หลังพบบางแห่งเตียงว่าง บางแห่งเตียงล้น ย้ำ สธ. วางหลักผู้ป่วยทุกรายต้องรักษาใน รพ. แต่ให้ส่งตัวผู้ป่วยไป รพ. ที่มีเตียงว่างหรือข้ามเครือข่ายฯ ได้
วันนี้ (9 เม.ย. 2564) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงเมื่อช่วงบ่าย เรื่องการบริหารจัดการเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ระบุ กรมการแพทย์เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องนี้ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน โดยที่ผ่านมาก็มีการประชุมต่อเนื่องแม้จะเป็นช่วงที่ไม่มีการระบาด
โดยพื้นที่ กทม. มีทั้งหมด 2,532 เตียง ในจำนวนนี้ เป็นเตียงในเครือข่ายของเอกชนจำนวน 1,656 เตียง หรือ 65.4% โดยการระบาดระลอกแรก เอกชนรับไปแค่ 40% เท่านั้น ขณะที่ข้อมูลล่าสุดวานนี้ (8 เม.ย.) โรงพยาบาลในเครือเอกชนยังมีเตียงว่างจำนวน 293 เตียง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นมาขณะนี้ มาจากการบริหารจัดการเตียงของเครือข่าย รพ.เอกชน โดยบาง รพ.เอกชน มีเตียงว่าง แต่บาง รพ. กลับมีผู้ป่วยมากล้นจำนวนเตียง
นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้วางแนวคิดการบริหารจัดการเตียงเพื่อรับคนไข้ ผู้ติดเชื้อทุกรายไว้ว่า ผู้ติดเชื้อทุกคนควรได้รับการการรักษาใน รพ. ไม่ให้รักษาที่บ้าน โดย รพ. ที่ตรวจพบเชื้อ ก็จะต้องดำเนินการประสานในเครือข่ายเอกชนด้วยกัน เพื่อให้ผู้ป่วยทุกรายได้เข้ารับการรักษาใน รพ. โดยหลักการนี้เป็นข้อตกลงที่ใช้มาตลอดปีที่ผ่านมาแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น โดยสิ่งที่ต้องดำเนินการในขณะนี้คือ รพ.เอกชน ต้องรับข้ามเครือข่าย
นอกจากนี้ กรมการแพทย์ ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ยังได้ร่วมกันจัดหา Hospitel จำนวน 500-1,000 เตียง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในภาย 1-2 วันนี้ เฉพาะวันนี้ (9 เม.ย.) ได้จัดเตรียมไว้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) จำนวน 40 เตียง ขณะที่ ม.ธรรมศาสตร์ เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามอีก 450 เตียง ภายในสัปดาห์นี้ โดยผู้ติดเชื้อที่ต้องการเตียง สามารถโทรสอบถามได้ที่เบอร์ 1668 สายด่วนกรมการแพทย์