“วราวุธ” ชี้​ “บางกลอย” ไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชน

​พบชาวบ้านรุก​ เผาป่า​ หลังเซ็น​ MOU​ จึงเชิญกลับลงมา ไร้ความรุนแรง​ หากพบ จนท. ข่มขู่ขอภาพหลักฐานพร้อมแจ้งชื่อ​ ยันเดินหน้าเจรจา​ ตั้งเป้าจบปัญหาบางกลอยปีนี้​

เมื่อวันที่​ 9​ มี.ค.​ 2564​ ที่ทำเนียบ​รัฐบาล​ วราวุธ​ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​ ระบุว่า ชุมชนบางกลอย​ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน​ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่ส่งน้ำมายังเขื่อนศรีนครินทร์​ หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรภาคกลาง นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าความเดือดร้อนของประชาชนจะต้องได้รับการแก้ไขทั้งเรื่องที่ดิน​ และสาธารณูปโภค​ ขณะเดียวกันความสมบูรณ์ของผืนป่าก็ต้องอนุรักษ์ไปพร้อมกัน

วราวุธ​ บอกอีกว่า​ สื่อบางสื่อเสนอข่าวบิดเบือน ขอย้ำว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีการใช้กำลังระหว่างการเชิญตัวชาวบ้านลงมา​ ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวมีทั้งแพทย์ พยาบาล​ อัยการ​ ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วม

“และที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการกระชากแขน หากใครพบภาพ​ หรือรู้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่คนใดที่ใช้ความรุนแรง ขอให้ส่งข้อมูลมาเพื่อดำเนินการทางวินัย อย่างไรก็ตามแนวทางในการแก้ไขปัญหาคือเน้นการเจรจา​ และไม่ใช้ความรุนแรง”

ส่วนกรณีมีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งเตรียมเชิญเจ้าหน้าที่​ UN เดินทางไปในพื้นที่​ชุมชนบางกลอย​ วราวุธ​ บอกว่ายินดีต้อนรับเป็นอย่างยิ่งหากจะมีการเดินทางมา เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการเตรียมเสนอพื้นป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก​ มีการเชิญทูตกว่า 10 ประเทศที่มีสิทธิ์โหวตเข้ามาเยี่ยมชม รวมไปถึง​ IUCN ซึ่งเป็นหน่วยงานโดยตรง ของการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ทุกคนก็พอใจกับการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน

ส่วนการลงนามในบันทึกข้อตกลง ระหว่างตนกับพีมูฟ​ และชาวบ้าน ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ได้มีการถอยกำลังกลับไปแล้ว​ แต่ในช่วงเจรจาก็มีเงื่อนไขขอให้ชาวบ้านที่ขึ้นไปใจแผ่นดินกลับลงมา​ และหยุดรุกป่า​ เผาป่า แต่ก็ยังพบว่ามีการบุกรุกป่า​ เผาป่าเหมือนเดิมตามภาพที่ปรากฏออกมา ทั้งนี้ คำสั่งของศาลปกครอง ปี 2561 ระบุว่าบางกลอยบน​ -​ ใจแผ่นดินไม่ใช่พื้นที่ที่อนุญาตให้มีการเข้าใช้ประโยชน์ และขอยืนยันว่าต้องทำภายใต้กรอบของกฎหมาย

“มีความพยายามของคนบางกลุ่ม​ที่พยายามยกเรื่องสิทธิมนุษยชน​ แต่ท้ายที่สุดแล้วปัญหาบางกลอย​ ไม่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน​ ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นคน​ เป็นเรื่องของประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่พอใจกับการเยียวยาเรื่องที่ดินทำกิน​ ระบบน้ำ​ ประปา​ การทำเกษตร สิ่งนี้ทำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังยืนยันที่จะเจรจา หาวิธีนำน้ำเข้าไป​ คาดว่าภายในปี 2564 จะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้สำเร็จ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS