สงกรานต์กลับบ้าน พาลูกหลานกลับมาเรียน

กสศ. เดินหน้า Mobile School สร้างความยืดหยุ่นทางการศึกษา หวังผลักดันโอกาสการเรียนรู้ ถึงมือเยาวชนหลุดจากระบบ หลังสถิติ ชี้ ‘ครอบครัวแหว่งกลาง’ ทำเด็กห่างจากการศึกษา

ช่วงสงกรานต์ปี 2568 นี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จับมือภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ริเริ่มแคมเปญ “สงกรานต์นี้ กลับบ้าน พาลูกหลานกลับมาเรียน” เพื่อชวนพ่อแม่ พี่น้องแรงงานที่กำลังเดินทางกลับบ้านในช่วงหยุดยาว นำโอกาสทางการศึกษากลับไปหาลูกหลานที่เคยหลุดออกจากระบบการเรียน โดยใช้โครงการ “โรงเรียนเคลื่อนที่ Mobile School” เป็นกลไกหลักในการเข้าถึงเยาวชนที่ยังรอความหวัง

เดือนเมษายนถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการตัดสินใจของครอบครัวยากจน และเยาวชนกลุ่มเปราะบาง เพราะหลายคนอาจเลือกไม่กลับมาเรียนต่อ เนื่องจากต้องช่วยแบ่งเบาภาระในครอบครัว การออกไปทำงานหารายได้กลายเป็นทางออกที่ไม่มีทางเลือก การหลุดออกจากระบบการศึกษาในวัยเด็กจึงไม่ใช่เรื่องของการ “ไม่อยากเรียน” แต่เป็นเรื่องของ “ไม่มีทางเลือกให้เรียน”

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่ใช่เพียงเพราะไม่มีเงินเรียน แต่ยังรวมถึงอุปสรรคที่ซ่อนอยู่มากมาย เช่น ต้องทำงาน ไม่มีเวลาว่าง กลัวถูกบูลลี่ เรียนไม่ทันเพื่อน ขาดที่ปรึกษา และไม่รู้ว่าตนเองมีทางเลือกอะไรอีกบ้าง หลายคนรู้สึกถูกทิ้งให้อยู่ลำพัง จนท้ายที่สุดตัดสินใจออกจากโรงเรียนไปอย่างถาวร

เสียงสะท้อนจากบ้านเกิด หวังโอกาสการศึกษาสร้างชีวิตใหม่

หนึ่งในเสียงสะท้อนจากเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการโรงเรียนเคลื่อนที่ คือ “หมวย” – มัณฑนา เยาวชนจาก จ.สกลนคร ปัจจุบันเธอต้องทำงานและไม่มีเวลามากพอที่จะกลับไปเรียนในระบบปกติ เธอเล่าว่า เมื่อทราบข่าวว่า Mobile School สามารถเรียนได้โดยไม่ต้องเข้าโรงเรียนทุกวัน ก็รู้สึกสนใจทันที เพราะในพื้นที่บ้านเกิดของเธอ มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะระดับมัธยมฯ ต้น

หมวย – มัณฑนา เยาวชน จ.สกลนคร

เธอย้ำถึงเป้าหมาย ว่าคือการมีวุฒิการศึกษาอย่างน้อยในระดับ ม.3 เพื่อเปิดโอกาสการทำงาน และความก้าวหน้าในชีวิตในอนาคตต่อไป

“อยากมีวุฒิค่ะ อย่างน้อย ม.3 ก่อน จากนั้นค่อยมาดูว่าจะเรียนต่อไปถึงไหนได้ แต่อย่างหนึ่งที่แน่ใจคือ ถ้ามีวุฒิการศึกษา โอกาสก้าวหน้าในงานที่ทำก็จะมีมากขึ้น”

หมวย

อีกหนึ่งเสียงจากผู้ปกครองที่กำลังเฝ้ารอโอกาสให้ลูกได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา วราภรณ์ จาก อ.ลี้ จ.ลำพูน ปัจจุบันเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและต้องทำงานคนเดียวเพื่อดูแลครอบครัว เธอเล่าว่า ลูกสาวของเธอหยุดเรียนหลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มาได้ 1 ปีแล้ว เพราะครอบครัวไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้

วราภรณ์ จาก อ.ลี้ จ.ลำพูน

พร้อมเน้นย้ำว่า แม้โอกาสในชีวิตจะมีไม่มากนัก แต่เธอเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า การศึกษาคือพื้นฐานสำคัญ และถ้าได้โอกาสนั้นจริง ๆ ก็จะกลายเป็นความหวังใหม่ของครอบครัวในการมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต

“ถึงโอกาสจะมีไม่มาก แต่เราเชื่อเสมอการศึกษาคือพื้นฐานสำคัญที่จะพาให้ก้าวไปอีกขั้น และถ้ามีโอกาสนั้นจริง ๆ เราก็คงมีความหวังว่าจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น”

วราภรณ์

เสียงจากคุณครูผู้ใกล้ชิดกับเด็กและชุมชนก็ยืนยันถึงความสำคัญของโครงการเช่นกัน ครูจิ๋ว จาก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ เล่าว่า ในพื้นที่ของเธอมีเด็กจำนวนมากที่เรียนจบเพียงชั้น ม. 3 แล้วต้องหยุดเรียน เพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือไม่มีโรงเรียนมัธยมฯ ปลายอยู่ใกล้บ้าน ทั้งที่หลายคนมีศักยภาพและความฝัน

ครูจิ๋ว จาก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์

และเมื่อได้รู้จักกับโครงการโรงเรียนเคลื่อนที่ของ กสศ. เธอเห็นว่า นี่คืออีกหนึ่งโอกาสสำคัญสำหรับเด็กที่ต้องทำงาน และไม่สามารถกลับไปเรียนเต็มเวลาได้อีกแล้ว นี่อาจเป็นประตูบานใหม่ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เดินหน้าต่อในชีวิตด้วยความหวังและศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเอง

“โอกาสทางการศึกษาสำคัญมากค่ะ โดยเฉพาะกับเด็กบางพื้นที่ บางคนจบ ม.3 แล้วต้องเลิกเรียนเลยเพราะไม่มีเงิน หรือไม่มีโรงเรียนมัธยมปลายอยู่ใกล้ ทั้งที่หลายคนมีศักยภาพมาก ที่ทำได้คือพยายามชี้ช่องทางให้เขา”

ครูจิ๋ว

อีกเสียงจากแรงงานหญิงที่พร้อมส่งต่อโอกาสการศึกษาให้เด็ก ๆ ในบ้านเกิด “ฟ้า” – ศรีฟ้า พนักงานทำความสะอาดที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 ซึ่งกำลังเตรียมตัวกลับบ้านที่ตำบลเหล่าพรวน อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ในช่วงสงกรานต์นี้ เธอเล่าว่า ในชุมชนมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เรียนจบแค่ชั้น ป. 6 แล้วต้องหยุดเรียน เพราะครอบครัวยากจน ต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน

ฟ้า – ศรีฟ้า พนักงานทำความสะอาดที่สถานีขนส่งหมอชิต 2

“แถวบ้านมีเด็ก ๆ ที่ไม่ได้เรียนต่อ หลังจบ ป.6 เยอะมาก เพราะต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน ความยากจนมันโหดร้าย ทำให้คนจน ไม่มีทางเลือก ต้องทำเพื่อปากท้องไว้ก่อน”

ฟ้า

เธอมีเหลนสาวที่เรียนดี กำลังจะจบ ป.4 แต่ครอบครัวแตกแยก พ่อแม่แยกทางกัน อาศัยอยู่คนละบ้าน แต่เธอมองว่า อย่างเต็มที่ก็คงเรียนได้แค่ ม.3 แล้วก็ต้องออกมาทำงาน พร้อมบอกว่าเหลนตั้งใจจะหาเงินเรียนเอง เพราะไม่อยากให้ครอบครัวต้องกู้เงินเหมือนรุ่นแม่ แต่ถ้ามีโครงการโรงเรียนเคลื่อนที่ เรียนเพื่อมีรายได้ จะช่วยเด็ก ๆ และครอบครัวได้มาก

พร้อมตั้งใจว่า รอบนี้เมื่อกลับบ้าน จะเอาข่าวดีเรื่อง Mobile School ไปบอกต่อให้ถึงเด็ก ๆ ในชุมชนทุกคนที่กำลังจะหมดหวังกับการศึกษา

ครอบครัวแหว่งกลาง เด็กห่างการศึกษา

ข้อมูลเชิงสถิติ พบว่า นักเรียนยากจนพิเศษกว่า 38.77% ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ โดยเฉพาะในกรณีที่พ่อแม่อพยพไปทำงานในเมือง หรือครอบครัวแหว่งกลาง เด็กส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้อาศัยอยู่กับญาติ หรืออยู่เพียงลำพัง ทั้งยังมีภาระพึ่งพิงสูง เช่น ผู้สูงอายุ คนว่างงาน และผู้ป่วยเรื้อรังในครัวเรือน

ขณะที่ผู้ปกครองของนักเรียนยากจนพิเศษกว่า 60% จบแค่ระดับประถมหรือต่ำกว่า ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่า หากเด็ก ๆ เหล่านี้สามารถเรียนต่อได้จนจบระดับที่สูงขึ้น ก็จะสามารถพาครอบครัวหลุดพ้นจากกับดักความยากจนข้ามรุ่นได้ ผ่านโอกาสในการทำงานและรายได้ที่ดีขึ้น

ข้อมูลจาก กสศ. ยังระบุถึงจังหวัดที่มีสัดส่วนนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุด อันดับ 1 คือ แม่ฮ่องสอน รองลงมาคือ นราธิวาส และอีก 8 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นครพนม, อำนาจเจริญ, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์, ยโสธร, มุกดาหาร, ศรีสะเกษ และ สกลนคร ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ล้วนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการเข้าไปผลักดันให้เด็ก ๆ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเร่งด่วน

Mobile School : เข้าโรงเรียนไม่ได้ ก็ให้โรงเรียนเข้าหาเด็ก

จากการศึกษาของ กสศ. ยังพบว่า การเข้าไม่ถึงข้อมูล และ การไม่มีตัวเลือกการศึกษาที่เหมาะกับชีวิต เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองตัดสินใจไม่ศึกษาต่อ แม้จะยังมีความต้องการเรียนอยู่ก็ตาม เพื่อแก้ไขปัญหานี้ กสศ. จึงริเริ่มโครงการ โรงเรียนเคลื่อนที่ Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา โดยระดมความร่วมมือจากเครือข่ายศูนย์การเรียน สถานประกอบการ ภาคประชาสังคม และชุมชนที่มีประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ทางเลือก เพื่อนำการเรียนรู้ที่ฟรี ยืดหยุ่น และตอบโจทย์ชีวิต ไปให้ถึงเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาโดยตรง

โรงเรียนเคลื่อนที่มีความยืดหยุ่นสูง เด็กสามารถเรียนได้จากทุกที่ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ โดยมีครูพี่เลี้ยงช่วยแนะแนว วางแผนการเรียนรายบุคคล ตามความถนัด ความสนใจ และความพร้อมของแต่ละคน ไม่เพียงมุ่งเน้นให้ได้วุฒิการศึกษาเท่านั้น แต่ยังออกแบบเนื้อหาเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างชีวิตที่ดีขึ้น

ระบบการดูแลในชุมชนยังเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญ โครงการนี้มีการทำงานร่วมกับญาติ ลุง ป้า น้า อา และผู้ใหญ่ในชุมชนที่คอยช่วยดูแลเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เป็นห่วงโซ่ที่เชื่อมโยงระหว่างบ้าน โรงเรียน และชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

โครงการโรงเรียนเคลื่อนที่ Mobile School เปิดรับสมัครเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ อายุระหว่าง 7-24 ปี ที่หลุดจากระบบการศึกษา และไม่สามารถเรียนในโรงเรียนหรือสถานศึกษาในรูปแบบปกติได้ โดยสามารถเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 6, มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ทันก่อนเปิดเทอมใหม่ในเดือนพฤษภาคม ปีการศึกษา 2568

ผู้สนใจสามารถติดต่อเข้าร่วมโครงการได้โดยตรงที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โทร. 02-079-5474 ต่อ 0 ทุกวัน รวมถึงเว็บไซต์ www.eef.or.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจ “กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active