เวทีหมอลำ – ร้านตัดผม ที่ไหนก็เรียนได้ เมื่อการศึกษายืดหยุ่น สู่ทางเลือก ดึงเด็กกลับเข้าระบบ

เปิดแนวทาง ‘เปิดเทอมใหม่ เรียนได้ทุกที่ มีรายได้ มีวุฒิการศึกษา’ ตั้งเป้า ปี 2568 ดึงเด็กหลุดจากระบบ กลับสู่การเรียนกว่า 55,000 คน กสศ. ย้ำ พัฒนารูปแบบการเรียนรู้หลากหลาย ตอบโจทย์ใช้ชีวิต

พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ในการเปิดภาคเรียนใหม่ปีนี้ มีเด็กและเยาวชนราว 1,000 คน ซึ่งหลุดจากระบบการศึกษา และไม่สามารถกลับเข้าสู่การเรียนในโรงเรียนได้ เนื่องจากปัญหาหลายด้าน เช่น สุขภาพ เศรษฐกิจ ครอบครัว การเดินทาง และข้อจำกัดในชีวิตอื่น ๆ ได้มีโอกาสกลับมาเรียนอีกครั้ง ผ่านแนวทาง “การศึกษายืดหยุ่น เรียนได้ทุกที่ มีรายได้ มีวุฒิการศึกษา” โดยใช้โมเดล “โรงเรียนเคลื่อนที่ (Mobile School)” ที่ กสศ. ร่วมกับ สพฐ. และเครือข่ายศูนย์การเรียนโดยสถาบันทางสังคม จัดการศึกษาตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

รูปแบบนี้ถือเป็นหนึ่งใน 13 รูปแบบของการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ตามแนวคิด “นำการเรียนไปหาน้อง” ที่กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมผลักดันกับ กสศ. เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Thailand Zero Dropout ที่ตั้งเป้าดึงเด็กและเยาวชนนอกระบบกลับเข้าสู่การศึกษาไม่ต่ำกว่า 55,000 คน ในปีการศึกษา 2568

พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

เปิดเทอมใหม่ เรียนได้ทุกที่ มีรายได้ มีวุฒิฯ
พาเด็กไทยกลับเข้าระบบการศึกษา

พัฒนะพงษ์ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมีเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษามากกว่า 880,000 คน แม้จะลดลงจากปีก่อนที่มีราว 1.02 ล้านคน แต่ยังถือเป็นตัวเลขที่สูง จากการทำงานภาคสนาม พบว่า ระบบการศึกษาไทยจำเป็นต้องปรับให้ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิตจริงมากขึ้น กสศ. ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ พัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ และศูนย์การเรียนที่ดำเนินงานโดยสถาบันทางสังคมที่ไม่หวังผลกำไร โดยอยู่ภายใต้สังกัด สพฐ. ซึ่งสามารถจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับรายบุคคลและบริบทชุมชนอย่างแท้จริง รวมทั้งเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเป็น ครู ได้ ตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

สำหรับแนวทาง เปิดเทอมใหม่ เรียนได้ทุกที่ มีรายได้ มีวุฒิการศึกษา ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงเรียนแบบเดิม แต่สามารถเรียนรู้จากแหล่งต่าง ๆ ตามความถนัด ความสนใจ และวิถีชีวิตของตน เช่น ฟาร์ม นา ป่า ตลาด ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านตัดผม หรือแม้แต่วงดนตรีหมอลำ โดยมีครูจากศูนย์การเรียนร่วมวางแผนกับนักวิชาชีพ เช่น ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ร่วมกันจัดการเรียนรู้ วัดผล และประเมินผลตามสภาพจริงของแต่ละคน ทั้งนี้ ผู้เรียนยังมีรายได้จากการลงมือทำงานจริงควบคู่กับการเรียนรู้ด้วย

ในปีการศึกษา 2568 กสศ. ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรหลากหลายภาคส่วน เช่น ร้าน KFC, สำนักข่าว The Reporters, หมอลำไอดอล New Gen Entertainment, แพลตฟอร์ม Shopee (ในเครือ Sea Thailand), ฟาร์มไก่โคราช, พลูโตฟาร์ม, สหกรณ์การเกษตรพืชผักอินทรีย์หนองสนิท, และสวนทุเรียนแปลงใหญ่ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี ร่วมจัดการเรียนรู้ให้เยาวชนที่หลุดจากระบบ

Mobile School: เมื่อเข้าห้องเรียนไม่ได้ ก็ให้ห้องเรียนเข้าหา

วรัญญาภรณ์ วันทา หรือ ฮักแพง อายุ 18 ปี นักเรียน ม.ปลาย ในหลักสูตรหมอลำศึกษาของศูนย์การเรียนปัญญากัลป์ ภายใต้เครือข่าย กสศ. เล่าว่า ปัจจุบันทำงานเป็นศิลปิน การเรียนรู้ของตนจึงปรับโจทย์ให้สอดคล้องกับบทบาท เช่น การเรียนคณิตศาสตร์จากการวัดขนาดเวที หรือการเรียนสังคมศึกษาผ่านวัฒนธรรมหมอลำ ซึ่งเชื่อมโยงกับรากวิถีชีวิตของคนอีสาน ทำให้ผู้เรียนที่ทำงานแล้วสามารถเรียนควบคู่ไปได้ มีความหวังว่าจะได้วุฒิการศึกษาเพื่อเรียนต่อและเติบโตในอาชีพ

วรัญญาภรณ์ วันทา (ฮักแพง)

ฮักแพง บอกอีกว่า แม้ไม่ได้เรียนในห้องเรียนแบบเดิม แต่ระบบออนไลน์ที่ใช้ก็ทำให้ได้รับคำแนะนำจากครูเฉพาะบุคคลทุกสัปดาห์ และกิจกรรมกลุ่มก็ช่วยสร้างความรู้สึกว่าได้กลับสู่ “พื้นที่ปลอดภัย” ของการศึกษาอีกครั้ง โดยเฉพาะกับผู้ที่เข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งมักไม่มีโอกาสพบปะเพื่อนใหม่หรือลงกลุ่มกิจกรรมเหมือนในวัยเรียน

“การติดตามบทเรียนต่าง ๆ แทบไม่ต่างจากการเรียนในห้องเลยค่ะ แค่วิธีนี้เราใช้ออนไลน์เป็นหลักและมีเวลาเรียนที่ไม่ตายตัวเท่านั้น ข้อดีของวิธีการนี้คือเราได้รับคำแนะนำจากครูได้ทันที …เนื่องจากชีวิตที่เข้าสู่การทำงานแล้ว จะมีโอกาสน้อยมากสำหรับการพบเพื่อนใหม่ มีสังคมใหม่ ขณะที่การได้เข้ากลุ่ม ได้ทำกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อน ๆ ที่ตั้งใจกลับมาเรียนเหมือนกัน สามารถนำพาประสบการณ์ทางสังคมที่เคยได้รับในโรงเรียนกลับมา”

วรัญญาภรณ์ วันทา

ขณะที่ คติกร ทองนรินทร์ หรือ เนส นักเรียนโรงเรียนเคลื่อนที่จากศูนย์การเรียนซีวายเอฟ อบต.หนองสนิท จ.สุรินทร์ เล่าว่า แนวทางนี้เปิดโอกาสให้เรียนรู้จากชีวิตประจำวัน เช่น งานบ้าน หรืออาชีพหลักของเขา คือ ช่างตัดผม โดยบทเรียนต่าง ๆ จะเชื่อมโยงกับ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เช่น คณิตศาสตร์ผ่านการคำนวณต้นทุนร้าน ศิลปะผ่านการออกแบบทรงผม ฯลฯ

คติกร ทองนรินทร์ (เนส)

“Mobile School ทำให้ผมมีเป้าหมายชีวิตชัดเจน อยากเป็นช่างตัดผมประจำหมู่บ้าน ทุกวันนี้ผมตัดผมได้วันละ 4-5 คน รายได้จากผู้ใหญ่หัวละ 40 บาท เด็กนักเรียนหัวละ 20 บาท บางวันออกตัดผมให้ผู้สูงอายุถึงบ้าน เพราะเขาเดินทางไม่ไหว ผมดีใจที่สิ่งที่ชอบทำให้ชุมชนรักผม และนั่นคือสิ่งที่เปลี่ยนโลกของผมไปเลยครับ”

คติกร ทองนรินทร์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active