ไทยรับลูก UN เสนอทั่วโลกปฏิรูประบบอาหารมั่นคง หลังวิกฤตโควิด-19 เพิ่มคนขาดแคลนอาหาร 132 ล้านคน

ทั่วโลก พุ่งความสนใจมาที่การปฏิรูประบบอาหารที่มั่นคง และนี่เป็นครั้งแรกที่กลยุทธ์การสร้างระบบอาหารเกิดจากข้อเสนอของทุกภาคส่วน สร้างระบบอาหารที่มั่นคง ปลอดภัย และยั่งยืน

ภาวะอดอยากหลังโควิด-19 และโลกร้อนที่เกิดจากระบบผลิตอาหาร

ข้อมูลจาก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานสถานการณ์ตัวเลขคนอดอยากทั่วโลกหลังเผชิญโควิด-19 อยู่ที่ 820 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากในปี 2562 ถึง 132 ล้านคน มีประชากรโลกมากกว่า 3 พันล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ ประชากรโลกมากกว่า 2 พันล้านคน กำลังประสบปัญหาโภชนาการจากการบริโภค เช่น บริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม เป็นโรคอ้วน น้ำหนักเกินกระทบต่อสุุขภาพ และยังส่งผลต่อรายจ่ายด้านงบประมาณสาธารณสุขของประเทศ

นี่ยังไม่นับรวมปัญหาขยะอาหารเหลือทิ้ง (food loss and waste) ซึ่งพบว่ามีถึง 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ในโลก สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นเงินไทย คือ มากกว่า 27 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่า GDP ของไทยถึงเกือบ 2 เท่าตัว

ขณะเดียวกัน ระบบผลิตอาหารที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังสามารถผลิตก๊าซเรือนกระจก สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้น โดยพบว่า 1 ใน 4 ของก๊าซเรือนกระจกมาจากระบบการผลิตอาหารและภาคการเกษตร กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ทรัพยากร ธรรมชาติเสื่อมโทรม จึงมีความจำเป็นที่โลกจะต้องร่วมกันสร้างระบบอาหารที่เข้มแข็ง และยืดหยุ่น

UN เสนอทั่วโลกปฏิรูประบบอาหาร

นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตร์เรส ประกาศเดินหน้าปฏิรูปสร้างระบบอาหารโลกที่มั่นคง เพื่อปิดจุดอ่อน ความเปราะบาง และความเหลื่อมล้ำในระบบการผลิตอาหาร ผ่านการพูดคุยสาธารณะเกี่ยวกับการจัดการระบบอาหารด้วยวิธีการรวบรวมข้อเสนอจากผู้ที่มีบทบาท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำกรณีศึกษา คำแนะนำ และความคิดเห็นมาพัฒนาแผนงานให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573

กรอบการดำเนินงาน 5 ด้านของ UN ประกอบด้วย

  1. Ensure Access to Safe and Nutritious Foods for All การเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ
  2. Shifting to sustainable consumption patterns การปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อความยั่งยืน
  3. Boosting nature-positive production at sufficient scales การส่งเสริมระบบการผลิตที่เพียงพอและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  4. Advancing equitable livelihoods การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่เสมอภาคและการกระจายความเท่าเทียม
  5. Building resilience to vulnerabilities, shocks, and stress การสร้างความยืดหยุ่นปรับตัวได้ในทุกวิกฤตเพื่อลดผลกระทบในด้านต่างๆ

ประเทศไทยในฐานะ ประเทศหนึ่งที่เป็นผู้ผลิต และส่งออกอาหารโลก และเป็นประเทศเกษตรกรรมทั้งยังมีตัวอย่างความสำเร็จในการดำเนินการความมั่นคงทางอาหาร ได้ตอบรับการเข้าร่วม UNFSS:United Nations Food Systems Summit 2021

โดยแต่งตั้งให้ ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เป็นผู้ประสานงานหลักของประเทศไทย (National Dialogue Convenor) ระบุว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมขับเคลื่อนกรอบนโยบาย “3S” คือ “Safety” ความปลอดภัยของอาหาร “Security” ความมั่นคง มั่งคั่ง ของภาคเกษตรและอาหาร และ “Sustainability” ความยั่งยืนของภาคการเกษตร

นอกจากนี้ไทยยังได้จัดทำข้อมูลปฎิทินผลผลิตสินค้าเกษตรระดับจังหวัด และจัดทำระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการเกษตร (Agricultural Big Data) เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนระบบอาหารในระยะยาว รวมถึงการยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SEP for SDGs) มาใช้เป็นแนวทางการสร้างความมั่นคงทางอาหารตามกรอบการทำงานระดับโลก โดยจะเริ่มต้นจากการประชุมระดับประเทศ นานาชาติ ไปจนถึงการแถลงแนวทางจัดการระบบอาหารในระดับโลกช่วงกลางปีนี้

1) กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2564 ไทยเตรียมจัดประชุมหารือระดับประเทศ (Nation Diaologues for UN Food System Summit) ในระดับภูมิภาคทั้ง 4 ภาคของประเทศไทยโดยจะเชิญตัวแทนจากราชการ ภาคเอกชน สถาบันการเกษตร ประชาสังคม สถาบันการศึกษา และทุกภาคส่วนบูรณาการขับเคลื่อนสู่ระบบอาหารและการเกษตร โดยผลจากการหารือระดับประเทศ จะถูกนำเสนอต่อที่ประชุมสหประชาชาติ และเป็นแนวทางขับเคลื่อนภายในประเทศต่อไป เพื่อทำให้ประเทศไทยมี ระบบอาหารเกษตรที่ยั่งยืน สร้างสมดุลใหม่ที่เหมาะสมให้กับประเทศ

2) กรกฎาคม 2564 เตรียมจัดประชุมร่วมระดับรัฐมนตรี ณ สำนักงานใหญ่ FAO กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี

3) กันยายน 2564 นายกรัฐมนตรีไทยร่วมแถลงแผน และแนวทางการจัดการระบบอาหารประเทศไทย ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำ ณ นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

เวลานี้ไทย และประเทศสมาชิก กำลังอยู่ในช่วงการเตรียมข้อมูล กรณีศึกษา เพื่อนำกลับมาทบทวนนโยบายด้านอาหาร ก่อนแลกเปลี่ยนกันระหว่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนสู่ ระบบอาหารที่ยั่งยืน สร้างสมดุลใหม่ให้กับโลก โดยแต่ละประเทศจำเป็นต้องจัดทำแผน เร่งดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายโดยมีแผนงานในกรอบเวลา 3 ปี 5 ปี และ 10 ปี ที่ชัดเจน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี 2573

โดยคาดหวังจะให้ทุกประเทศรวมถึงไทย มีระบบอาหารที่ยั่งยืน ปรับตัวได้ทุกสภาวะวิกฤต
มีอาหารที่พอเพียง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเข้าถึงทุกคนได้อย่างเท่าเทียม


Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน