ไม่ให้เข้าถึงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ที่ถือครองในสหรัฐฯ ‘ชาวเมียนมา’ ยังลงถนนประท้วงต่อเนื่องเป็นวันที่ 6
สำนักข่าวอาเซียน อ้างอิงข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์ส ว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แถลงว่า ได้อนุมัติคำสั่งพิเศษสำหรับคว่ำบาตรรอบใหม่บรรดาผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารในเมียนมา พร้อมทั้งเน้นย้ำข้อเรียกร้องขอให้เหล่านายพลสละอำนาจและปล่อยตัวผู้นำพลเรือน โดยคำสั่งดังกล่าวจะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถกำหนดมาตรการคว่ำบาตรผู้นำกองทัพ ซึ่งบงการการรัฐประหารในทันที รวมถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจต่าง ๆ ของนายพลและสมาชิกในครอบครัว
ผู้นำสหรัฐฯ บอกว่า วอชิงตันจะระบุตัวเป้าหมายรอบแรกในสัปดาห์หน้า และจะใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อสกัดไม่ให้นายพลเมียนมาเข้าถึงเงินทุนรัฐบาลเมียนมา 1,000 ล้านดอลลาร์ (3 หมื่นล้านบาท) ที่ถือครองอยู่ในสหรัฐฯ รวมทั้งจะกำหนดควบคุมการส่งออกอย่างเข้มข้น และอายัดทรัพย์สินสหรัฐฯ ที่เป็นประโยชน์แก่รัฐบาลเมียนมา แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็จะยังคงให้การสนับสนุนด้านการดูแลสุขภาพ กลุ่มประชาสังคมต่าง ๆ และขอบเขตอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนชาวเมียนมาโดยตรง
“เราพร้อมกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติม และจะเดินหน้าทำงานร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศของเรา เรียกร้องประเทศอื่น ๆ เข้าร่วมในความพยายามนี้”
แม้ ไบเดน ไม่ได้เจาะจงว่าใครบ้างที่จะถูกเล่นงานด้วยมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ แต่สื่อมวลชนรายงานว่า มีความเป็นไปได้ที่วอชิงตันจะเล่นงาน พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และนายพลระดับสูงคนอื่น ๆ ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ อยู่ก่อนแล้ว โดยคราวนั้นสหรัฐฯ ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรในปี ค.ศ. 2019 ตอบโต้กรณีล่วงละเมิดชาวมุสลิมโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ
นอกจากนี้ มาตรการคว่ำบาตรอาจรวมถึงการเล่นงานกลุ่มบริษัทหลัก 2 แห่งของกองทัพ ได้แก่ เมียนมา อีโคโนมิก โฮลดิงส์ ลิมิเต็ด และ เมียนมา อีโคโนมิก คอร์ป ซึ่งเป็น Holding Company (บริษัทที่มีธุรกิจหลัก คือ การเข้าไปลงทุนหรือถือหุ้นในกิจการอื่น ๆ) ที่ลงทุนในภาคต่าง ๆ ในนั้นรวมถึงภาคธนาคาร, อัญมณี, ทองแดง, โทรคมนาคมและธุรกิจเสื้อผ้า
ไบเดน กล่าวด้วยว่า เมียนมาคือประเด็นแห่งความกังวลใหญ่หลวงของพรรคการเมืองทั้งสองพรรคในสหรัฐฯ พร้อมเรียกร้องกองทัพเมียนมาอีกครั้ง ให้ปล่อยตัวบรรดานักการเมืองและนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในทันที
ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นประเทศที่สองที่ประกาศมาตรการอย่างเป็นทางการเพื่อคัดค้านการรัฐประหารในเมียนมา หลังจาก จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ประกาศ (9 ก.พ.) แบนเมียนมาเป็นชาติแรก โดย รัฐบาลนิวซีแลนด์จะระงับการติดต่อทางการเมืองและการทหารในระดับสูงกับเมียนมา พร้อมทั้งเตรียมบังคับใช้คำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพเมียนมาเดินทางเข้าประเทศ และจะตรวจสอบการระดมทุนใด ๆ ที่ส่งไปยังเมียนมาเพื่อไม่ให้เอื้อประโยชน์ต่อรัฐบาลทหาร โดยโครงการช่วยเหลือเมียนมาที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพจะยังคงเดินหน้าต่อไป
ขณะที่ วันนี้ (11 ก.พ.) ประชาชนชาวเมียนมาในหลายเมืองยังออกมาเดินขบวนประท้วงการรัฐประหารต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 แม้เจ้าหน้าที่จะเริ่มใช้ความรุนแรงตอบโต้กลุ่มผู้ประท้วง จนทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย โดยหนึ่งในนั้น คือ มยา ตวะเต ตวะเต ไคง์ (Mya Thwate Thwate Khaing) หญิงสาววัย 19 ปี ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกกระสุนปืนยิงบริเวณศรีษะเมื่อวันอังคาร (9 ก.พ.) ที่ผ่านมา ซึ่งการบาดเจ็บของเธอก็กลายเป็นประเด็นเรียกความสนับสนุนให้แก่ขบวนการต่อสู้ในเวลาต่อมา