ทวงสัญญาหาเสียงพรรคพลังประชารัฐ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี ยกเว้นภาษีเด็กจบใหม่-แม่ค้าออนไลน์ ตั้งรัฐบาลเกือบ 2 ปี ยังไม่คืบหน้า หลังโควิด-19 กระทบหนัก
วันนี้ (25 ก.พ. 2564) ที่ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล มีเครือข่ายภาคประชาชนที่เรียกตัวเองว่า เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน รวมตัวเพื่อตรวจสอบและทวงถามนโยบายพรรคพลังประชารัฐ พร้อมติดแฮชแท็ก #รวมพลคนไม่มีจะกิน ออกแถลงการณ์ถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องค่าครองชีพ เพิ่มสวัสดิการเพื่อปากท้องประชาชน 5 ข้อเรียกร้อง เช่น ค่าเเรงขั้นต่ำ, ลดค่าเทอม, ค่าขนส่งสาธารณะครึ่งราคา, ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 7% เป็น 5%, เพิ่มเบี้ยคนชราเเละเบี้ยคนพิการ ฯลฯ
พวกเขาระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และเป็นอีกครั้งที่พวกเขารวมตัวที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อตรวจสอบนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่เคยเสนอ คือ
1) ดันค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท
2) ปริญญาตรี เงินเดือน 20,000 บาท อาชีวะ 18,000 บาท
3) เด็กจบใหม่ ยกเว้นภาษี 5 ปี
4) ยกเว้นภาษี พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 2 ปี
5) ลดภาษี 10% บุคคลธรรมดา ฯลฯ
ซึ่งพบว่า หลายนโยบายยังไม่ได้รับการตอบสนอง ปัจจุบันค่าแรงยังอยู่ที่ 300 บาท โดยเครือข่ายตั้งข้อสังเกตถึงการเอื้อประโยชน์นายทุนผูกขาด พร้อมระบุรัฐควรทำให้ได้เพื่อจัดสรรภาษีมาดูแลประชาชนอย่างครอบคลุม
โดยระหว่างการเจรจา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประกาศแจ้งทราบข้อกฎหมาย ให้ประชาชนระมัดระวังสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ว่ามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ตัวแทนเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นข้อเสนอ จัดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจำนวน 9 ด้าน ต่อกระทรวงแรงงานไปแล้ว และบางข้อเสนอกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา ประกอบด้วย
1) เงินอุดหนุนเด็กและเยาวชนถ้วนหน้า
2) การศึกษาฟรี จนถึงปริญญาตรี
3) พัฒนาระบบสุขภาพ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เท่าเทียม
4) สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยและที่ดิน และการเข้าถึงสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 การปฏิรูปที่ดิน ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า การจัดการที่ดินในรูแบบโฉนดชุมชน
5) หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐาน งาน รายได้ ปรับค่าแรงตามอายุการทำงาน ลาคลอด 180 วัน ประกันการว่างงานที่เงินเพิ่มขึ้น
6) พัฒนาระบบประกันสังคม ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ
7) กฎหมายบำนาญ เปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้า
8) สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม คนพิการ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ เข้าถึงหลักประกันสุขภาพและประกันรายได้
9) การปฏิรูประบบภาษี ภาษีอัตราก้าวหน้า จัดสรรงบประมาณแผ่นดิน การลดสิทธิประโยชน์ BOI การเก็บภาษีตลาดหุ้น เก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ตัดงบกระทรวงกลาโหม
เก็บภาษีความมั่งคั่ง จะได้เงินเกือบ 2 แสนล้าน ภาษีทั้งหมดจะได้ 1 ล้านล้านบาท