‘อธิบดีกรมการแพทย์’ ย้ำ เตียงมีเพียงพอ ทั่วประเทศยังเหลือว่าง 18,257 เตียง กทม. เหลือ 2,069 เตียง ขอเฉพาะผู้ติดเชื้อโทรสายด่วนประสานขอเตียง และอดทนรอเจ้าหน้าที่ พร้อมรถพยาบาลไปรับ
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า นโยบายกระทรวงสาธารณสุขจัดการเตียงให้เพียงพอในการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยผู้ป่วยทุกคนต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล จึงวอนขอให้ผู้ติดเชื้อไม่รักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน เพราะอาจเป็นผู้แพร่เชื้อต่อให้ผู้อื่นได้
โดยช่องทางในการประสานขอเตียง คือ หมายเลข 1668 สายด่วนกรมกรมการแพทย์ รับสาย 08.00 – 20.00 น. 1330 สายด่วน สปสช. 1679 สายด่วนจัดการเตียงใน กทม. ซึ่งในส่วนของสายด่วนจัดการเตียงใน กทม. จะเริ่มอย่างสมบูรณ์ในวันพรุ่งนี้ (13 เม.ย.)
ระหว่างรอเตียง และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ขอให้ผู้ติดเชื้อแยกตัวเองอยู่ลำพัง ไม่สัมผัสใกล้ชิดบุคคลอื่น และอดทนรอ เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการประสานหาเตียงได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำว่าไม่ว่าจะเป็นการรักษาในสถานที่ใด ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ติดเชื้อจะไม่ถูกเรียกเก็บเงินโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะมีสิทธิประกันสุขภาพของตนเอง
“ตามหลักแล้วผู้ติดเชื้อจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลักเพื่อดูอาการอย่างน้อย 3-5 วัน ก่อนที่จะส่งต่อไปที่โรงพยาบาลสนามหรือ Hospital แต่หากกรณีมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จนเตียงในโรงพยาบาลหลักมีไม่เพียงพอ ก็จำเป็นต้องส่งตัวผู้ติดเชื้อไปที่โรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel ทันที”
ข้อมูลล่าสุด วันที่ 11 เม.ย. 2564 จำนวนเตียงทั้งหมด ทั้งในส่วนของโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel จากทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งหมด 23,483 เตียง ยอดผู้ป่วยที่ใช้เตียงจำนวน 5,226 เตียง คงเหลือเตียงว่าง 18,257 เตียง
ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีเตียงรองรับผู้ป่วยจากทุกหน่วยงาน รวมทั้งรัฐและเอกชน รวมไปถึงโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel มีจำนวนทั้งหมด 3,967 เตียง มีผู้ป่วยใช้เตียงจำนวน 1,898 เตียง คงเหลือเตียงว่าง 2,069 เตียง
อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า จำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ซึ่งยังต้องเฝ้าระวัง อาการปอดติดเชื้อหรือปอดอักเสบ จะมีพยาบาลคอยดูแล วัดความดัน วัดไข้ และวัดออกซิเจนในเลือดทุกวัน หากมีอาการแย่ลง จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลักทันที และไม่ว่าจะเป็นการรักษาในสถานที่ใด ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ติดเชื้อจะไม่ถูกเรียกเก็บเงินโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะมีสิทธิประกันสุขภาพของตนเอง
“ตราบใดที่ผู้ติดเชื้อยังพุ่งไปไม่ถึง 10,000 คนต่อวัน ก็ยังมีเตียงในระบบสาธารณสุขรองรับ ซึ่งประชาชนไม่ต้องรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน ให้ต้องมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่อ”
ส่วนกรณีที่มีผู้ติดเชื้อ รักษาตนเองอยู่ที่บ้านตามคำแนะนำของแพทย์นั้น ยืนยันว่าไม่ใช่นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข แต่ยอมรับว่าคู่มือการรักษาโรคโควิด-19 ของแพทย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ การรักษาตามอาการ นอกจากจะพบว่าปอดอักเสบ จึงจะใช้ ยาฟาวิพิราเวียร์ ในการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีอาการ แต่จำเป็นต้องกักตัวไว้เพื่อไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อ แล้วเฝ้าสังเกตอาการเป็นประจำทุกวัน เพราะ โควิด-19 ยังเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังต้องใช้เวลาในการเก็บรวบรวมอาการทางคลินิกและการรักษา ให้ชัดเจน