สถาบันสิทธิฯ มหิดล ร่อนแถลงการณ์ “การประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน” แม้เป็นคดี 112

หลังพบผู้ถูกกล่าวหาคดีการเมือง ถูกปฏิเสธการประกันตัวหลายครั้ง ระบุ ขัดหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิในกระบวนการยุติธรรม พร้อมเสนอ 3 ข้อเรียกร้อง

วันนี้ (17 มี.ค. 2564) สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล เผยแพร่แถลงการณ์ “การประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน การคุมขังเป็นข้อยกเว้น” จากกรณีที่มีผู้ถูกกล่าวหาและผู้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมือง ได้รับการปฏิเสธการประกันตัวหลายครั้ง โดยศาลให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ซึ่งถือว่าขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนและสิทธิในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงหากกระบวนการยุติธรรมมีมากกว่าหนึ่งมาตรฐาน ย่อมส่งผลต่อหลักนิติธรรมทางอาญา

สาระสำคัญในแถลงการณ์ ยังระบุถึงรายละเอียดของสิทธิการประกันตัว ว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกฟ้องคดี มีสิทธิที่จะดำรงอิสรภาพนอกที่กักขังระหว่างการพิจารณาคดี โดยยกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่าการกักขังระหว่างการพิจารณาคดีเป็นข้อยกเว้น กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติกรรมจะหลบหนี ทำลายหลักฐาน หรือมีอิทธิพลข่มขู่พยาน

นอกจากนี้ ยังระบุถึงกรณีที่มีการนำกฎหมายอาญามาตรา 112 มาใช้อย่างแพร่หลาย โดยอ้างอิงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ที่แสดงความห่วงกังวลในกรณีนี้ และยืนยันว่าการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างชอบธรรม สถาบันสิทธิฯ จึงเรียกร้อง 3 ข้อ

  1. ขอให้ศาลและทุกองคาพยพของกระบวนการยุติธรรมยึดหลักนิติธรรมอย่างแท้จริงและเป็นหลักนิติธรรมสากล
  2. ขอให้ถือว่าการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลักทั่วไป ส่วนการกักขังระหว่างการพิจารณาคดีเป็นข้อยกเว้น อันเป็นไปตามหลักสากล การปฏิเสธการประกันตัวต้องมีเหตุผลอันชอบธรรม และมีการอธิบายอย่างชัดเจนให้เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป
  3. ในระหว่างกักขัง รัฐต้องให้การรับรองถึงความปลอดภัยของผู้ต้องหาที่ถูกกักขัง และการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active