เปิดเนื้อหา ให้ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 200 คน จัดทำร่างฯ ไม่แก้หมวด 1 และ 2 ใช้เสียง 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา
จับตา ประชุมร่วมรัฐสภา 24-25 ก.พ. นี้ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าววานนี้ (22 ก.พ.) ว่า ในวันแรกของการประชุมจะมีการนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. … ซึ่งค้างจากการประชุมครั้งก่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง
หลังจากนั้นจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สอง ตลอดทั้ง 2 วัน โดยไม่มีการกำหนดกรอบเวลาในการอภิปราย สามารถประชุมได้จนกว่าการอภิปรายจะแล้วเสร็จทั้งหมด เพื่อให้สามารถเปิดประชุมสมัยวิสามัญพิจารณาในวาระ 3 ได้ ซึ่งการเปิดประชุมสมัยวิสามัญจะเป็นวันใด ขึ้นกับฝ่ายบริหารเป็นผู้พิจารณา หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขผ่านตามกำหนด จะมีการแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า ซึ่งตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจะต้องเว้นจากวาระสอง 15 วัน ถึงจะพิจารณาวาระสามได้
ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ยังไม่มีผลต่อการประชุมรัฐสภาที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเพียงแค่รับญัตติไว้พิจารณา และยังไม่มีคำวินิจฉัยใดๆ
เปิดเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ใช้เสียง 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีทั้งหมด 5 มาตรา สาระสำคัญคือ มาตรา 3 บัญญัติว่า ให้ยกเลิกความในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องกระทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการ โดยสรุปดังนี้
ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจาก 1. คณะรัฐมนตรี 2. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร 3. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และ 4. ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา โดยการออกเสียงในวาระที่สองนี้ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย
ส่วนการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
เปิดให้สมาชิกรัฐสภา 1 ใน 10 ยื่นขอวินิจฉัย ก่อนลงพระปรมาภิไธย
ในกรณีแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนดำเนินการต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภาว่าร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 255 หรือกระบวนการตราขึ้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้
ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้ง ห้ามแก้หมวด 1 และ หมวด 2
เพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้มีสมาชิสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นผู้จัดทำร่าง การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดย กกต. ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่มีเหตุแห่งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ส.ส.ร. ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันนับแต่วันที่มีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก ซึ่งต้องจัดให้มีขึ้นไม่ช้ากว่า 30 วันนับแต่วันที่มี ส.ส.ร. จำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของจำนวน ส.ส.ร. ทั้งหมด แล้วให้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกส่วนที่เหลือโดยเร็ว
ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ ส.ส.ร.จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป และประชาชนในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง โดยให้ ส.ส.ร. คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีการเผยแพร่เนื้อหาสาระและความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญผ่านสื่อมวลชนและเวทีแสดงความคิดเห็นต่างๆ
แต่การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกระทำมิได้
ให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติ แต่ไม่กำหนดระยะเวลาดำเนินการ
เมื่อ ส.ส.ร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว รัฐสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีการลงมติ หลังจากนั้นให้ กกต.จัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการ
เมื่อการออกเสียงประชามติเสร็จสิ้นแล้ว ให้ กกต. ประกาศผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันออกเสียงประชามติ หากคะแนนการออกเสียงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ดำเนินการต่อไป แต่หากคะแนนการออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือผู้มีสิทธิออกเสียงมาออกเสียงลงคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป