รับข้อเสนอ “ตัวแทนนักเรียน-นักการศึกษา” เยียวยาเด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยยุคโควิด
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2564 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ตอบคำถามที่มีนักเรียนบางส่วนเรียกร้องให้มีการเลื่อนสอบ TCAS ใน ActiveTalk “รีสตาร์ทกระทรวงศึกษา ไปให้ไกลกว่าโควต้าการเมือง” ที่ถ่ายทอดสดทาง Facebook และ YouTube “The Active” ว่าจะนำข้อเสนอไปหารือกับส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องเร่งด่วน
คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ไม่สามารถตัดสินใจได้ทันที เนื่องจากตนเป็นรัฐมนตรีรักษาการ แต่จะนำข้อเสนอ “เลื่อนสอบ” ไปปรึกษากับหน่วยงานภายในกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. และองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะเริ่มต่อสายตรงหลังจบรายการทันที และคาดว่าในวันนี้ (5 มี.ค.) จะสามารถหารืออย่างเป็นทางการได้เบื้องต้น
“ต้องไปปรึกษากับหลายหน่วยงาน หลายฝ่าย โดยเอาผลประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง เราก็เคยเป็นเด็กมาก่อนและเป็นเด็กบ้านนอกก็เข้าใจดี ในปัญหาเฉพาะหน้านี้ก็น่าจะได้คุยถึงความเหมาะสมให้เด็กไม่เสียเวลาและไม่เสียประโยชน์ เข้าใจว่ามันไม่ง่ายสำหรับเด็กที่สอบต่อเนื่องก็จะเครียด จะเร่งหารือให้เร็วที่สุด แต่ยังไม่รู้จะคุยกับใครได้บ้าง”
เสียงสะท้อนนักเรียน “เลื่อนให้กันได้ไหม”
ย้อนไปเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2564 มีนักเรียนบางส่วน ออกมาเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ, สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. รับฟังปัญหานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผ่านแฮชแท็ก #เลื่อนให้กันได้มั้ย #เลื่อนสอบ #Dek64 บนทวิตเตอร์
ระบุ ปัญหาวันสอบ TCAS ตรงกับวันสำคัญอื่น ๆ และปัญหาความเหลื่อมล้ำในช่วงช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่จะมีการสอบ GAT-PAT ในวันที่ 20-23 มี.ค. 2564 (ตรงกับวันสอบปลายภาคของหลายโรงเรียน), สอบ O-NET วันที่ 27-28 มี.ค. 2564 (ตรงกับวันเกณฑ์ทหารรวมถึงเลือกตั้งท้องถิ่น), สอบ 9 วิชาสามัญ วันที่ 3-4 เม.ย. 2564 และ สอบวิชาเฉพาะของบางสาขา วันที่ 6-10 เม.ย. 2564
ล่าสุด ในรายการ ActiveTalk นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตัวแทนจากกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “นักเรียนเลว”ก็ได้เสนอ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ให้กระทรวงศึกษาธิการรับฟังปัญหา เพื่อพิจารณาเลื่อนสอบ TCAS ด้วย
ธญานี เจริญกูล กล่าวว่า สถานการณ์ COVID-19 ทำให้นักเรียนต้องเจอกับปัญหาเลื่อนเปิดภาคเรียน หลายกิจกรรมการเรียนรู้ก็ถูกเลื่อนทั้งหมด แต่กำหนดสอบยังเป็นกำหนดการเดิม ทั้งสอบปลายภาค และสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนี้พบว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีปัญหาเรื่องการเตรียมตัวทำความเข้าใจเนื้อหาต่าง ๆเกิดความเครียดเป็นอย่างมาก อีกทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดบางพื้นที่ยังอยู่ในสภาวะเสี่ยง หากมีการจัดสอบจะเป็นการรวมตัวนักเรียนจำนวนมาก
สอดคล้องกับ อันนา อันนานนท์ เห็นว่า ควรกลับไปดูนโยบายที่ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศธ. เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะไม่มีการสอบปลายภาค แต่หลายโรงเรียนยังจัดสอบเหมือนทุกปี และเพื่อไม่ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แบกรับผลกระทบเพียงลำพัง นอกจากพิจารณาเลื่อนสอบ กระทรวงศึกษาธิการควรออกนโยบายสนับสนุนการทบทวนความรู้ให้กับนักเรียนโดยไม่ต้องพึ่งพาโรงเรียนกวดวิชา
ด้าน สลิณา จินตวิจิต เสนอว่า การศึกษาไทยควรรับฟังผู้เรียนเป็นสำคัญ เนื่องจากตนไม่สามารถคิดแทนและออกเสียงแทนนักเรียนคนอื่น ๆ ได้ว่าควรเลื่อนสอบระยะเวลาเท่าไร จึงอยากให้มีระบบสอบถามนักเรียนที่ต้องสอบในปีนี้อย่างจริงจัง เพื่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สอดคล้องกับข้อเสนอ
“นักการศึกษา” เห็นพ้องเยียวยานักเรียนด้วย “เลื่อนสอบ” แนะหารือ ทปอ. สทศ.
ศ.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงผลกระทบด้านการเรียนรู้ในสถานการณ์ COVID-19 พบว่า ปีการศึกษา 2563 มีการเลื่อนเปิดเทอม และปิดโรงเรียนกว่า 90 วัน จากจำนวน 200 วันที่เปิดภาคเรียนทั้งหมด นักเรียนส่วนหนึ่งกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ที่หายไปกว่า 2 ปีการศึกษา ซึ่งยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องการเยียวยา หรือทำให้นักเรียนมีคุณภาพการศึกษาดีขึ้น
ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. ประเมินว่าควร “เลื่อนสอบ TCAS “ ประมาณหนึ่งเดือน โดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. ต้องมีส่วนช่วย เพราะที่ผ่านมามหาวิทยาลัยจะมองการบริหารจัดการองค์กรตนเองเป็นหลัก องค์กรอื่นต้องพยายามปรับตัวเข้าหาเขาตลอด แต่ปีนี้ไม่ใช่สภาวะปกติ พร้อมเสนอให้คุณหญิงกัลยา ลองประสานงานกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนบัณฑิตอาสาสมัครติวเตอร์ ที่ปกติจะส่งบัณฑิตลงชุมชนทุกปี
“ผมคิดว่าวันนี้เป็นวันที่ดีมาก ๆ ที่รัฐมนตรีได้ลงมาคุยกับเด็ก ๆ ถ้าถามผมให้หยุดเรียนตั้ง 90 วัน แล้วเพิ่งมีโอกาสเรียนจริง ๆ ประมาณหนึ่งเดือน เท่าที่ลงไปติดตามทำงานภาคสนามตลอด คิดว่าการสอบก็น่าจะเลื่อนไปอีกหนึ่งเดือน เพื่อทำให้เด็กมีโอกาสเพิ่มขึ้น หากเลื่อนนานไปสองเดือนอาจกระทบเชิงระบบ ถ้าเลื่อนหนึ่งเดือนทุกมหาวิทยาลัย ทุกสถาบันการศึกษา น่าจะสามารถจัดการตัวเองได้”
ด้าน ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนว่า ปีนี้กระทรวงศึกษาธิการต้องยอมรับว่า เป็นปีที่การศึกษาไทยประคองรอดมาจนจบเทอม แต่เป็นการประคองรอดที่คุณภาพการเรียนรู้ขลุกขลักเต็มที เด็กที่อยู่โรงเรียนเดิม ยังมีโอกาสพัฒนาต่อได้ในปีถัดไป แต่กลุ่มที่จะจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 ต้องเปลี่ยนช่วงชั้น เปลี่ยนสถานศึกษา เป็นเรื่องใหญ่ที่อยากให้ ศธ. เกาะติดสถานการณ์ว่าการเรียนรู้ที่ขาดตอนมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด กรอบเวลาจัดสอบ GAT/PAT, O-Net วิชาสามัญ และยื่นผลสอบ TCAS น่าจะยังพอหารือได้กับ ทปอ. และ สทศ. ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องจัดสอบ
“ตอนนี้ถ้าเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียน ม.3, ม.6 โรงเรียนพยายามจัดการเรียนการสอนทุกอย่างให้เสร็จภายใน 12 มี.ค. แล้วจะมีเวลาให้เด็กเตรียมตัวสอบระดับชาติประมาณสองสัปดาห์ จริง ๆ ต้องคำนึงว่าการเปิดเทอมปีนี้เลื่อนมาหนึ่งเดือน แต่กรอบเวลาในการสอบยังรับกับเวลาเดิม เหมือนเด็กเรียนจบภายในสองสัปดาห์ก็มีการสอบวิชาเหล่านี้กันแล้ว เด็ก ๆ จะไม่ได้หยุดจากการสอบเลยอย่างต่ำหนึ่งเดือน นี่คือเรื่องใหญ่มากที่เหมือนเพิ่งเปิดเรียนแค่สองสัปดาห์ จริง ๆ ปีนี้ เป็นปีที่ไม่ควรจะต้องสอบเลยด้วยซ้ำ”
ผศ.อรรถพล เพิ่มเติมว่า ปีการศึกษานี้เป็นปีที่เห็นได้ชัดว่า คุณภาพการเรียนรู้ของเด็กไทยมีความหลากหลายมาก แม้แต่เด็กที่มาจากโรงเรียนที่มีความพร้อมก็ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสเข้าถึงการเรียนออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรม ยิ่งเป็นนักเรียนอยู่ในพื้นที่ชายขอบของสังคม มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ยิ่งเข้าไม่ถึงเลย
ศธ. จัดติวเข้ม “ออนไลน์–ออนแอร์” ทบทวนวิชาการให้เด็กเตรียมสอบ
ทั้งนี้ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เน้นย้ำ ถึงการมองเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการเรียนรู้ของนักเรียน โดยได้เผยว่า กระทรวงศึกษาธิการรับทราบปัญหา โดยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ปลัดกระทรวงฯ และเจ้าหน้าที่ ได้หารือกันว่าจะ “จัดติวสอบออนไลน์ และออนแอร์” เพื่อทบทวนบทเรียนให้กับนักเรียนก่อนสอบปลายภาค และเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยได้ประสานความร่วมมือไปยังภาคเอกชนเรียบร้อยแล้ว