พบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ โควิด-19 ระลอกใหม่ 36 คนเสียชีวิตคนแรกวันนี้

“รองอธิบดีกรมการแพทย์” เผยหมอปัญญาใกล้ชิดผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 รวม 3 รายโดยไม่รู้ตัว ชี้เป็นบทเรียนให้แพทย์ที่ทำงานทั้งในคลินิกและโรงพยาบาลต้องตั้งการ์ดระวังตัวเองมากขึ้น​ ด้าน​ “ผอ. กองระบาดวิทยา” วอนประชาชนไม่ปกปิดประวัติเสี่ยง​

17​ ก.พ.​ 2564​ ที่กระทรวง​สาธารณสุข​ นพ.ณัฐพงษ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า​ กรณี นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์​วัย 66 ปีเสียชีวิต จากการติดโควิด-19​ จากคนไข้​ และนับเป็นบุคลากรทางการแพทย์คนแรกของไทยที่เสียชีวิต​จากโควิด-19​ นั้น สืบเนื่องมาจากการมีโรคประจำตัวคือเป็นมะเร็ง​ และมีน้ำตาลในเลือดสูง​ ถุงลมโป่งพอง​ ซึ่งเป็นอาการที่รักษาตัวมาโดยตลอด​ และหลังเกษียณอายุราชการจากโรงพยาบาล​แล้ว​ มาเปิดคลินิกอยู่ในเมืองมหาสารคามเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19​ เข้าไปตรวจเป็นรายแรก​ จากนั้นวันที่ 14 และวันที่ 25 อีกรายรวมสัมผัสกับผู้ป่วย โควิด-19 ในจังหวัดมหาสารคามจำนวน 3 ราย​ ที่เข้าไปรับการรักษาโดยไม่ทราบว่าติดเชื้อโควิด-19​

ภายหลังทราบว่ามีผู้ติดเชื้อเข้าไปรักษาในคลินิก นพ.ปัญญา​ ได้เข้ารับการตรวจเชื้อเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา แต่ไม่พบเชื้อ พบเพียงเริ่มมีอาการไข้ จากนั้นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เข้ารับการตรวจอีกครั้ง พบติดเชื้อ โควิด-19 แต่ผลเอกซเรย์ปอดยังไม่อักเสบ แพทย์โรงพยาบาลมหาสารคามได้ให้ยาฆ่าเชื้อไวรัส แต่ยังคงมีอาการไข้​ จากนั้นวันที่ 3 กุมภาพันธ์เริ่มมีอาการปอดอักเสบ​ ตับและไตอักเสบตาม เริ่มมีอาการไตวาย​ วันที่ 7 กุมภาพันธ์หายใจเหนื่อยหอบและต้องส่งไปรักษาต่อ​ ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของคณะแพทยศาสตร์​ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีอาการเข้าขั้นวิกฤต​ ปอด​ ไต​ ตับ​ ทำงานแย่ลง​ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ตรวจพบการติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อรา​ ปอดทำงานหนักมากขึ้น​ หัวใจเต้นผิดจังหวะ​ และล้มเหลว​ กระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 18 กุมภาพันธ์แพทย์วินิจฉัยว่าเสียชีวิต​จากโรคติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการแทรกซ้อน

“ได้รับการเปิดเผยจากภรรยาผู้เสียชีวิตว่าตามปกติแล้วนายแพทย์ปัญญาจะใส่แมสและใส่เฟสชิวอีกชั้นหนึ่งในช่วงวินิจฉัยโรค​ ให้กับผู้ป่วยมาโดยตลอด​ แต่เนื่องจากคุณหมอได้ทุ่มเท ในการตรวจวินิจฉัยทั้ง​ 3​ ราย​ โดยใช้เวลานาน ทั้งให้อ้าปากเพื่อดูการเคลื่อนไหวในลำคอ​ ฟังเสียงปอด ซึ่งอาจมีละอองฝอยผู้ติดเชื้อลงมาสัมผัสเข้าร่องของหน้ากากทำให้คุณหมอติดเชื้อ”

รองอธิบดี​กรมการแพทย์​ กล่าวอีกว่า​ จากกรณีนี้​ เป็นบทเรียนให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นโดยเฉพาะการใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกัน ทั้งเวลาอยู่ในคลินิกและโรงพยาบาล​ ต้องมีการปรับปรุงระบบระบายอากาศ​ และมีความจำเป็นต้องเว้นระยะห่างกับคนไข้

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค​ กล่าวว่านับแต่มีการระบาดรอบใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 จนถึงปัจจุบันมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 36 คนเสียชีวิต 1 คน​ โดยเน้นย้ำ ผู้ป่วยทุกคน ที่ไปพบแพทย์ ที่โรงพยาบาล​และคลินิก ขณะซักประวัติอาการป่วย ต้องแจ้งให้แพทย์พยาบาลทราบ หากตนเองเคยเข้าไปที่ชุมชน หรือสัมผัสผู้ป่วยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ช่วยลดการแพร่เชื้อโควิด-19 ไปให้บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19​ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น มะเร็งระหว่างรักษา เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงสูงต่ออาการป่วยรุนแรง หากได้รับเชื้อโควิด-19 ควรเลี่ยงเข้าไปที่ชุมนุม​สถานที่แออัด โดยสวมหน้ากากผ้า​ หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยครั้ง อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะพูดคุย/ใกล้ชิดผู้อื่น​

ส่วน จ.ปทุมธานี และจังหวัดข้างเคียง ยังพบผู้ติดเชื้อเชื่อมโยงจากตลาดสดอย่างต่อเนื่อง ยกระดับการตรวจคัดกรอง และมาตรการควบคุมโรคในชุมชน​ ขณะที่วัคซีนล็อตแรกจะมาถึงไทยในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้โดยจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ด่านหน้าเป็นกลุ่มแรก

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS