ชาวบ้าน 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เตรียมเดินเท้าไปทำเนียบฯ วอนรัฐเร่งแก้ปัญหานิเวศแม่น้ำโขง

ชาวบ้านวอนรัฐ แก้ปัญหาทั้งระบบ แผนพลังงาน สร้างระบบเตือนภัย เยียวยา และประสานเพื่อนบ้าน ร่วมคืนสมดุลให้ระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง

วันนี้ (11 มี.ค. 2564) เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วยจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี จัดกิจกรรมภายใต้ชื่อ “เดินเท้า เว้าแทนปลา” คืนชีวิตให้กับแม่น้ำโขง แสดงเจตนารมณ์เรียกร้องการแก้ไขปัญหา โดยรวมตัวหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศแม่น้ำโขง

ซึ่งเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขงฯ ระบุว่าสาเหตุสำคัญ มาจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงของจีนและลาว ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขงที่ยังไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ทั้งด้านอาชีพและประเพณีดั้งเดิม และนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ

สุดตา อินสำราญ ชาวบ้านบ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย กล่าวว่า การเดินทางมายื่นหนังสือครั้งนี้ไม่ใช่การชุมนุม แต่คือการเดินทางมายื่นหนังสือทวงคืนแม่น้ำโขงให้กับสิ่งมีชีวิตตามลำแม่น้ำโขง และต้องการสื่อสารให้ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ได้เข้าใจถึงสถานการณ์ในตอนนี้ แล้วเร่งหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที

“ตอนนี้สถานการณ์มันรุนแรง จนปลาตาย ถ้าไม่ออกมาเรียกร้องตอนนี้ สันดอน สันโคด ก็จะหายไปหมด ต่อไปอาจจะเหลือแค่โขดหินให้เห็น ทรัพยากรหายไปหมด ความอุดมสมบรูณ์ ความเขียวชอุ่มก็หายไปหมด”

อีกทั้งเปิดเผยว่า ตนเรียกร้องเช่นนี้มาเกือบ 7 ปีแล้ว แต่ไม่มีหน่วยงานใดไปลงพื้นที่และแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ตรงกันข้ามสถานการณ์ในปีนี้กลับรุนแรงขึ้นทวีคูณ

เนื้อหาสำคัญในหนังสือที่เตรียมยื่นถึงนายกรัฐมนตรี มีข้อเรียกร้อง 7 ข้อ

  1. ขอให้เร่งรัดกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการด้านทวิภาคีระหว่างไทยกับลาว ระหว่างหน่วยงานด้านพลังงานและหน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำงานเชิงบูรณาการความร่วมมือและความช่วยเหลือด้านการบริหารจัดการน้ำ และการแบ่งปันข้อมูล โดยจัดทำเป็นประเด็นหารือระดับผู้นำระหว่างผู้นำของไทยกับลาวให้เสร็จสิ้นภายในเดือน มี.ค. 2564 และขยายผลสู่การเจรจากับจีนโดยในการเจรจาจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางเพื่อประโยชน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติสูงสุดของประเทศและรักษาไว้ในคนรุ่นหลังต่อไป
  2. ให้รัฐบาลชะลอการรับซื้อไฟฟ้าหรือทำข้อผูกพันในการรับซื้อไฟฟ้าใด ๆ ที่มาจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงของประเทศลาวไปก่อน จนกว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับความต้องการไฟฟ้าของไทยและความจำเป็นเกี่ยวกับการซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง โดยในการจัดทำแผนการใช้และซื้อพลังงานไฟฟ้าไม่ควรพิจารณามิติความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณามิติผลกระทบต่อระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศโดยรวม และจะต้องมีกระบวนการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียและภาคประชาชนอย่างรอบคอบและกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาชุมชนริมโขงผู้ได้รับผลกระทบแล้วอย่างเร่งด่วน
  3. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ประเทศไทยมีอำนาจในการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการที่มีผลกระทบข้ามพรมแดนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของไทยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนำไปเจรจาต่อรองกับต่างประเทศอย่างมีประสิทธิผลต่อไป และในภาวะเร่งด่วนในปัจจุบันขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจทางบริหารสั่งการให้ สผ. จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ข้ามพรมแดนดังที่รัฐบาลเคยสั่งการให้ สผ. ศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนกรณีขอระเบิดแก่งแม่น้ำโขง
  4. ต้องมีการจัดการฐานข้อมูลและจัดทำระบบเตือนภัยการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำอย่างทันท่วงที (Real-time) ที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่จังหวัดเชียงรายถึงอุบลราชธานีโดยประชาชนริมแม่น้ำโขงทุกพื้นที่เข้าถึงได้โดยง่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนสามารถรับมือสถานการณ์น้ำที่เปลี่ยนแปลงและใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
  5. ต้องมีการกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยากับชุมชนริมโขงผู้ได้รับผลกระทบในด้านการพัฒนาอาชีพรายได้ ทั้งด้านการประมง เกษตร ปศุสัตว์ เพื่อชดเชยอาชีพรายได้ที่เคยพึ่งพาจากแม่น้ำโขง
  6. คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเร่งรัดการกระจายอำนาจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นรูปธรรม ทั้งด้านการถ่ายโอนภารกิจและการถ่ายโอนงบประมาณ ตลอดจนบุคลากรตามแผนกระจายอำนาจ ทั้งนี้ การทำงานจะต้องจัดให้มีกระบวนการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียและภาคประชาชน หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความจำเป็นต้องได้รับภารกิจและหน้าที่เพิ่มขึ้น ขอให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ใช้อำนาจตามมาตรา 16 และ 17 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2562
  7. เร่งรัดแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศในลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำภายใต้คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ซึ่งพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ตามมติคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2564 ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 12 มี.ค. 2464 เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำเป็นไปตามกลไกของกฎหมาย (พ.ร.ก.การประมงฯ) โดยคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ จะต้องทำงานอย่างมีส่วนร่วมปรึกษาหารือกับทุกภาคส่วนและนำมาจัดทำแผนงานโครงการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบและให้ทุกส่วนราชการนำไปปฏิบัติ

ซึ่งการเสนอเพื่อหาแนวทางแก้ไขครั้งนี้ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขงฯ ระบุว่าเป็นการหารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ทั้งนี้ หลังจากเสนอแนวทางแก้ไขปัญหากับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศเกิดขึ้นเร็วสุด เกินความคาดหมาย พร้อมระบุว่า เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง ยินดีที่จะแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องอาศัยความความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ