แนะ เร่งลดอุบัติเหตุ ให้ได้ตามเป้าลดตายครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 ทศวรรษที่ 2 การจัดการความปลอดภัยทางถนน
วันนี้ (17 เม.ย. 2564) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2564 สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วัน ของการรณรงค์ 10 – 16 เม.ย. 2564 เกิดอุบัติเหตุ รวม 2,365 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 277 คน ผู้บาดเจ็บ รวม 2,357 คน ส่วนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 106 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ปทุมธานี 10 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 109 คน
บุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ปภ) เปิดเผยว่า เฉพาะวันที่ 16 เม.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ 7 ของการรณรงค์ ยังพบสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือขับรถเร็ว ร้อยละ 35.18 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 22.13 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.27 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 58.10 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.13 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.15 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 33.20 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดเฉพาะวันที่ 16 เม.ย. อยู่ในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 17.79
นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก ด้านการป้องกันอุบัติเหตุ กล่าวว่า ถ้าเทียบสถิติอุบัติเหตุปีนี้กับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันพบว่ามีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากกว่า เพราะช่วง 7 วันอันตรายปีนี้เสียชีวิตมากถึง 277 คน ขณะที่ปีที่แล้วเสียชีวิต 167 คน ปีนี้มีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน 2,357 คน ต่างจากปีที่แล้ว ที่บาดเจ็บ 1,260 คน
“แต่ละปีจะมีสาเหตุส่วนใหญ่มากจากการ ขับรถเร็ว และเมาแล้วขับ จากปัจจัยเดิมๆ ซึ่งหากวิเคราะห์การเพิ่มขึ้นของการเสียชีวิตและอุบัติเหตุ ในช่วง 2 ปีล่าสุด (พ.ศ.2563-2564) ที่มีการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ร่วมด้วย พบว่าปีนี้ที่คนเสียชีวิตมาก ส่วนหนึ่งอาจเพราะไม่มีมาตรการ ห้ามขายเหล้า ไม่มีเคอร์ฟิว ไม่ห้ามเดินทาง จึงทำให้คนยังมีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ”
นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน
กล่าวว่า ถ้าเปรียบเทียบ ช่วงสงกรานต์ปี 2562 ที่ยังไม่มีโควิด-19 พบว่า สงกรานต์ปี 2563 เทียบกับปี 2562 การเสียชีวิตลดลงร้อยละ 56.7 เพราะมีการล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว การห้ามขายเหล้า เป็นยาแรง 3 ตัว ขณะที่การเมาเป็นสาเหตุการเสียชีวิตร้อยละ 10
ส่วนสงกรานต์ปี 2564 เปรียบเทียบกับสงกรานต์ 2562 การเสียชีวิตลดลงเพียงร้อยละ 28.2 เพราะว่าแม้จะมีการปิดผับ สถานบันเทิง, แต่การดื่มเหล้า ยังทำได้ปกติตามบ้านเรือน-ชุมชน จึงทำให้เห็นตัวเลขการเมาแล้วขับเป็นสาเหตุเสียชีวิตร้อยละ 29.6
“ขณะนี้ไทยเองเข้าสู่ ทศวรรษที่สอง ของการดําเนินการเพื่อความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2564 – 2573 (2021 – 2030) ซึ่งเราต้องเน้นเรื่องเป้าหมายลดตายครึ่งหนึ่ง ให้เหลือการเสียชีวิต 12 คน ต่อแสนประชากร ซึ่งขณะนี้การเสียชีวิตยังอยู่ที่ 27 คน ต่อแสนประชากร ไทยจึงควรเน้นความสำคัญ ด้านกลไกจัดการให้เข้มแข็ง, ระดับ นโยบาย-จังหวัด-อำเภอ-อปท. โดยเฉพาะ อปท. ต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดการความปลอดภัยมากกว่านี้ และต้องมีเจ้าภาพหรือหน่วยงานที่จะมาจัดการอย่างเป็นระบบ โดยยึดแนวทางระบบแห่งความปลอดภัย safe system approach”