ถามหาความรับผิดชอบจากเจ้าของแบรนด์ หวั่นขยะพลาสติกจากสินค้า กระทบสิ่งแวดล้อม สร้างภาระต้นทุนจัดการขยะแก่ชุมชน หน่วยงานรัฐ
เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 อาสาสมัครกรีนพีซ เก็บขยะพลาสติกที่สวนเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา คุ้งบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ เพื่อตรวจสอบแบรนด์ (Brand Audit) หรือ ยี่ห้อสินค้าจากขยะพลาสติก เพื่อรวบรวมข้อมูลประเภทพลาสติกและแบรนด์สินค้าที่พบในสิ่งแวดล้อม นำมาสรุปเป็นข้อมูลรายปี ว่า พบขยะพลาสติกประเภทใด และแบรนด์ใดมากที่สุด ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกจัดส่งไปถึงแบรนด์สินค้าดังกล่าว เพื่อขอความร่วมมือลดการผลิตพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง
พิชามญช์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า
ยังคงพบขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกค่อนข้างมาก ขยะพลาสติกประเภทดังกล่าวไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สัตว์น้ำ หรือสัตว์ป่าเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงและกลายเป็นภาระต่อชุมชน รวมถึงหน่วยงานที่ต้องจัดการขยะ กลายเป็นต้นทุนที่มองไม่เห็นนั่นคือค่าใช้จ่ายที่ต้องจัดการบรรจุภัณฑ์เหล่านี้หลังกลายเป็นขยะ
คำถามคือ นี่เป็นความรับผิดชอบของชุมชนหรือหน่วยงานเก็บขยะหรือไม่ และเพราะอะไรผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์สินค้านั้น ๆ ไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับการเก็บกวาดหรือจัดการขยะที่ตนเองผลิตขึ้นมา
การตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก เป็นกิจกรรมที่กรีนพีซ ประเทศไทยจัดอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อผลักดันให้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) เป็นมาตราการที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย โดยให้ผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ มีส่วนรับผิดชอบในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อแก้ปัญหามลพิษพลาสติกที่มีมากขึ้น