UN แถลงวิตก ขอไทยยกเลิกใช้ ม.112 เหตุ โทษรุนแรง สร้างความหวาดกลัว กระทบต่อการพัฒนาประชาธิปไตย
วันนี้ (9 ก.พ. 2564) อัยการมีคำสั่งให้ฟ้องคดีแกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” 4 คน คือ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ “หมอลำแบงค์” จากเหตุการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอว่าจะมีคำสั่งให้ประกันตัวได้หรือไม่
ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ในข้อหาหลักเป็นความผิดตามมาตรา 116 กระทำการยุยงปลุกปั่น, ความผิดฐานหมิ่นสถาบันสูง ตามมาตรา 112 และความผิดอื่นตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.บ.จราจร และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวม 11 ข้อหา
ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้ต้องหายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี ทางพนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานในหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไม่มีเหตุผลเพียงพอให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งฟ้อง โดยหลังจากมีคำสั่งฟ้องได้ควบคุมตัวทั้ง 4 คน ส่งฟ้องต่อศาลอาญา
ขณะที่กลุ่มผู้ต้องหาเปิดเผยว่า ทั้ง 4 คนจะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลอาญา โดยได้เตรียมหลักทรัพย์ไว้ยื่นประกันแล้ว ขณะเดียวกันมีกลุ่มอาจารย์ที่จะเข้าช่วยเหลือโดยจะใช้ตำแหน่งข้าราชการช่วยค้ำประกัน กรณีศาลเรียกเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ในคดีนี้มีผู้กล่าวหาในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ทั้งหมด 7 คน โดยพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้ทยอยส่งสำนวนคดีพร้อมส่งตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการไปแล้วบางส่วน ได้แก่ พริษฐ์ ถูกส่งตัวเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564, สมยศและปติวัฒน์ ส่งตัวเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 และ อานนท์ ถูกส่งตัวเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564
ขณะเดียวกัน ในส่วนของพริษฐ์ พนักงานอัยการในคดีการชุมนุม Mob Fest หรือ #ม็อบ14พฤศจิกา ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและบนถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2563 ได้แจ้งว่าเตรียมจะสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญาในวันนี้เช่นเดียวกัน โดยคดีนี้ พริษฐ์ ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 และมาตรา 116 เพียงคนเดียว จากเนื้อหาคำปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าว
โดยการสั่งฟ้องของอัยการในทั้งสองคดีนี้ จะนับเป็นคดีมาตรา 112 ซึ่งมีเหตุเกิดขึ้นภายหลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 เป็นต้นมา ที่ถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาล นับจากเริ่มมีการนำข้อกล่าวหานี้กลับมาใช้กล่าวหาดำเนินคดีต่อนักศึกษาและประชาชน ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จึงต้องจับตาแนวทางการพิจารณาในการปล่อยตัวชั่วคราวของศาล และกระบวนการพิจารณาในชั้นศาลต่อไป
UN วิตก ไทยใช้มาตรา 112
ขณะที่มีรายงานว่า เมื่อวานนี้ (8 ก.พ.) ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงานแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteur on the right to freedom of opinion and expression) ซึ่งเป็นกลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ได้แสดงความวิตกต่อการใช้กฎหมาย “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ต่อผู้วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะการลงโทษจำคุกอย่างรุนแรงในกรณีของ “อัญชัญ” ถึงกว่า 43 ปี เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 และขอให้ศาลอุทธรณ์ทบทวนการลงโทษดังกล่าว
นอกจากนั้นผู้รายงานพิเศษฯ ยังแสดงความกังวลต่อการดำเนินคดีที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินคดีต่อเยาวชน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ให้ยกเลิกการดำเนินคดีต่อผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว และปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังเนื่องจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก
“เราได้ย้ำอย่างสม่ำเสมอว่า กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไม่ควรมีที่ทางในประเทศประชาธิปไตย การกำหนดโทษที่รุนแรงเพิ่มขึ้นมาก สร้างความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพด้านการแสดงออก และยิ่งจำกัดพื้นที่ของพลเรือนและการเข้าถึงเสรีภาพขั้นพื้นฐานในประเทศไทย”
ทั้งนี้ ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงานแห่งสหประชาชาติ เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระใหญ่สุดในระบบสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เป็นชื่อเรียกโดยทั่วไปของกลไกตรวจสอบข้อเท็จจริง และติดตามสถานการณ์อิสระของคณะมนตรี ซึ่งมุ่งแก้ปัญหาทั้งในระดับสถานการณ์ของประเทศ หรือทำงานในประเด็นหลักในทุกพื้นที่ของโลก ผู้เชี่ยวชาญของกลไกพิเศษทำงานแบบอาสาสมัคร ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติ และไม่ได้รับเงินเดือนจากการทำงาน เป็นอิสระจากรัฐบาลหรือหน่วยงานใด ๆ และทำงานในฐานะส่วนตัว