ชี้ ทั้งกระบวนการยกร่างและเนื้อหา ขัด รธน. ไม่รับฟังความเห็นก่อนยกร่าง เนื้อหาละเมิดสิทธิการมีส่วนร่วม
วันนี้ (31 มี.ค. 2564) ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคม 250 องค์กร เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและเลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้ยกเลิกกระบวนการร่างและเสนอกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. … หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 เห็นชอบหลักการของร่างกฎหมาย ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ
สาระสำคัญในหนังสือ ระบุว่า กระบวนการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบก่อนเสนอ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบ
อีกทั้ง ร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังมีเนื้อหาที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ ขัดหลักนิติธรรม และไม่เป็นไปตามหลักความจำเป็น ความสมเหตุสมผล และสัดส่วน ตามมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ การจำกัดเสรีภาพในการรวมตัวกันตามมาตรา 42 ขัดสิทธิความเป็นส่วนตัวตามมาตรา 32 และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันตามมาตรา 36 ซึ่งจะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อการดำเนินงานสาธารณะขององค์กรภาคประชาสังคม องค์กรชุมชน หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร นอกจากนี้ยังมีการกำหนดโทษทางอาญาที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด เพียงเพราะไม่จดแจ้งกับหน่วยงานรัฐเท่านั้น
สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางองค์กรพัฒนาเอกชนจะไม่เข้าร่วมอภิปรายรายมาตรา หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดทำรายละเอียดร่างกฎหมายตามที่ ครม. เห็นชอบในหลักการแล้ว เพราะยืนยันให้ยกเลิกทั้งฉบับ และเชื่อว่า หากรัฐบาลยังจะเดินหน้าร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไป ก็จะมีองค์กรภาคประชาสังคมออกมาคัดค้านมากขึ้น ซึ่งอาจรวมไปถึงองค์กรทางศาสนาหรือสภาองค์กรชุมชนอีกจำนวนมากที่จะได้รับผลกระทบด้วย หากร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้
ส่วนกรณีที่ ครม. เมื่อวานนี้ (30 มี.ค.) มีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 – 2565) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอนั้น เห็นว่า เหมือนเป็นการตบหัวแล้วลูบหลัง เพราะเกิดขึ้นหลังจากคว่ำร่างกฎหมายฉบับที่ประชาชนเสนอไปก่อนแล้ว
นอกจากนี้ ตัวแทนกรรมการ กป.อพช. ยังเห็นว่า มติเห็นชอบต่อร่างแผนปฏิบัติการฉบับนี้มีความล่าช้ามาก เพราะควรจะมีการดำเนินการจัดทำแผนตั้งแต่ปี 2559 แล้ว ที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) ภายใต้การดูแลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แต่ผ่านมา 5 ปี เพิ่งจะเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าว
ทั้งนี้ รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุม ครม. เมื่อวานนี้ (30 มี.ค.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ระยะที่ 1 (พ.ศ.2564 – 2565) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม
โดยร่างแผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมให้มีศักยภาพและมีบทบาทเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศ 2) ผลักดันกฎหมาย นโยบาย และกลไกที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมให้เกิดความเข้มแข็ง 3) ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการความรู้และพัฒนาฐานข้อมูลองค์กรภาคประชาสังคม และ 4) สร้างกรอบทิศทางการส่งเสริมองค์กรภาคประชาสังคม ให้ภาคีภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป
ส่วนการขับเคลื่อนจะดำเนินการภายใต้ 4 แผนงาน งบประมาณรวม 81 ล้านบาท ดังนี้ 1) แผนพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถขององค์กรภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็งและมีธรรมาภิบาล 2) แผนพัฒนากฎหมาย นโยบาย กลไก มาตรการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมองค์กรภาคประชาสังคม 3) แผนพัฒนาองค์ความรู้การศึกษาวิจัยเพื่อส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งองค์กรภาคประชาสังคม และ 4) แผนส่งเสริมสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมให้เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศและเชื่อมโยงการทำงานในระดับภูมิภาคและประชาคมโลก
โดยรัฐบาลคาดหวังว่า ร่างแผนปฏิบัติการฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคมให้เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศและเชื่อมโยงการทำงานในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับองค์กรภาคประชาสังคม ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมอย่างสร้างสรรค์ เพิ่มโอกาสการทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน