สธ. ระดมผู้เชี่ยวชาญเร่งศึกษาฯ คาด 1-2 เดือนได้ผลเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันโรค เป็นข้อมูลให้ผู้บริหารประเทศกำหนดนโยบาย วางแผนเปิดประเทศอย่างปลอดภัย
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564 ที่ ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการศึกษาวิจัยการฉีดวัคซีนโควิด 19 ว่าคณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 มีคณะทำงานด้านวิชาการ ศึกษาวิจัยผลการให้วัคซีนโควิด 19 เพื่อเสนอนโยบายต่อผู้บริหารประเทศ ให้คนไทยได้รับวัคซีนที่ผ่านการรับรองแล้ว มีความปลอดภัย เกิดภูมิต้านทานโรค และเข้าถึงวัคซีนอย่างเป็นธรรม โดยวางกรอบการศึกษา 6 ด้าน ได้แก่ 1. นโยบาย/ระบบการให้วัคซีน เช่น การทำวัคซีนพาสปอร์ตเพื่อรองรับการเปิดประเทศ มีโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ดำเนินการศึกษาเรื่องข้อกำหนดวัคซีนพาสปอร์ตของ 10 ประเทศอาเซียน สถาบันประสาทวิทยาศึกษาผลข้างเคียงของวัคซีนต่อระบบประสาท เป็นต้น
2. ประสิทธิผล/ภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ได้ตัวเลขประสิทธิผลของคนไทย โดย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศึกษาภูมิคุ้มกันในประชากรทั่วไป โรงพยาบาลศิริราช ศึกษาในบุคลากรสาธารณสุข โรงพยาบาลรามาธิบดี ศึกษาในผู้ป่วยโรคไต และกรมการแพทย์ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็ง 3. การบริหารแผนงาน มีการศึกษาเรื่องการลดระยะเวลาการกักตัวคนเดินทางเข้าประเทศ 4. การประกันควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 5. การสื่อสารสู่สาธารณะ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ 6. การติดตามเชื้อกลายพันธุ์
“การวิจัยทั้งหมดได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประมาณเกือบ 50 ล้านบาท คาดว่า 1-2 เดือนข้างหน้าจะมีผลการศึกษาเรื่องภูมิคุ้มกันออกมาก่อนว่า ผลการใช้วัคซีนโควิด 19 ในคนไทยเป็นอย่างไร เหมือนในต่างประเทศหรือไม่”
สำหรับกรณีตลาดย่านบางแคที่พบผู้ติดเชื้อ 200-300 คน ยังมีการค้นหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง นำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษาทั้งหมดเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อต่อ ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานครมีเตียง 1,867 เตียง ใช้ดูแลผู้ป่วย 274 เตียง เหลืออยู่ 1,593 เตียง ถือว่าเพียงพอที่จะรองรับผู้ติดเชื้อได้
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยันวัคซีนแอสตราเซเนกาฉีดได้ในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป
วันเดียวกัน นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้นำเข้าวัคซีนจาก 2 บริษัท โดยระยะเร่งด่วนได้นำเข้าวัคซีนจากบริษัทซิโนแวค เพื่อให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ในจังหวัดที่เป็นพื้นที่ระบาดและจังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ จำนวน 2 ล้านโดส ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2564 ใช้เป็นมาตรการเสริมควบคู่ไปกับมาตรการควบคุมโรค ซึ่งมีข้อบ่งชี้ในการใช้ฉีดในกลุ่มประชากรที่มีอายุ 18 ถึง 60 ปี
ส่วนวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา ประเทศไทยได้สั่งจอง สั่งซื้อจำนวน 61 ล้านโดส สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้งประเทศ มีข้อบ่งชี้การใช้ฉีดในกลุ่มอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ไม่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น โดยวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ได้รับมาล็อตแรก 117,300 โดส ได้นำมาฉีดให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปก่อน แต่เมื่อมีวัคซีนจำนวนมากทยอยส่งมอบจำนวน 61 ล้านโดส จากการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะใช้ฉีดให้กลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มอายุตามแผนการดำเนินงานของกรมควบคุมโรค
ทั้งนี้ การกำหนดกลุ่มอายุที่สามารถรับวัคซีนได้ เป็นไปตามผลการวิจัยในระยะที่ 3 ของแต่ละบริษัท หากทดลองในกลุ่มอายุใดเมื่อมาขึ้นทะเบียนใช้วัคซีนก็จะอนุญาตให้ใช้ในกลุ่มอายุนั้น ๆ ไปก่อน เช่น วัคซีนซิโนแวค ทดลองในกลุ่มประชากร 18-60 ปี เมื่อขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรมการอาหารและยา จะได้รับอนุญาตให้ใช้ตามผลการทดลองในผู้ที่มีอายุ 18 – 60 ปี แต่หากมีข้อมูลเพิ่มเติมในผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือกลุ่มอายุน้อยกว่า 18 ปี แล้วให้ผลไม่ต่างจากผู้มีอายุ 18 – 60 ปี ก็จะสามารถขยายกลุ่มอายุในการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกา การทดลองวิจัยในกลุ่มประชากร 18 ปีขึ้นไป ไม่ได้จำกัดเพดานกลุ่มอายุ และมีผู้ที่เป็นผู้สูงอายุจำนวนพอสมควรในการทดลอง จึงได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ทุกกลุ่มอายุตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป
“ในประเทศแถบยุโรปได้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาให้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มต้น ๆ ส่วนในสหราชอาณาจักรฉีดไปแล้วมากกว่า 16 ล้านโดส มีข้อมูลด้านความปลอดภัย และยืนยันว่ามีผลในการชะลอการเกิดโรค ชะลอการป่วยรุนแรง”
นายแพทย์นคร กล่าวอีกว่า เมื่อฉีดจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ พบว่าแนวโน้มของการระบาดของโรคดีขึ้น จำนวนการป่วยลดลง อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุข ยังคงติดตามทั้งเรื่องความปลอดภัยของการใช้วัคซีน ขอความร่วมมือประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเช่นเดียวกับการสวมหน้ากากที่ทุกคนร่วมมือกัน ไม่ต้องมีกฎหมายบังคับ จะช่วยให้เราผ่านสถานการณ์โรคโควิด 19 ภายในเวลาอันรวดเร็ว