วัดค่าฝุ่นแตะ 338 มคก./ลบ.ม. วิเคราะห์ สภาพภูมิประเทศ ดักฝุ่น จากเพื่อนบ้าน
สถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือยังวิกฤตวันนี้ (1 เม.ย. 2564) ทุกพื้นที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม หรือมีค่าฝุ่นระหว่าง 51-90 มคก./ลบ.ม.) และระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง หรือมีค่าฝุ่นมากกว่า 90 มคก./ลบ.ม.) โดยภาพรวมจากทั้งหมด 25 สถานีตรวจวัดใน 17 จังหวัดภาคเหนือ มีพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นในระดับสีแดงทั้งหมด 10 พื้นที่ ครอบคลุม 9 จังหวัด และค่าฝุ่นในระดับสีส้มรวม 15 พื้นที่
ส่วนพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นรุนแรงที่สุดคือ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อเวลา 09.00 น. วัดได้ 338 มคก./ลบ.ม. ซึ่งลดลงจากเมื่อวานนี้ (31 มี.ค. 64) ที่สูงถึง 402 มคก./ลบ.ม. ทั้งนี้ พื้นที่ อ.แม่สาย จมอยู่ในค่าฝุ่นที่สูงเกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องติดต่อกันทุกวันมาตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. 2564 (รวม 37 วัน) โดยช่วงแรกค่าฝุ่นยังอยู่ในระดับช่วง 100 มคก./ลบ.ม. แต่เพิ่งจะมาขึ้นสูงมากกว่า 200 มคก./ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา
2 ปัจจัย แม่สายฝุ่นหนัก แม้ไม่มีจุดความร้อนในพื้นที่
เพจ ฝ่าฝุ่น ซึ่งติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ระบุว่า มี 2 เหตุผลที่ทำให้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย จมฝุ่นหนัก ทั้งที่ตัวเลขการเผาในพื้นที่แทบเป็นศูนย์ โดยเหตุผลแรกคือ สภาพภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็น “แก้มลิง” ของระดับภูมิภาค เนื่องจากการอยู่ปลายเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเทือกเขาหิมาลัยในอินเดียนั้นสูงชันมาก เปรียบเสมือนกำแพงที่กั้นฝุ่นและลมไว้ไม่ให้ข้ามเข้าไปในทิเบต จนลมและฝุ่นไหลขนานกำแพงไปลงที่บังคลาเทศ เข้าสู่อ่าวเบงกอล และบางส่วนก็เข้ามาถึงประเทศไทย และวนอยู่ในพื้นที่แก้มลิงนี้
ส่วนเหตุผลที่สองคือ ขนาบข้างพื้นที่ อ.แม่สาย คือ เมียนมา และลาว ก็มีเผาภายในพื้นที่หนักมาก โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รายงานข้อมูลจุดความร้อนเมื่อวานนี้ (31 มี.ค.64) ระบุว่า ยังคงพบจุดความร้อนหนาแน่นที่เพื่อนบ้าน โดยในพื้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 5,183 จุด และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 5,115 จุด
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ว่า ในช่วงวันที่ 3-7 เม.ย. 64 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ภาคเหนือ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง ซึ่งอาจจะช่วยบรรเทาฝุ่นได้ในบางพื้นที่ลงได้