ชาวบ้านร้องศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนข้อบัญญัติท้องถิ่น ไฟเขียวตั้งโรงไฟฟ้าขยะ 9.5 เมกะวัตต์ ในชุมชน พร้อมเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ยกเลิกคำสั่ง คสช.4/2559 ยกเว้นผังเมือง เปิดทางกิจการด้านพลังงาน หวั่นส่งผลกระทบสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต
กรณี ความพยายามดำเนินการโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ขนาด 9.5 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ตำบลหนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี จำนวน 11 ไร่ 2 งาน จนนำมาสู่เสียงคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่
ล่าสุด วานนี้ (17 ก.พ.64) เครือข่ายชาวบ้านตำบลหนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนข้อบัญญัติท้องถิ่น ที่เชื่อว่าได้ปรับแก้รายละเอียดจนอาจเปิดทางให้สามารถตั้งโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ชุมชนได้ โดยที่เครือข่ายฯ ได้ยื่นฟ้อง องค์การบริหารส่วนตำบลหนองไข่น้ำ , นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไข่น้ำ , สภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไข่น้ำ และ นายอำเภอหนองแค
เครือข่ายฯ ระบุว่า อบต.หนองไข่น้ำ ได้ดำเนินการออกข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไข่น้ำ เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทในพื้นที่บางส่วนในท้องที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2563 ที่แก้ไขให้สามารถอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนในพื้นที่ ต.หนองไข่น้ำได้ โดยที่ประชาชนในพื้นที่ไม่เคยรับทราบมาก่อน และที่ผ่านมาไม่มีกระบวนการให้ข้อมูล และจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงขอให้ศาลปกครองกลาง พิจารณาเพิกถอนข้อบัญญัติฉบับดังกล่าว เพื่อไม่ให้โครงการฯ ส่งผลกระทบต่อชุมชน
นอกจากนี้เครือข่ายฯ ได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าผลิตจากขยะชุมชน และยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 กรณียกเว้นผังเมืองทั่วประเทศสำหรับกิจการด้านพลังงานและขยะ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และอาจเปิดทางให้มีกิจการอันตรายตั้งในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยมี สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนมารับหนังสือจากทางเครือข่ายฯ
ขณะที่ตัวแทนเครือข่ายฯ ซึ่งมีภูมิลำเนา มีที่ดิน หรือประกอบอาชีพอยู่ในพื้นที่ กังวลว่า หากโครงการโรงไฟฟ้าขยะ เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ เพราะพื้นที่ชุมชนตามผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งมีข้อห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการโรงไฟฟ้า
แต่การอาศัยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ที่ยกเว้นกฎหมายผังเมือง และการปรับแก้ไขข้อบัญญัติท้องถิ่นที่เกิดขึ้น กำลังทำให้โรงไฟฟ้าขยะสามารถตั้งได้แม้ว่าจะขัดต่อผังเมืองก็ตาม
ด้าน สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ขอให้นายกฯ ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน และ ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 เพราะการใช้อำนาจ คสช. เพื่อออกคำสั่งนี้ และยกเว้นให้กิจการขยะไม่ต้องพิจารณาถึงเรื่องผังเมือง อาจเท่ากับการยกเว้นบังคับใช้ผังเมือง ซึ่งสร้างความไม่เป็นธรรม และก่อให้เกิดผลกระทบในหลายพื้นที่
สำหรับกรณีนี้ เทศบาลเมืองพระพุทธบาท ประสงค์ดำเนินการโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลเมืองพระพุทธบาทด้วยวิธีแปรสภาพเป็น RDF และนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า ที่ตำบลหนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ โดยได้ประกาศคัดเลือกบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการเมื่อช่วงเดือนมกราคม ปี 2562
ต่อมาในเดือนเมษายน ปี 2562 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศรายชื่อ บริษัท มิทท คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ผ่านการพิจารณาโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ให้กับเทศบาลเมืองพระพุทธบาท กำลังการผลิตติดตั้ง 9.5 เมกะวัตต์
จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2563 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ประกาศการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กรณีที่จะพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานความร้อน เชื้อเพลิง RDF ขนาด 9.5 เมกะวัตต์ ของบริษัท มิทท คอร์ปอเรชั่นฯ โดยรายละเอียดของโครงการ อยู่ในพื้นที่ 11 ไร่ 2 งาน เป็นเนื้อที่ตั้งโรงงาน 18,400 ตารางเมตร งบประมาณลงทุน ประมาณ 1,010,800,000 บาท
กระบวนการที่เกิดขึ้นทำให้ เครือข่ายชาวบ้านตำบลหนองไข่น้ำ จึงส่งหนังสือถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อขอคัดค้านและขอให้ทบทวนการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร (อ.1) เพื่อประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF ดังกล่าว โดยมองว่า การอนุมัติโครงการฯ ที่ตั้งโครงการฯ อาจขัดต่อหลักกฎหมาย , การดำเนินการขาดการมีส่วนร่วม , โรงไฟฟ้าขยะ ทำให้ชุมชนเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่