศ ยังได้ทำการศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน จากการเก็บข้อมูลต่อเนื่อง ตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว จากเครื่องมือตรวจวัดระดับมาตรฐานเดียวกับกรมควบคุมมลพิษ ตามที่ US EPA กำหนด ก่อนจะพบว่า การสะสมตัวหนาแน่นของฝุ่นจิ๋ว มีรูปแบบของพฤติกรรมต่าง ๆ ได้แก่  รูปแบบ “ฝุ่นหลังเที่ยงคืน” ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน อุณหภูมิช่วงเดือนนี้จะลดต่ำลง มีความชื้นส่วนเกิน ฝุ่นจิ๋วจะไปเกาะกับความชื้น จึงทำให้ช่วงเวลานี้ฝุ่นจะสูงขึ้น รูปแบบที่สอบ “อินเวอร์ชั่น” ที่มีผลต่อการลอยตัวของฝุ่น  ปกติปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นช่วงกลางคืน แต่ระยะหลังพบถี่ขึ้นในกรุงเทพมหานคร และมักเกิดขึ้นตอนกลางคืน ปัจจัยนี้ยังไม่มีการลงรายละเอียดของสาเหตุที่เกิดขึ้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่มีสัดส่วนมากที่สุด ที่ส่งผลต่อการสะสมตัวของฝุ่นละอองขนาดเล็ก

รูปแบบที่สาม “การเคลื่อนที่ระยะไกล” เดินทางมาโดยอากาศ หรือฝุ่นข้ามพรมแดน ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์  ลมทางด้านทิศตะวันออก มีอิทธิพลหอบฝุ่นมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทิศทางลมช่วงนี้สอดคล้องกับประเทศกัมพูชา  และสัมพันธ์กับจำนวนจุดความร้อนที่เกิดขึ้น รูปแบบที่สี่ รูปแบบผสม เป็นพฤติกรรมของฝุ่นที่สะสมตัวหนาแน่นจากแต่ละแบบ ไม่ตายตัว ซึ่งรูปแบบนี้จะเจอทุกปี รูปแบบสุดท้าย การทำปฏิกิริยาจากอากาศหรือฝุ่นทุติยภูมิ  

“ฝุ่นสะสมตัวหนาแน่น สาเหตุใหญ่มาจากอินเวอร์ชั่นและแบบผสมที่ไม่ตายตัว ช่วงนี้อากาศเย็นตัวลง ฝุ่นระยะไกลที่ลอยมาจมลงตามอากาศ ความเข้มข้นจึงสูง แต่เมื่ออากาศเริ่มอุ่นฝุ่นก็จะค่อย ๆ ระบายได้ และจะกลับไปสะสมตัวอีกครั้งช่วงกลางคืน ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงบ่ายของวันที่ 7 ก.พ.”

ผศ.สุรัตน์ ย้ำว่าข้อมูลนี้มีประโยชน์สามารถนำไปเชื่อมโยงกับแหล่งกำเนิดฝุ่น ซึ่งจะช่วยให้การจัดการเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยวิเคราะห์จากพฤติกรรมของฝุ่นในการสะสมตัว ซึ่งแต่ละช่วงเวลาไม่เหมือนกัน

ด้าน ศ.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ระบุว่า ฝุ่น PM 2.5 เปรียบเสมือนยานพาหนะ องค์ประกอบมีสารพิษหลายชนิดที่เป็นโลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว สารพีเอเอช (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) ฯลฯ   นอกจากนี้ ศ.ศิวัช ยังระบุว่าจากงานศึกษาวิจัยที่เคยทำร่วมกับคณะทั้งในประเทศไทยและระดับนานาชาติ ยังคงพบว่าแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต ภาพรวมตลอดทั้งปี มาจากยาพาหนะมากที่สุด แต่หากพิจารณาตามช่วงเวลา แหล่งกำเนิดฝุ่นแต่ละแหล่งก็จะปล่อยมากน้อยแตกต่างกัน เช่น ช่วงที่มีการเผาข้าวและไร่เชิงเดี่ยว บนพื้นที่สูงในเขตป่า ก็จะยังพบว่ามีสัดส่วนมากที่สุดในช่วงหนึ่ง การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ยังคงเสนอว่า ประเทศไทยถึงเวลาที่ต้องมีกฎหมายอากาศสะอาดและมีองค์กร หรือหน่วยงานเฉพาะที่เข้ามาทำหน้าที่บูรณาการทุกกระทรวงให้เกิดรูปธรรมในการแก้ไขปัญหามากที่สุด

“เมื่อพูดถึงฝุ่น PM 2.5 สิ่งที่ต้องพิจารณามากกว่านั้น คือ องค์ประกอบของฝุ่นที่อยู่ในยาพาหนะตัวนี้  เครื่องมือตรวจวัดที่ดีจึงต้องบอกได้ด้วยว่ามีพิษอะไรเป็นองค์ประกอบอยู่บ้าง”    

ด้าน รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาสินค้าที่ฉวยโอกาสในช่วงนี้ที่ระบุว่าจะแก้โรคที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กได้  เช่น เครื่องประดับประจุไฟฟ้า เป็นต้น พร้อมเสนอว่า โรงเรียนควรมีเซฟโซน ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ แทนการใช้มาตรการปิดโรงเรียนหนีฝุ่น เนื่องจากเห็นว่าเด็กบางคนกลับบ้านยังคงต้องเผชิญกับมลพิษอยู่ดี และไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะมีเครื่องฟอกอากาศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส