กสศ.โชว์ผลงาน “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” หลังนักศึกษาจบ ปวส. รุ่นแรก 1,106 คน 67% เกรดเฉลี่ย 3.00 ตอกย้ำ “โอกาสทางการศึกษา” เครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ พาครอบครัวหลุดพ้นความยากจน
สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุภายหลังจัดประชุมปัจฉิมนิเทศ “สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ว่า จากการดูแลและพัฒนาทักษะของสถาบันการศึกษาสายอาชีพ 32 แห่งทั่วประเทศ ผ่านการจัดการเรียนการสอน ที่มุ่งให้นักเรียน นักศึกษา มีความรู้ความสามารถในกว่า 41 สาขาวิชา เพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตาม 10 อุตสาหกรรมสมัยใหม่ทั้ง S Curve และ New S Curve สาขา STEM (วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี) รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ตามเป้าหมายที่นโยบายรัฐบาล และความต้องการตลาดแรงงานในท้องถิ่น
ทำให้ในเวลานี้มีนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รุ่นแรก สำเร็จการศึกษาทั้งสิ้น 1,106 คน แบ่งเป็นนักศึกษาทุนในภาคเหนือ 255 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 226 คน ภาคกลาง 281 คน ภาคตะวันออก 165 คน และภาคใต้ 179 คน
ภาพรวมทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. ได้สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนชั้น ม. 3, ม. 6, ปวช. หรือเทียบเท่า เข้าศึกษาในสถานศึกษาสายอาชีพทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 98 แห่ง กระจายใน 14 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคในลักษณะโครงการที่เป็นพันธมิตรกับหน่วยงานในสังกัดของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สถานศึกษาอาชีวเอกชน วิทยาลัยชุมชน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล รวมถึง ร.ร. จิตรลดาวิชาชีพ
ผู้จัดการ กสศ. บอกอีกว่า กสศ. ตั้งเป้าความสำเร็จไว้ 3 ก้าว สำหรับการจบการศึกษาของนักเรียนทุน ถือเป็นความสำเร็จก้าวที่หนึ่ง คือ “โอกาส” จาก 2 ปีก่อนที่เด็กบางคนไม่เหลือความหวัง และแทบไม่ได้เรียนต่อ แต่ตอนนี้มีบัณฑิตจำนวน 1,106 คน ที่ได้รับโอกาสให้เรียนสูงขึ้น ก้าวที่ 2 คือ “การมีงานทำ” โดยตั้งใจว่า ปี 2570 นักศึกษาทุนทุกคนจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ซึ่ง กสศ. ได้เตรียมเว็บไซต์หนังสือรุ่นสำหรับอัปเดทชีวิตไว้แล้ว และก้าวที่ 3 คือ อยากเห็นเด็กทุนเปลี่ยนชีวิตจากรุ่นที่เติบโตมาอย่างอยากลำบาก ไปเป็นมีครอบครัวที่ “หลุดพ้นจากความยากจน”
แม้จะเริ่มจาก 1,106 คน แต่ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าโอกาสทางการศึกษาทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลดลง และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น ซึ่งน้อง ๆ ที่จบการศึกษาในวันนี้เป็นก้าวแรกของความสำเร็จ และไม่ใช่เฉพาะความสำเร็จเฉพาะตัว แต่จะนำไปสู่ก้าวที่สอง ก้าวที่สามต่อไป
สำหรับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง มีประมาณปีละ 2,500 ทุน แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ จบ ม.3 เรียนต่อ ปวช. และ จบ ปวช. เรียนต่อ ปวส. อีก 2 ปี ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นแรกที่จบการศึกษาในส่วนที่เรียนต่อ 2 ปี โดยพบว่า นักศึกษา 1,106 คน มีผลการเรียนเกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป มากถึงร้อยละ 67 ถ้าครบ 5 ปี จะมีนักศึกษาที่ทยอยจบการศึกษาครบ 2,500 ทุน
ขณะที่ทุนจะให้การสนับสนุน 2 ส่วน คือ ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการเรียน ค่าใช้จ่ายรายเดือน และส่วนที่ 2 คือ วิเคราะห์ตลาดแรงงานว่าอาชีพสาขาใดที่มีโอกาสตกงาน ก็จะไม่สนับสนุนให้ทุนในสาขานั้น หรือ สาขาอาชีพที่ตลาดต้องการแต่คุณภาพการเรียนการสอนยังไม่ถึง จะประสานงานกับสถาบันการศึกษา มาร่วมคิดว่าจะช่วยกันพัฒนาอย่างไร โดยแต่ละปีจะมีสถาบันการศึกษาเสนอแนวคิดมาเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัดทำให้แต่ละปียังทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาได้ประมาณ 30 สถาบันเท่านั้น
กิจกรรมปัจฉิมนิเทศ “สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” สำหรับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ผ่านรูปแบบ Online และ onsite จัดขึ้นใน 5 พื้นที่ คือ กรุงเทพมหานคร (เวทีกลาง), เวทีจังหวัดเชียงใหม่, เวทีจังหวัดสงขลา, เวทีจังหวัดนครราชสีมา และเวทีจังหวัดชลบุรี ทั้งยังได้จัดแสดงนิทรรศการผลงานของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รวมกว่า 135 ผลงาน อาทิ ผลงานหุ่นยนต์เคลื่อนย้ายวัตถุ จากวิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เหรียญเงิน จากการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติระดับภาคกลาง ปี 2563 , รถบรรทุกดั้มขนาดเล็กเอนกประสงค์ วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี ภายใต้แนวคิดการลดต้นทางการเกษตรและช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเข้าถึงรถบรรทุกในการใช้งานต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ภายในงานยังมีสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ และ สงขลา พร้อมผู้ประกอบจากภาคเอกชน เชิญชวนนักศึกษาทุนให้ได้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดงานอีกด้วย