ตัวแทนเครือข่ายสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ ร่วมถกเวทีรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ 3 ฉบับ เชื่อผลักดันสำเร็จ ช่วยลดข้อพิพาทระหว่างรัฐกับชุมชน ยกกรณีบางกลอย บทเรียนการละเมิดสิทธิ ที่ต้องแก้ปัญหาภายใต้มิติความเท่าเทียม ลดอคติจากฝ่ายรัฐ
เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2564 ตัวแทนเครือข่ายสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จากทั่วประเทศ ทำพิธีสู่ขวัญ เรียกขวัญชาวกะหรี่ยงบางกลอย ที่ถูกดำเนินคดีข้อหารุกป่า และให้กำลังใจชาวบ้านที่มาร่วมเคลื่อนไหวบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล พร้อมเรียกร้อง ให้รัฐเร่งแก้ปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับชาวบางกลอย เพื่อนำไปสู่การพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ทำกิน และที่อยู่อาศัยดั้งเดิม ซึ่งการรวมตัวกันของตัวแทนเครือข่ายสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ ครั้งนี้ ยังสะท้อนและย้ำว่าประเทศไทย เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ที่รัฐพึงคุ้มครองส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียม พร้อมทั้งควรร่วมผลักดัน ร่างกฎหมายสำหรับชาติพันธุ์ทั้ง 3 ฉบับ
ข้อพิพาทบางกลอย สู่เวทีผลักดันร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองชาติพันธุ์
ประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ยังถูกหยิบยกมาเป็นหนึ่งกรณีปัญหาที่สะท้อนในเวทีการประชุมเครือข่ายสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมต่อการผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองด้วย
อภินันท์ ธรรมเสนา หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในฐานะตัวแทนหน่วยงานหลักยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ สะท้อนถึงกรณีที่เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอย เป็นบทเรียนสะท้อนว่า การใช้เพียงกฎหมายอุทยานฯ เพื่อจัดการปัญหาคนอยู่กับป่า และคาดหวังการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และยังส่งผลให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงมานานกว่า 25 ปี เพราะการมีอยู่จริงของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย วิถีชีวิต วัฒนธรรม ยึดโยงกับธรรมชาติ ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญในมิติของความเท่าเทียม รวมทั้งอคติที่ภาครัฐมองกลุ่มชาติพันธุ์ว่าไม่ใช่คนไทย ส่งผลให้การวางนโยบายต่าง ๆ เพื่อหวังจัดการปัญหา จึงไม่ได้มองถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม หรือจัดการภายใต้หลักคิดว่าพวกเขาไม่ใช่พลเมือง การแก้ปัญหาจึงไม่ถูกที่ถูกทาง และยิ่งสร้างความขัดแย้ง
การมีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงเป็นการสร้างสมดุลระหว่างการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมให้คนได้อยู่กับป่าอย่างยั่งยืน
นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาอาวุโสสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เห็นว่า ในพื้นที่อื่น ๆ เช่น ภาคเหนือ ภาคใต้ พบว่าหลายชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับพื้นที่ป่าในเขตอุทยานฯ ได้ นั่นอาจเป็นเพราะการยืดหยุ่นในมาตรการและหลักเกณฑ์ของหัวหน้าอุทยานฯ ที่เข้าใจในประเด็นเรื่องชาติพันธุ์ ซึ่งแตกต่างจากกรณีข้อพิพาทที่อุทยานฯ แก่งกระจาน
เห็นกันอยู่ว่า มีชุมชนที่เขาอยู่ร่วมกับอุทยาน อยู่กับป่าได้ จึงเห็นว่า หากมีกฎหมายเฉพาะตรงนี้ จะเอื้อให้เจ้าหน้าที่ที่เห็นความสำคัญ ของความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากร และสิทธิชุมชน วิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่
ขณะที่ พลเอก สุรินทร์ พิกุลทอง ในฐานะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและ พื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวกะเหรี่ยงและชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี เห็นว่า ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ทั้ง 3 ฉบับ คือ
1. ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่ยกร่างโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ
2. ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ยกร่างโดยคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาด้านผู้สูงอายุผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ ภายใต้คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร
3. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ยกร่างโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะสร้างความเท่าเทียมในสังคม ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ ได้รับการคุ้มครอง หนุนเสริมศักยภาพพึ่งพาตนเองตามวิถีวัฒนธรรม ที่สำคัญจะสามารถแก้ไขปัญหาข้อพิพาทความขัดแย้ง ระหว่างรัฐกับชุมชน ในปัญหาที่ทำกินที่อยู่อาศัย
โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ยกร่างโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ มาตรา 32 (4) ชัดเจนมาก เพราะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญ ยืนยันให้ชุมชนที่อยู่มาก่อนการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แสดงสิทธิที่อยู่อาศัยที่ทำกิน และพื้นที่จิตวิญญานตามวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ได้
ส่องหลักการ 3 ร่างกฎหมายเพื่อชาติพันธุ์
สำหรับร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มีหลักการ และสาระสำคัญไปในทิศทางเดียวกัน 3 เรื่องหลัก คือ
1. คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม อันหมายถึง การให้ความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในการเลือกดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของตนโดยไม่ถูกคุกคามหรือถูกเลือกปฏิบัติ จากเดิมที่กลุ่มชาติพันธุ์ถูกมองในฐานะที่เป็น “คนชายขอบ” เกิดปัญหาอคติทางวัฒนธรรมที่เกิดจากความไม่เข้าใจวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องถูกละเมิดสิทธิในด้านต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่อาจเป็นรากฐานความรุนแรงในสังคมไทย ดังนั้นการให้การคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการรักษาดุลยภาคทางสังคม
2. ส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ในการพึ่งพาตนเอง ที่เน้นให้ส่งเสริมศักยภาพของกลุ่ม ชาติพันธุ์ให้มีความสามารถในการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสร้างส่วนร่วมใช้ภูมิปัญญาในการพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนมโนทัศน์ในการจัดการปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ จากเดิมที่เน้นการให้การสงเคราะห์กลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะที่เป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องสูญเสียความสามารถในการจัดการตนเอง มาเป็นการเสริมศักยภาพให้กลุ่มชาติพันธุ์มี “พลัง” ในการจัดการตนเองบนฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นแนวทางของการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่จะเป็นพื้นฐานในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านความมั่นคงในประเด็นการสร้างกลไกภาคประชาชนในการเสริมความมั่นคงของชาติ
3. สร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม พระราชบัญญัติฉบับนี้ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะ คนชายขอบต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ในแง่นี้การมีพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงถือเป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติในเป้าหมายที่ 10 การลดความเหลื่อมล้ำ ภายใต้หลักการของความเสมอภาคทีมีแนวทางในการจัดสรรทรัพยากรที่สอดคล้องกับศักยภาพของคนที่มีความหลากหลาย
นอกจากนี้ยังมีกลไกคณะกรรมการระดับชาติ ระดับจังหวัด ที่มีสวนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ นักวิชาการ และตัวแทนชาติพันธุ์ รวมทั้งสมัชชาหรือสภาชนเผ่าพื้นเมือง ที่สามารถนำเสนอปัญหา แนวทาง หรือแนวนโยบายการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์
ส่วนที่ต่างกัน คือ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ของกรรมาธิการฯ ได้กำหนดบทลงโทษ เช่น หากพบการดูถูกเหยียดหยาม ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ เป็นกฎหมายจัดตั้งและบริการองค์กรสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ จึงไม่กำหนดโทษ สำหรับร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ผลักดันโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ วางหลักการเป็นกฎหมายที่จะคุ้มครองสิทธิให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิเสมอกับพลเมืองไทย โดยไม่ใช่เป็นการให้สิทธิพิเศษกับกลุ่มชาติพันธุ์ จีงไม่กำหนดบทลงโทษไว้เช่นกันเนื่องจากเห็นว่าหากมีการละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ สามารถใช้กฎหมายปกติได้ตามสิทธิในฐานะของพลเมืองไทยที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
อีกประเด็นที่แตกต่าง คือ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ได้จัดทำข้อมูลประวัติศาสตร์ องค์ความรู้ และจำนวนของกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลกลาง เสนอต่อคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อประกอบการแก้ปัญหากรณีต่าง ๆ รวมทั้งมีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ไว้อย่างชัดเจน
สำหรับการรับฟังความเห็นของตัวแทนเครือข่ายสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ ครั้งนี้ นอกจากสร้างความเข้าใจต่อร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ได้มีการจัดกลุ่มย่อยระดมความเห็นข้อเสนอแนะ ทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย รวมถึงข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ก่อนจะจัดเวทีรับฟังความเห็นรายภาค ทั่วประเทศ เพื่อนำข้อมูลจากการรับฟังความเห็นมาวิเคราะห์ ปรับแก้ ในตัวร่างกฎหมาย ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้