ระบุ ข้าราชการ-อำนาจการเมือง ทำ MOU ไร้ผล อุทยานฯ ต้อนชาวบ้านลงจากใจแผ่นดิน ด้านที่ปรึกษาพีมูฟ เผยพื้นที่แก่งกระจานเดิมพันสูง ทั้ง รัฐ-ชาวบ้าน ยากจะถอยคนละก้าว
ภาพเหตุการณ์ “ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะตัวแทน “พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาของกลุ่มพีมูฟ ออกมาเจรจากับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2564 และมีการยกหูโทรศัพท์ถึง “วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเจรจา ”ถอยคนละก้าว” พร้อมตั้งวงเจรจา และลงนามในบันทึกข้อตกลง หรือ MOU มีการลงนามของทั้งสองรัฐมนตรี รวมทั้งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นั้น
MOU ดังกล่าว ระบุข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ทั้งถอนกำลัง หยุดกีดขวางทางขึ้นเสบียง และหยุดดำเนินคดีชุมนุมหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ แต่ 2 วัน หลังมีการเซ็น MOU เจ้าหน้าที่ชุดพญาเสือ ก็สนธิกำลังนำเฮลิคอปเตอร์เข้าไปรับชาวบ้านลงมา แม้จะเป็นการกระทำการอย่างละมุนละม่อมโดยเจ้าหน้าที่ผู้หญิง แต่ยังพบการติดอาวุธขึ้นไปด้วย เหล่านี้ คือ คำถามสำคัญว่าเหตุใด MOU ที่เคยที่ลงนามโดย 2 รัฐมนตรีไปก่อนหน้านี้ ไม่ถูกนำไปปฏิบัติ
- อ่านเพิ่ม ‘ธรรมนัส’ ต่อสายตรง ‘วราวุธ’ ถอนกำลังออกจากใจแผ่นดิน วันนี้
- อ่านเพิ่ม ‘วราวุธ’ ยอมถอย เซ็นเอ็มโอยู แก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย
รศ.ธนพร ศรียากูล อดีตประธานคณะทำงานเฉพาะกิจขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในรายการ Active Talk เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 โดยตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนจะเซ็น MOU มีการพูดคุยไม่ใช่แบบส่วนตัว และเนื้อหาในร่าง MOU มีการตรวจสอบ ด้วยความรอบคอบทั้งจากฝ่ายรัฐและฝ่ายชาวบ้านก่อนที่จะให้รัฐมนตรีลงนาม นั่นหมายความว่าผู้มีอำนาจยืนยันแล้วว่าสามารถปฏิบัติตาม MOU ได้
ครั้งนี้มีความต่างไปจากครั้งอื่น จากเดิมลงนามแค่ฝ่ายนโยบายซึ่งไม่เพียงพอ ประสบการณ์ของชาวบ้านพบว่าต้องให้หัวหน้าส่วนราชการลงนามด้วย ถึงจะเกิดผลในเชิงปฏิบัติ นอกจาก 3 ข้อเรียกร้องแล้ว ยังมี 4 ข้อเสนอหลัก คือ การศึกษาแนวทางการกลับขึ้นไป “ทำไร่หมุนเวียน” บนบ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน
“อีกข้อสังเกตที่เจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตาม MOU เพราะเป็นการตอบโต้จากฝ่ายข้าราชการ ที่ไม่เห็นด้วยและไม่คุ้นชิน แต่ในเมื่อรัฐมนตรีเมื่อเซ็น MOU ไปแล้วก็ถือเป็นนโยบายของรัฐ ที่ข้าราชการต้องปฏิบัติตาม”
ด้าน “พฤ โอ่โดเชา” ชาวกะเหรี่ยง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงการปล่อยข่าวสาร เผยแพร่ภาพที่ถูกเรียกว่าเป็นการบุกรุกแผ้วถางป่า ซึ่งความจริงแล้วบริเวณนั้นเป็น “ซากไร่” ที่เคยเป็นไร่หมุนเวียนมาก่อน เรามีการเตรียมแปลงเพื่อปลูกข้าว ตามวิถีดั้งเดิมไม่ใช่การบุกรุกป่าใหม่
เขาบอกอีกว่าความเข้าใจผิดของคนไทยชอบบอกว่าเป็นการ “ทำไร่เลื่อนลอย” และมีการให้ข้อมูลทำนองว่า ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยต้องการพื้นที่ถึง 120 ไร่ต่อครอบครัว ในการปลูกข้าว ซึ่งไม่เป็นความจริง ข้อเท็จจริง คือ ความต้องการพื้นที่ในการปลูกข้าวจะขึ้นอยู่กับความต้องการบริโภคข้าวในแต่ละครอบครัว
“เจ้าหน้าที่ถามชาวบ้านว่าต้องการใช้ที่ปลูกข้าวกี่ไร่ ชาวบ้านบอก 4-5 ไร่ เจ้าหน้าที่ก็ฟังเป็น 15 ไร่ ด้วยฟังสำเนียงของชาวกะเหรี่ยง แล้วเพี้ยนไปทำให้ข้อมูลล่าสุดที่ออกมาผ่านการแถลงข่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่บอกว่าชาวกะเหรี่ยงบางกลอยขอพื้นที่ถึง 5,400 ไร่นั้น จึงเป็นข้อมูลที่คำนวณผิดไปจากความจริงที่เหมารวมไปหมด แต่ที่จริงใช้ 4-5 ไร่ต่อรอบการผลิตเท่านั้น แต่หมุนเวียนไปในพื้นที่ 120 ไร่ ดังกล่าว”
“ประยงค์ ดอกลําใย” ที่ปรึกษากลุ่มพีมูฟ บอกว่าอีกข้อมูลหนึ่งที่ผิดพลาดมาจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ คือ ระบุว่ามีชาวบ้านแค่ 6% ที่ไม่พอใจต่อการจัดสรรที่ดินของรัฐ แต่ความจริงหลังการอพยพโยกย้ายชาวกะเหรี่ยงบางกลอยและใจแผ่นดิน ลงมาตั้งแต่ปี 2539 มีการจัดสรรคที่ดิน 600 ไร่โดยไม่มีแผนที่และพิกัดที่ชัดเจน
“ตัวเลข 5,400 ไร่ เห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่นำเอา 15 ไร่ คูณ 10 แปลง คูณ 36 ครอบครัวสะท้อนความไม่มีองค์ความรู้ความเข้าใจเรื่องการทำไร่หมุนเวียน การแถลงข่าวของรัฐมนตรีด้วยข้อมูลแบบนี้ คิดได้ 2 อย่าง คือ ไม่รู้จริง ๆ หรือไม่ก็ข้าราชการวางยา”
เขายังบอกอีกว่าที่ผ่านมา ชาวบ้านบางกลอยเคยยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เมื่อปี 2563 ถึง 6 ครั้ง ครั้งแรกเดือนมกราคม โดยลงมารับด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นการที่ออกมาแถลงข่าวในลักษณะแบบนี้ ทำให้ตนรู้สึกผิดหวังและเป็นห่วงว่าการแถลงข่าวที่มีข้อมูลไม่รอบด้านจะทำให้ปัญหาบางกลอยไม่ถูกแก้ไขและหาจุดสมดุลไม่ได้
ขณะที่ “พงศ์เมธ ล่องเซ่ง” ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส เล่าบรรยากาศการเจรจาระหว่างชาวบ้าน กับคณะของผู้ตรวจราชการ จงคล้าย วรพงศธร ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยของให้วงเจรจามีเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มชาวบ้านเท่านั้น โดยขอให้กลุ่มภาคประชาสังคม (NGO) กลับออกไปจากพื้นที่
“เมื่อชาวบ้านเริ่มอธิบายถึงประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านใจแผ่นดิน ว่ามีก็มีการตั้งถิ่นฐานอายุนับร้อยปี รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ถามชาวบ้านว่า คนที่อธิบายเรื่องนี้อายุเท่าไร ชาวบ้านตอบว่าอายุไม่เกิน 40 ปี แต่เรื่องนี้มีมานานแล้ว เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าข้าราชการระดับสูงในกรมอุทยานฯ มีมายาคติกับคนกะเหรี่ยงอย่างมาก”
รศ.ธนพร มองว่าการแก้ปัญหาชาวกะเหรี่ยงบางกลอยในช่วงเวลานี้ เป็นเกมอำนาจการเมืองเห็นได้จากที่ชาวบ้านเข้ามาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลแล้ว “ร้อยเอก ธรรมนัส” ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในขณะนั้น ลงมารับหนังสือจากชาวบ้าน ด้านหนึ่งถูกมองว่าเป็นการทำหน้าที่ตามปกติหลังได้รับมอบหมายจาก “พลเอก ประวิตร” แต่ถ้าหากมองมุมการเมืองในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เขต 3 พรรคพลังประชารัฐชนะเลือกตั้งยกจังหวัด ขณะที่ สุชาติ อุสาหะ ส.ส.จังหวัดเพชรบุรี เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ มีจุดยืนพูดชัดเจนหลายเวทีเข้าข้างชาวบ้านบางกลอย ทั้งหมดจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งตัวข้าราชการและโครงสร้างทางการเมือง จึงทำให้ MOU ไม่ถูกนำไปปฏิบัติจริง
รศ.ธนพร ระบุอีกว่า อย่างไรก็ตามมีข้อมูล งานวิจัยเยอะมากเกี่ยวกับแนวทางการจัดการปัญหากะเหรี่ยงบางกลอย บนผืนป่าแก่งกระจาน อีกทั้งในมุมมองของกฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 64 ให้สำรวจพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่ในเขตอุทยานภายใน 240 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อออก พ.ร.ก. ให้ชาวบ้านได้อยู่อย่างถูกกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไม่ได้ขึ้นไปสำรวจ ถึงบ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน โดยอ้างว่ามีการอพยพ ลงมาแล้วครั้งสุดท้ายปี 2554 กรณีนี้เครือข่ายภาคประชาชนได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้มีการสำรวจเพิ่มเติม ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งเห็นชอบให้มีการสำรวจ แต่กรมอุทยานฯ ก็ไม่ทำตามคำสั่งดังกล่าว
ด้าน ประยงค์ ระบุว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีเดิมพันที่สูงมากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายอุทยานฯ มองว่า สามารถอพยพชาวบ้านลงมาสำเร็จแล้วจะไม่ยอมให้ขึ้นไปอย่างแน่นอน คำตอบของผู้ตรวจจงคล้ายฯ มีเพียงแต่บอกว่าจะพัฒนาหมู่บ้านบางกลอยล่าง แต่ไม่พูดถึงแนวทางที่จะให้ชาวบ้านกลับขึ้นไปที่ใจแผ่นดิน ขณะที่ฝ่ายชาวบ้านบอกว่า 10 ปีที่อพยพลงมาอยู่ในหมู่บ้านบางกลอยล่าง ไม่มีกิน ทุกคนต้องเป็นหนี้ร้านค้าและสิ่งของที่ขอติดหนี้ไว้ก่อน ก็คือข้าวสารซึ่งเคยปลูกเองได้ในวิถีกะเหรี่ยง บางคนเป็นหนี้หลักหมื่นกับร้านค้า
“ตลอดการต่อสู้ระหว่างรัฐกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยมีหลายบาดแผล ชาวบ้านมักตั้งคำถามว่า ถ้าบ้านของตนถูกเผา ลูกหลานที่เคยต่อสู้ถูกอุ้มฆ่าแล้วไม่พอ ยังถูกไล่ให้ออกไปอยู่ในที่ที่ไม่ใช่ถิ่นฐานบ้านเกิด เหล่านี้กลายเป็นบาดแผลที่ฝังลึก”
ประยงค์ ระบุตอนท้าย หลังชาวบ้านอพยพมาบางกลอยล่าง มี “โครงการปิดทองหลังพระ” เข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้าน ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 500 ล้านบาท แต่ไม่สำเร็จ ชาวบ้านไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งหมดนี้มากพอที่จะตอบคำถามว่าความล้มเหลวที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร และควรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร