ผู้ประกอบการเครื่องดื่มรายย่อย ยื่นหมื่นรายชื่อถึงสภา ขอแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ระบุ มีประชาชนได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ หลังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเครื่องดื่ม สมาคมฯ ชี้ ควรเป็นสิ่งที่ทำได้ตามสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยคราฟต์เบียร์ไทย ในนาม สมาคมคราฟต์ เพจสุราไทย และประชาชนเบียร์ ได้นำรายชื่อจำนวน 11,169 รายชื่อ เสนอสภาเพื่อขอแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งรายชื่อทั้งหมด ใช้เวลารวมรวมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม ตลอด 4 เดือน ได้มีการนำเสนอข้อมูลแก่ประชาชน และรวบรวมรายชื่อจนได้ครบตามจำนวนที่ต้องการจึงนำรายชื่อทั้งหมดให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และวันที่ 17 มี.ค. จะมีการมอบเอกสารรับเรื่องจากรัฐสภาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

พวกเขาระบุเหตุผลว่า เนื่องจากกฎหมายตัวนี้มีผลทำให้ผู้ผลิตรายย่อย ลำบากในการสื่อสารข้อมูลไปยังผู้บริโภคว่าในเบียร์คราฟต์แต่ละชนิดมีส่วนประกอบของอะไรบ้าง เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคระมัดระวังตนเองเรื่องการแพ้ส่วนประกอบบางอย่าง เพราะบางข้อมูลเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคควรต้องทราบ เช่น การใส่ส่วนผสมพิเศษบางชนิดลงไป เช่น ถั่ว พืช หรือผลไม้บางชนิด เพื่อประกอบตัดสินใจ ในมุมของผู้บริโภคเองกฎหมายนี้ยังเป็นการห้ามประชาชนแสดงความคิดเห็น พูดถึงสิ่งที่ตนเองชอบ ซึ่งจริง ๆ แล้วควรเป็นไปได้ตามสิทธิเสรีภาพของตนเองได้

แอดมินเพจประชาชนเบียร์ ให้ข้อมูลว่าก่อนหน้านี้เคยมีกรณี หญิงสาวที่โพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่ง พร้อมบอกความรู้สึก ความชอบของตนเองที่มีต่อเครื่องดื่มในเฟซบุ๊กส่วนตัว และมีคนแจ้งไปทางหน่วยงาน จากนั้น สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอกลอฮอล์ จึงมีหมายเรียกไปสอบสวนความผิดตามมาตรา 32 โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจปรับ 1 ใน 3 เป็นจำนวนเงิน 17,000 บาท จากค่าปรับสูงสุด 50,000 บาท

อีกมุมหนึ่งยังส่งผลให้ผู้ผลิตรายย่อยไม่สามารถแข่งขัน ค้าขาย ได้อย่างเป็นธรรม ทำให้ผู้ประกอบการเบียร์รายย่อยที่ผลิตขึ้นมา ไม่มีช่องทางในการสื่อสารไปยังผู้บริโภคได้ การทำให้ประชาชนรับรู้แบรนด์ใหม่ ๆ จึงเป็นไปได้ยาก เพราะกฎหมายตัวนี้กีดขวางอยู่ และที่สำคัญคำว่าการห้ามโฆษณายังกินความหมายกว้าง ซึ่งให้อำนาจดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ค่อนข้างมาก การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการตัดสิน และมีระบบที่เรียกว่า สินบนนำจับ โดยเงินค่าปรับจะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ คนแจ้งซึ่งสามารถเป็นใครก็ได้ ส่วนที่แบ่งเข้ารัฐ นอกจากนี้ยังมีส่วนที่แบ่งให้เจ้าหน้าที่ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรายย่อย มองว่าแม้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ฉบับนี้ จะให้เหตุผลว่าเป็นการป้องกันการเข้าถึงของนักดื่มหน้าใหม่ แต่จริง ๆ แล้ว ก็มีกฎหมายห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีอยู่แล้ว แต่ไม่บังคับใช้จริงจัง กลับเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายตัวนี้แทน ซึ่งเป็นการให้อำนาจจับ ปรับ กับประชาชนได้ตามดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่

โดยหลังจากนี้ จะมีการตรวจสอบรายชื่อทั้งหมดกับกระทรวงมหาดไทย ว่าชื่อที่ส่งไปครบตามจำนวนและตรงตามสิทธิ์หรือไม่ และจะมีการพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร มาถกเถียงกันเรื่องการแก้ไข โดยเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นมีฝ่่ายที่เสนอแก้กฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค สสส. ร่วมพูดคุย ตกผลึกแล้วทำประชาพิจารณ์ ตามมาตรา 77 ก่อนเข้าสภาในลำดับต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ