เหตุ ยังเดินหน้าก่อสร้าง ทั้งที่ยังประเมินผลกระทบไม่เพียงพอ เสี่ยงสูงหลายด้าน แผ่นดินไหว – กระทบต่อเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 สฤณี อาชวานันทกุล ในฐานะแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ส่งหนังสือเรียกร้อง 7 ธนาคารไทย ให้แสดงจุดยืนต่อโครงการเขื่อนหลวงพระบาง หลังจากประเทศลาวยังคงเดินหน้าการก่อสร้าง ทั้งที่มีเสียงคัดค้านและความกังวลเรื่องผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และบริษัทเจ้าของโครงการจะยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ตามแนวปฏิบัติของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีธนาคารพาณิชย์รายใดที่ยินยอมให้การสนับสนุนทางการเงิน
แนวร่วมการเงินฯ ระบุว่า โครงการเขื่อนหลวงพระบางมีความสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างผลกระทบในวงกว้าง ซ้ำรอยผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนไซยะบุรี โดยแนวร่วมการเงินฯ เห็นว่าธนาคารไทยไม่ควรให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการฯ เนื่องจากไม่มีความจําเป็นใด ๆ ที่ไทยต้องซื้อไฟฟ้าจากโครงการฯ ในเมื่อปัจจุบันปริมาณสํารองไฟฟ้าพุ่งทะลุ 50 % และในช่วงการระบาดของโควิด-19 ปริมาณสํารองส่วนเกินมีมากกว่า 10,000 MW หรือเท่ากับเขื่อนหลวงพระบางรวมกัน 6.8 เขื่อน จนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกาศว่ากําลังพิจารณายกเลิกการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ
อีกทั้งยังมีความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของเขื่อนหลวงพระบางอยู่ในระดับสูง และบางด้านยังมากกว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรี เช่น ความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว และความเสี่ยงต่อเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง แต่บริษัทเจ้าของโครงการกลับไม่มีการประเมินความเสี่ยงที่เพียงพอ ทั้งการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climatechange) ต่อการทํางานของเขื่อน
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคนี้ที่สูงขึ้น เมื่อเจ้าหนี้ลาวเกือบ 50 % คือ จีน ซึ่งให้ลาวกู้เงินสร้างเขื่อนหลายแห่งป้อนมณฑลยูนนาน และความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มเติมจากการที่ลาวถูกลดอันดับเครดิต เช่น สถาบัน Moody’s ลดอันดับเครดิตของลาวรวดเดียว 2 ขั้น จาก B3 เป็น Caa2 หรือเทียบเท่าระดับ junk bond
แนวร่วมการเงินฯ เห็นว่า จากการที่ธนาคารได้ประกาศว่าจะปฏิบัติตาม แนวทางการดําเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Sustainable Banking Guidelines –Responsible Lending) ด้วยการปล่อยสินเชื่อที่คํานึงความเสี่ยงและผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงเรียกร้องให้ธนาคารทั้ง 7 แห่ง ประกาศว่า จะระงับกระบวนการพิจารณาการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการฯ จนกว่า บริษัทเจ้าของโครงการฯ จะมีการแก้ไขรายงาน และปฏิบัติตามข้อเสนอตามแถลงการณ์ของคณะกรรมการร่วม (Joint Committee’s Statement) เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2562 และข้อเสนอจาก 3 ประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Reply Form) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสม และวางมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เป็นรูปธรรม ก่อนที่จะดําเนินโครงการตามกระบวนการแจ้งปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA)
รวมทั้งประกาศด้วยว่าธนาคารจะเพิ่ม “โครงการผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงสายหลัก” ในรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) ของธนาคาร ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2564 โดยให้มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2561 สมาชิกประกอบด้วยบริษัทวิจัย 1 บริษัท และองค์กรภาคประชาสังคม 4 องค์กร ได้แก่ บริษัท ป่าสาละ จำกัด, International Rivers, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking) อย่างแท้จริง
GISTDA เผยภาพแม่น้ำโขงลดระดับวิกฤตหนัก
ขณะที่ GISTDA เผยภาพแม่น้ำโขงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจนเห็นพื้นผิวของน้ำเป็นสีครามจากดาวเทียม Sentinel-2 เปรียบเทียบกัน 2 ช่วงเวลา คือเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2564 และวันที่ 7 ก.พ. 2564 พบว่าสีน้ำในลำน้ำโขงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
โดย GISTDA ระบุว่า การเกิดน้ำโขงสีครามเป็นตัวบ่งชี้ถึงวิกฤติน้ำโขงที่ระดับพื้นผิวน้ำลดลงอย่างมากในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทำให้สามารถสังเกตเห็นตะกอนในลำน้ำได้ชัดขึ้น ขณะที่ริมตลิ่งของพื้นที่ทั้งสองฝั่งแนวลำน้ำสามารถมองเห็นสันดอนทรายหรือเกาะกลางแม่น้ำในลำน้ำโขงได้อย่างชัดเจน ซึ่งจากสถานการณ์นี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็น ข้าว ยางพารา ยาสูบ มะเขือเทศ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง อาทิ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี