สองสภา มีมติ 366 ต่อ 315 เสียง เห็นชอบให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญตีความสภาฯ แก้รัฐธรรมนูญ “โรม” ชี้ ทำให้กระบวนการแก้ ล่าช้ามากขึ้น
ที่ประชุมร่วมสองสภาวันนี้ (9 ก.พ. 2564) มีมติ 366 ต่อ 315 เสียง และ งดออกเสียง 15 เสียง เห็นชอบญัตติด่วนของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ สมชาย แสวงการ ส.ว. พร้อมคณะ ที่ให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) ในการตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่
โดย ไพบูลย์ กล่าวถึงเหตุผลของการเสนอญัตติดังกล่าวว่า เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาได้มีการยื่นญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในวาระที่ 1 และประชาชนเข้าชื่อยื่นญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 1 ฉบับ โดยปรากฏว่าญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่ม (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ทั้ง 3 ฉบับ ดังกล่าว ได้มีหลักการและเหตุผลให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น โดยเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นบัญญัติให้มีหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมาตรา 256/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้
เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2560 ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น ตามหลักกฎหมายมหาชน “ไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ” หมายความว่าหากไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจไว้จะกระทำไม่ได้ รัฐสภาจึงไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภามีอำนาจเฉพาะที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 คือ มีแต่อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น ดังนั้น การกระทำใด ๆ เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจะใช้บังคับไม่ได้
จึงเห็นว่า หากไม่มีการดำเนินการให้ได้ความชัดเจนทางข้อกฎหมายในกรณีดังกล่าว เกรงว่าอาจจะกระทบต่อการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ได้ จึงต้องทำให้เรื่องดังกล่าวเกิดความชัดเจน โปร่งใส ก่อนดำเนินการไปถึงขั้นตอนการทำประชามติที่อาจทำให้เสียงบประมาณจำนวนมากได้
และการที่รัฐสภาจะมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาญัตติที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือใหม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่มีอำนาจวินิจฉัย จึงเห็นควรให้รัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ควบคู่กับให้รัฐสภาดำเนินการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวต่อในวาระ 1 และวาระ 2
หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็สามารถดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ให้ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐสภาขึ้นมา เพื่อดำเนินการจัดทำญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเสนอสู่การพิจารณารัฐสภาต่อไป
ขณะที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โพสต์ข้อความระบุว่า มติดังกล่าวจะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกเตะถ่วงต่อไปอีก และยังเป็นการทำให้อำนาจในการวินิจฉัยอนาคตของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกไปอยู่ในกำมือของศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชาชน หรือตัวแทนประชาชน ไม่มีสิทธิไปแตะต้องหรือแก้ไขเพื่อกำหนดอนาคตตัวเองได้เลย