รายงานความเหลื่อมล้ำภาคเรียน 2/2563 พบ “นักเรียนยากจนพิเศษ” ทะลุ 1 ล้านคน แนะ โฟกัสสุขภาพจิตนักเรียน ป้องกันผลกระทบต่ออารมณ์และการจัดการตัวเอง
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาล่าสุด ประจำภาคเรียนที่ 2/2563 ชี้โควิด-19 ยังส่งผลกระทบครัวเรือนยากจนที่สุดต่อเนื่อง แม้เข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐ แต่สถานการณ์ด้านการเรียนรู้ภาพรวมยังคงถดถอย
ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อจำนวนกลุ่มเป้าหมายของ กสศ. ในปีการศึกษา 2/2563 เพิ่มขึ้นกว่า 18% จากปีการศึกษา 1/2563
ปีการศึกษา 2/2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษ ที่คัดกรองใหม่เข้ามา 195,558 คน โดยยอดรวมตั้งแต่เริ่มเข้าไปช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษหรือนักเรียนทุนเสมอภาค เมื่อปีการศึกษา 2/2561 ครบ 3 ปีการศึกษา กสศ. ให้การช่วยเหลือเด็กยากจนพิเศษแล้ว 1,173,752 คน
จากข้อมูลล่าสุด พบว่ารายได้เฉลี่ยครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษมีอัตราลดลง 5% โดยในภาคการศึกษา 2/2563 อยู่ที่ 1,021 บาท/เดือน หรือประมาณ 34 บาท/วัน ลดลงจากภาคการศึกษา 1/2563 ซึ่งอยู่ที่ 1,077 บาท/เดือน โดยแหล่งที่มาของรายได้ยังมาจากเงินเดือน และค่าจ้าง สวัสดิการจากรัฐ เอกชน และการเกษตร ขณะที่สมาชิกครัวเรือนอายุ 15-65 ปี ว่างงานที่ไม่ใช่นักเรียนนักศึกษาอยู่ที่ 31.8% และเป็นผู้ปกครองที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ 32%
โค้งสุดท้ายปีการศึกษา 2563 เจอปัญหา “ม่านกั้นการเรียนรู้” นักเรียนเครียด เหนื่อยล้า มีสมาธิในการเรียนรู้ลดลง
จากการประมวลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาล่าสุด ยังพบว่า ประเด็นเร่งด่วนที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขผลกระทบของการปิดเรียนจากภาวะวิกฤตโควิด-19 โดยรองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า เด็กไทยกำลังเผชิญสถานการณ์ “ม่านกั้นการเรียนรู้ (Pandemic Wall) หรือ ภาวะที่ต้องเจอโรคระบาด” เด็กจะเริ่มรู้สึกเหนื่อย เบื่อ จากการที่ชีวิตถูก Disrupt โดยโควิด-19
พร้อมกับเกิด “ภาวะสมองเต็ม” หรือ Cognitive Overload ซี่งเกิดจากสมองส่วน Working Memory เต็มเพราะความเครียด เกิดการเบื่อ ขาดสารอาหาร พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้สมาธิหาย เรียนไม่รู้เรื่อง หลายคนมีปัญหาเรื่องการจัดการตัวเอง โดยไม่รู้จะสื่อสารความรู้สึกกดดันวิตกกังวลออกมาอย่างไร ปัญหานี้ผู้ใหญ่จำเป็นต้องช่วยพูดคุยกับเด็ก ๆ ถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 และควรเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เล่าถึงความรู้สึก ความกังวล ของตัวเด็กที่เกิดขึ้นได้
พ่อแม่ผู้ปกครองและครู ควรสร้างพื้นที่ให้เด็กนักเรียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของภาวะตรงนี้ แล้วช่วยให้โค้งสุดท้ายของปีการศึกษา 2563 มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถทำให้เด็กบริหารจัดการความเครียดและเนื้อหาวิชาที่ต้องรับเข้าไปในช่วงนี้ให้ได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้การศึกษาไทยผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปด้วยกันได้ในที่สุด
“ตอนนี้คือช่วงโค้งสุดท้ายของปีการศึกษา 2563 เหลืออีกเพียงไม่กี่สัปดาห์จะถึงการสอบและปิดเทอมใหญ่ ช่วงเวลานี้เด็กจะต้องรับเนื้อหาการเรียนที่หนักและเยอะกว่าปกติ มีทั้งการสอบปลายภาคและการสอบในระดับที่สูงกว่านั้น ในภาวะที่เด็กต้องเผชิญปัญหาม่านการเรียนรู้อย่างนี้ ถ้าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ ท้ายที่สุดเด็กจะมีภาวะความเครียดเกินกว่าจะรับได้ เกินกว่าที่ผู้ปกครองจะรับได้ แล้วจะมีผลต่อการจัดการอารมณ์และความวิตกกังวลต่อไปในระยะยาว”
ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิรูปการศึกษาจากอังกฤษ แนะวิธีการจัดการเรียนรู้ให้เด็กมีสิทธิ์เลือก
นอกจากแนวโน้มนักเรียนยากจนพิเศษและยากจน ยังเพิ่มขึ้นอยู่ในประเทศไทย มีการเปิดผลวิจัยที่ทำให้เห็นว่าปรากฏการณ์ COVID Slide หรือภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ มีอยู่จริงในประเทศไทย โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัย การปิดโรงเรียนในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาตลอดทั้งเดือน พบเด็กปฐมวัยใน 25 จังหวัด มีความถดถอยด้านการเรียนรู้ ถึง 0.32-0.39 ปี
พอล คอลลาร์ด นักการศึกษาผู้เชี่ยวชาญการจัดการศึกษาในภาวะวิกฤต และนักปฏิรูปการเรียนรู้ระดับโลก ผู้ก่อตั้ง Creativity, Culture and Education (CCE) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์หลังเปิดเรียนเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งต้องปิดเรียนไปเกือบ 3 เดือนเต็ม
ดังนั้น การศึกษาจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้โรงเรียนและผู้เรียนได้ร่วมกันมองหาวิธีการประเมินผลการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละกลุ่ม โดยอาจมีทั้งการสอบ หรือการวัดผลด้วยวิธีอื่นร่วมกัน เช่น การประเมินจากผลงานของนักเรียน เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีทางเลือกไหนที่เป็นทางออกที่ดีที่สุด สุดท้ายแล้วหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องช่วยหาทางออกสำหรับเด็กทุกกลุ่มร่วมกัน
“จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เรารู้ว่ามีเด็กมากมายที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ดังนั้นการจัดรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย อย่างไรก็ตามเด็กอาจยังไม่เข้าใจวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง เนื่องจากเขาไม่เคยได้รับการเตรียมตัวให้พร้อมมาก่อน ทำให้เรามองเห็นโอกาสอีกมากที่จะได้มองและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า วิชาการหรือสิ่งที่เรียนรู้ในหลักสูตรเหล่านี้มีความจำเป็นต่อชีวิตมากน้อยแค่ไหน เราจำเป็นต้องเรียนจริง ๆ หรือไม่ และบทเรียนที่สำคัญเราได้เรียนรู้จากโควิด-19 ก็คือการปฏิรูป บ่มเพาะผู้เรียนให้เป็นเด็กที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง พึ่งพาตนเองในการเรียนรู้ให้ได้”
5 ข้อเสนอ ปลดล็อคปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ”
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว กสศ. จะนำบทเรียนที่เกิดขึ้นไปบูรณาการการทำงานทั้งระดับครัวเรือน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามชั่วคน และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย 5 ข้อเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ได้แก่
- บูรณาการข้อมูลสถานการณ์ความยากจนรายครัวเรือนระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและความต่อเนื่องของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความยากจนในระยะยาว
- บูรณาการงบประมาณและทรัพยากรระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความยากจน ซึ่งปัจจุบันมีมาตรการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศไทยมากกว่า 40 มาตรการ ที่สามารถทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ยั่งยืน
- แก้ไขปัญหาความยากจนโดยใช้ครัวเรือนเป็นฐาน (Household-based Anti-poverty Intervention) ในการดำเนินการมาตรการต่อเนื่อง 5-10 ปี
- แก้ไขปัญหาภาวะ COVID Slide และ Pandemic Wall ในประเทศไทย เพื่อป้องกันผลกระทบของ COVID-19 ต่อพัฒนาการของเด็กเยาวชนในระยะยาว
- Build Back Better ข้อเสนอเชิงนโยบายเหล่านี้ จะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยกลับมาสู่เส้นทางของการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนได้ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ SDGs ภายใน 10 ปีข้างหน้า