‘Learning Passport’ เพิ่มโอกาสเรียนรู้ ช่วยเด็กไทย พ้นกับดักความจน

กสศ. ผุดไอเดีย ‘บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกโรคทางการศึกษา’ เปิดทางเลือกการเรียนรู้ 3 ระบบ รัฐหนุนงบฯ ตรงสู่เลข 13 หลัก เน้นเด็กครอบครัวยากจน เปราะบาง เชื่อ เร่งสร้างทุนมนุษย์ ยกระดับเศรษฐกิจประเทศ หยุดเส้นทางส่งต่อความจนข้ามรุ่น

“ไทยจะไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ หากเราไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์ เพราะการศึกษา ไม่สามารถแยกออกจาก การพัฒนาเศรษฐกิจได้ครับ เด็กไทยได้รับการศึกษาเฉลี่ย 9.32 ปี (เทียบได้กับการจบเพียง ม.3) ประเทศที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ประชาชน มีระดับการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ ได้รับการศึกษาอยู่ที่ 11 – 13 ปี ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรที่สูงตามไปด้วย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ ‘ทุนมนุษย์’ ที่สำคัญต่อการยกระดับรายได้ และเศรษฐกิจของประเทศ

ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ความเห็นส่วนหนึ่งของ ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Resources วิจัยใกล้ตัว ทาง Thai PBS นำไปสู่ที่มาของ ไอเดีย Learning Passport หรือ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกโรคทางการศึกษา เป็นแนวทาง การสร้างระบบหลักประกันโอกาสการศึกษา ให้เด็กเยาวชนตลอด 20 ปี จากปฐมวัย – มีงานทำ ผ่านการบูรณาการข้อมูลรายบุคคลระหว่าง 11 หน่วยงาน ครอบคลุมเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดของประเทศจำนวน 3 ล้านคน และ เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาจำนวน 9 แสนคน

เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง และส่งต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทุกกระทรวง บูรณาการชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาวะ สังคม ครอบครัว แรงงาน การศึกษา ฯลฯ ที่มีอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคนได้รับสวัสดิการ การดูแล พัฒนา และส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ทันเวลา นอกจากนี้ ควรเพิ่มศักยภาพของสวัสดิการแบบมุ่งเป้า (Targeting) เพื่อลดต้นทุนการเข้าถึงการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ

Learning Passport ทางเลือกเรียนรู้ 3 ระบบ

สำหรับการยกระดับบัตรประชาชน ของเด็กเยาวชนทุกคนให้เป็น Learning Passport ทั้งการศึกษา และการเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยรัฐสามารถจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลตรงไปยังเลข 13 หลักของเด็กเยาวชนโดยตรง โดยเฉพาะผู้อาศัยอยู่กับครัวเรือนยากจนและเปราะบาง เพื่อให้เด็กเยาวชนสามารถเลือกศึกษาต่อและเรียนรู้ผ่านการศึกษาทั้ง 3 ระบบ ผ่านหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งของภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชนได้อย่างยืดหยุ่น และหลากหลายตามความถนัด และศักยภาพของเด็กเยาวชนเป็นรายบุคคล รวมทั้งสามารถถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างการศึกษาทั้ง 3 ระบบเพื่อใช้ในการศึกษาต่อ และการสมัครงานได้ในอนาคตได้

ข้อมูลจาก กสศ. และ รายการ The Resources วิจัยใกล้ตัว กำหนดออกอากาศ วันที่ 7 เมษายน 2568

ยูเนสโก ระบุว่า หากลงทุนลดเด็กหลุดนอกระบบ และเด็กทักษะต่ำกว่าพื้นฐาน เพียง 10% จะเพิ่ม GDP แต่ละปีได้ถึง 1 – 2% จึงน่าจะเป็นข่าวดีของ ประเทศไทย เมื่อพบตัวเลขเด็กหลุดระบบการศึกษาน้อยลง จากปีที่ผ่านมามากกว่า 1.02 ล้านคน

ปัจจุบันพบว่า มีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 – 18 ปี หลุดระบบการศึกษา ทั้งสิ้น 982,304 คน ในจำนวนนี้มีสูงถึง 39.46% เป็นเด็กและเยาวชนที่อยู่ในช่วงอายุการศึกษาภาคบังคับ ป.1 – ม.3 ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเรียนรู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต แต่กลับไม่ได้เรียนหนังสือ

อีกอุปสรรคปัญหาหนึ่งของไทย คือ การที่ไทยมีครอบครัวยากจนที่ยังส่งต่อความยากจนข้ามรุ่น “ไม่มีใครอยากเกิดมาจน” เพราะเด็กที่เกิดมาในครอบครัวยากจนส่วนใหญ่ไม่สามารถหลุดออกจากวังวนยากจนได้ จากข้อมูล กสศ. ยังพบด้วยว่า

  • ผู้ปกครองนักเรียนยากจนพิเศษ 60.45% ได้รับการศึกษาเทียบเท่าประถมศึกษา หรือ ต่ำกว่า

  • 21.60% ได้รับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

  • 13.50% ได้รับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

  • 3.10% ได้รับการศึกษาระดับ ปวช. หรือ ปวส.

  • 1.36% ได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า
ข้อมูลจาก กสศ. และ รายการ The Resources วิจัยใกล้ตัว กำหนดออกอากาศ วันที่ 7 เมษายน 2568

ผู้จัดการ กสศ. อธิบายเพิ่มเติมว่า ส่วนใหญ่การเรียนของเด็ก และเยาวชนในครอบครัวยากจนเหล่านี้ มักจะศึกษาในระดับที่ต่ำกว่า หรือ เทียบเท่าผู้ปกครอง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถยกระดับครอบครัว และก้าวข้ามผ่านความยากจนไปได้

“หากสามารถรักษา นักเรียนยากจนพิเศษ ให้อยู่ในระบบการศึกษาได้ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ครัวเรือน ก้าวข้ามกับดักความยากจนข้ามรุ่นได้ ด้วยระดับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังเรียนจบ”

ไกรยส ภัทราวาท

ทุนมนุษย์ ยกระดับเศรษฐกิจ ก้าวข้ามจนข้ามรุ่น

จากข้อมูล ยังพบว่า การศึกษาที่สูงขึ้นมีผลต่อรายได้ที่สูงขึ้นของเยาวชนไทย ตลอดช่วงชีวิตการทำงานถึงอายุ 60 ปี และ รายได้เฉลี่ยที่จะทำให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง คือ 39,288 บาท/เดือน ซึ่งเด็กและเยาวชน จะต้องจบระดับวุฒิที่มากกว่า ป.ตรี แต่ปัจจุบันค่าเฉลี่ยรายได้ของเด็กไทยอยู่ที่ 22,079 บาท/เดือน

  • เส้นทางที่ 1 ถ้าพ่อแม่มีการศึกษาเท่านี้ แล้วลูกก็มีการศึกษาสูงสุดเท่าเดิม จะไม่มีวันออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่นได้เลยในครัวเรือนนั้น และประเทศไทยจะไม่มีวันออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้

  • เส้นทางที่ 2 ถ้าเราใช้ “การศึกษาที่เสมอภาค” ทำให้เยาวชนในครัวเรือนยากจนสามารถมีการศึกษาที่มากกว่าพ่อแม่ของเขาได้ จะเป็นการสร้างทุนมนุษย์ หรือ Human capital ให้มีความก้าวหน้า โดยรุ่นลูกจะมีโอกาสที่ไกลขึ้น เป็นการเอาชนะความน่าจะเป็นเดิม ได้เป็นคนรุ่นแรกที่มีการศึกษาสูงกว่า ป.6 และเป็นคนรุ่นแรกที่มีการศึกษาเกินภาคบังคับ ม.3 (แต่เราคิดว่า มันยังไม่เพียงพอในยุคนี้ สำหรับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ถึง ม.3)

สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ประมวลผลจากข้อมูลจำนวนปีที่เข้ารับการศึกษาโดยเฉลี่ย และรายได้ต่อหัวประชากร จาก UNESCO Institue for Statistics (2023) และ International Monetary Fund (2023) พบว่า ประเทศที่มีประชากรที่ได้รับการศึกษาได้ในระดับที่สูง จะมีแนวโน้มมีรายได้ต่อหัวประชากรที่สูงด้วยเช่นกัน

โดยหากเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่า ไทยได้รับการศึกษาเฉลี่ย 9.32 ปี หรือเทียบกับการจบเพียงมัธยมต้น หรือ ม.3 สูงกว่าประเทศเพื่อบ้านที่มีรายได้ต่ำกว่า อย่าง เวียดนาม และอินโดนีเซีย ขณะที่ประเทศที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าไทย เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ หรือในประเทศเสือเศรษฐกิจในเอเชียอื่น ๆ เช่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ต่างมีประชาชนกรในระดับการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ เวลาเรียนเฉลี่ยอยู่ที่ 11 – 13 ปีทั้งสิ้น

ไกรยส ยังย้ำว่า สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ ทุนมนุษย์ ในการยกระดับรายได้และเศรษฐกิจของประเทศ บางประเทศเคยมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าประเทศไทย แต่ปัจจุบันแซงหน้าไปแล้ว เพราะประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการศึกษา และพัฒนาทุนมนุษย์ เพราะ การศึกษา ไม่สามารถแยกออกจากการพัฒนาเศรษฐกิจได้

ข้อมูลจาก กสศ. และ รายการ The Resources วิจัยใกล้ตัว กำหนดออกอากาศ วันที่ 7 เมษายน 2568

กสศ. จึงมีแนวทางการช่วยเหลือเด็กยากจน ให้มีหลักประกันทางการศึกษาหลายมิติ อาทิ

  • ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของ กสศ. เป็นทุนให้เปล่าที่สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชน จากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ล่างของประเทศ ให้มีโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพในสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน โดยมีประเภททุนต่าง ๆ เช่น ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง อนุปริญญา (ระยะเวลา 2 ปี), ประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล ประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ (ระยะเวลา 1 ปี), ประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล (ระยะเวลา 6 เดือน)

  • สายสามัญก็มีการเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนยากจนและนักเรียนยากจนพิเศษ ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) พบว่า ในปีการศึกษา 2567 สถานการณ์การหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษยังอยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง รอยต่อสู่ระดับอุดมศึกษา ช่วงอันตรายที่ทำให้นักเรียนยากจนพิเศษไปไม่ถึงฝั่งฝัน มีนักเรียนยากจนและนักเรียนยากจนพิเศษที่สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2563 จำนวนเพียง 22,345 คน จากนักเรียนทั้งหมด 165,585 คน หรือคิดเป็น 13.49% (เพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2565-2566 ราว 1-2%) ที่สามารถคงอยู่ในระบบการศึกษาจนสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ในปีการศึกษา 2567

  • อีกด้านหนึ่งคือทุน ODOS ของรัฐบาล โดย กสศ. เป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการ ที่จะผลักดันให้เด็กยากจนได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ และโปรแกรมการศึกษาที่สร้างรายได้สูง

“ทั้งหมดนี้ กสศ. โฟกัสที่เด็กกลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยต่ำกว่าเส้นความยากจน เพื่อเปลี่ยนอนาคตประเทศไทย จะเห็นว่า หลายเจเนอเรชันที่ผ่านมาในครัวเรือนรายได้น้อย แทบไม่มีการศึกษาสูงกว่า ป.6 – ม.ต้น เลย ดังนั้นระยะเวลาการศึกษาหลัง ป.6 ราว 7 ปี เปลี่ยนอนาคตประเทศได้”

ไกรยส ภัทราวาท


ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมใน รายการ The Resources วิจัยใกล้ตัว กำหนดออกอากาศวันที่ 7 เมษายน 2568 ทาง Thai PBS

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active