เด็กภาคเหนือจมฝุ่นพิษทำอายุสั้นก่อนวัยอันควร

แพทย์แนะสร้างห้องคลีนรูมในสถานศึกษา ศูนย์เด็กเล็ก ท้องถิ่นจัดสรรงบฯ ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า ช่วงเวลานี้คนภาคเหนือต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันและ PM2.5 ในระดับที่เกินค่ามาตรฐานต่อเนื่อง ส่งผลต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากอัตราการหายใจของเด็กจะเร็วจึงมีโอกาสที่จะสูดและสัมผัสฝุ่นในปริมาตรที่สูงกว่าผู้ใหญ่ นอกจากนี้ด้วยวัย และกิจกรรม ยังทำให้การป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยเป็นไปได้ยาก และไม่สามารถทนการสวมหน้ากากได้นาน  จึงเสนอให้มีการทำห้องคลีนรูม หรือ สร้างพื้นที่ปลอดฝุ่น เพื่อป้องกันสุขภาพของเด็ก ๆ 

“ ทุกๆ การเพิ่มขึ้นของฝุ่น ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในระดับที่เกินค่ามาตรฐานทำให้เด็กอายุสั้นลงได้ 1 ปี และจากการศึกษาพบว่าเด็กภาคเหนือมีอายุสั้นลง 4-5 ปี จากการสัมผัสฝุ่น การลดฝุ่นจากต้นกำเนิดอาจต้องใช้เวลานาน เชื่อว่าไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี การทำห้องคลีนรูมจึงสำคัญและจะช่วยได้มาก”

ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำห้องคลีนรูมมีหลักการสำคัญ 3 ข้อ 1.ป้องกันฝุ่นไม่ให้เข้าไปในห้อง 2.ฟอกอากาศในห้อง 3.เติมอากาศที่บริสุทธิ์เข้าไปในห้อง ที่ผ่านมาสถาบันฯระดมเงินบริจาคสนับสนุนการทำห้องคลีนรูมตามหลักการข้างต้นนี้  แต่งบประมาณมีจำกัดไม่ทั่วถึง หากท้องถิ่นฯ เล็งเห็นว่าสำคัญ และผลักดันให้ทุกตำบล มีห้องคลีนรูม จัดสรรงบประมาณอย่างจริงจังโดยเริ่มต้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจะทำให้การตั้งรับปัญหานี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพผลักดันประเด็นนี้ต่อเนื่องมา 2-3 ปี แล้วโดยนำร่องที่จังหวัดเชียงใหม่ และเห็นว่าปีนี้ควรมีการขยายโครงการออกไปสู่จังหวัดใกล้เคียงโดยเฉพาะพื้นที่ที่เผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 หนาแน่น เช่น เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน จึงมีการพัฒนาระบบการรายงานค่าฝุ่น ในชื่อ เวบไซต์ NTAQHI ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพของคนภาคเหนือ ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดนำร่อง อบรมความรู้ให้กับครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในการทำเครื่องกรองอากาศแบบง่ายๆใช้เอง DIY พร้อมมอบเครื่องฟอกอากาศ และหน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก โดยมูลนิธิไทยพีบีเอสได้ร่วมสนับสนุนโครงการดังกล่าวด้วย 

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส