“ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” รุ่นที่ 3 สานฝันเด็กยากจนเรียนต่อ “สายอาชีพ” จนจบปริญญา หลังพบสัดส่วนเด็กกลุ่มยากจนที่สุด มีโอกาสเรียนต่อหลังจบ ม.ปลาย เพียง 5% แนะรัฐเพิ่มทุนสายอาชีพ เยียวยาเศรษฐกิจระยะยาว
ผลกระทบด้าน “การศึกษา” ยังคงเป็นอีกปมปัญหา ที่ต้องเผชิญในช่วงเวลาที่การระบาดโควิด-19 ยังไม่ทีท่าว่าจะคลี่คลาย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเวลานี้ ยิ่งสะท้อนความเหลื่อมล้ำ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น สิ่งนี้กระทบโดยตรงต่อเด็ก และเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในครอบครัวขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งพวกเขาเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา หนักสุด คือการเลื่อนชั้นเรียน และ เรียนต่อ ที่ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ
เพื่อไม่ให้เด็กกลุ่มนี้ถูกตัดโอกาสทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ริเริ่ม “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” หนึ่งในแหล่งทุนให้เปล่า เพื่อช่วยให้เด็ก และเยาวชน จำนวนไม่น้อยมองเห็นทางเลือก และไม่ต้องตัดสินใจทิ้งโอกาสทางการศึกษา TheActive พาไปทำความรู้จักกับทุนฯ นี้
ทุนสร้างโอกาส “เด็กช้างเผือก”
ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีเด็กกลุ่มช้างเผือก (Resilient Student) หรือ เด็กที่มีฐานะยากจนในกลุ่ม 25% ล่างสุดของประเทศ แต่มีความรู้ความสามารถในระดับเทียบเท่ากับเด็กที่เรียนดี มีอยู่ประมาณ 3.3% ของเด็กกลุ่มยากจน หรือคิดเป็น 6,111 คน
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD สำรวจเด็กช้างเผือก กลุ่มนี้ พบว่า กว่า 80% มีความคาดหวังต้องการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่จากข้อเท็จจริง เยาวชนจากครอบครัวที่มีรายได้ อยู่ในกลุ่มต่ำสุด 20% แรกของไทย มีโอกาสศึกษาต่อระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย เพียง 5% เท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนที่ต่ำ กว่าค่าเฉลี่ยของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งมีโอกาสศึกษาต่ออยู่ที่ 32% มีช่องว่างทางการศึกษาแตกต่างกันถึง 6 เท่า
“เด็กกลุ่มนี้หากไม่ได้รับการสนับสนุนในด้านทุนการศึกษาให้เรียนต่อ ก็มีแนวโน้มที่จะต้องออกนอกระบบการศึกษา หรือรับการศึกษาในมาตรฐานคุณภาพที่ไม่สามารถทำให้ศักยภาพได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ กลายเป็นแรงงานด้อยทักษะ ซึ่งจะเป็นการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์อันมีคุณค่าของประเทศไปอย่างน่าเสียดาย”
กสศ. จึงริเริ่ม “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อทุนนี้ เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มเด็กช้างเผือก ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือ ด้อยโอกาส ได้เรียนต่ออย่างเต็มศักยภาพ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้รับการศึกษาต่อตั้งแต่ ระดับปริญญาตรี, ปริญญาโท และ ปริญญาเอก โดยไม่ต้องใช้ทุนคืนเมื่อเรียนจบการศึกษา ถือเป็นทุนแรกของรัฐบาล ที่ส่งเสริมการศึกษาสายอาชีพ ในสาขาที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0
ไม่เพียงส่งเสริมเฉพาะการเรียนต่อระดับสูง แต่นักศึกษาทุนฯ ต้องสามารถคิดค้นนวัตกรรมได้ ด้วยระบบหนุนเสริมนักศึกษารายบุคคล (Individual Development) ทั้งทักษะวิชาการที่เป็นพื้นฐานการเรียนรู้สำคัญ ทักษะในศตวรรษที่ 21 และ ทักษะชีวิต (Soft Skills and Life Skills) ถือเป็นการพัฒนา ต้นแบบเส้นทางการศึกษาสายอาชีพ (Pathway) ที่ต่อเนื่อง และพัฒนาบุคลากรเฉพาะทาง ทำนองเดียวกับประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์
แนะรัฐเพิ่มทุนสนับสนุน “เด็กช้างเผือก” เรียนต่อเต็มศักยภาพ
The Active ได้รับข้อมูลผลวิจัยจาก กสศ. เกี่ยวกับการลงทุนส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และด้อยโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับสูง เพื่อสร้างกำลังคนสายอาชีพที่มีคุณภาพ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของไทยในอนาคต โดยให้ผลตอบแทนสูงกว่า 10% และให้ผลตอบแทนทั้งในส่วนบุคคล ต่อสถานประกอบการ และต่อสังคม ซึ่งการลงทุนลักษณะนี้ ทำในหลาย ๆ ประเทศ ที่เน้นการส่งเสริมให้ชนกลุ่มน้อย คนยากจน คนชายขอบ ได้เข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา ด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างเต็มที่ เพราะเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในการช่วยเหลือให้พวกเขาสามารถเลื่อนยกระดับทางสังคม (Social Mobility) และ ส่งผลถึงการขจัดความยากจนข้ามชั่วคน (Generations) ได้
แต่ระบบสนับสนุนการศึกษาสายอาชีพของไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก มีน้อยกว่าสายสามัญ ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ระบุว่า การศึกษาต่อในระดับสูงของนักศึกษาสายอาชีพมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ นักศึกษาที่จบระดับ ปวช. มีจำนวน 656,981 คน ระดับ ปวส. 362,161 คน และระดับปริญญาตรี 9,819 คน ขณะที่ปี 2562 พบข้อมูลนักศึกษาสายอาชีพ ออกกลางคันถึง 80,000 คนต่อปี โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโรคระบาด อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงทำให้นักเรียน นักศึกษา ออกกลางคันเพิ่มขึ้นด้วย
เปิดรับสมัคร “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” รุ่นที่ 3
ขณะนี้ “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครรอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 15 – 30 เมษายน 2564 โดยผู้สมัครจะต้องเป็นผู้ที่กำลังจบการศึกษาระดับ ปวช. / ปวส. หรืออนุปริญญา มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 และ กำลังเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี
กรณีที่เป็นผู้สำเร็จการศึกษามาแล้วไม่เกิน 3 ปี ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 3.00 สำหรับลูกจ้างพนักงานที่มีคุณสมบัตินี้ สามารถสมัครขอรับทุนได้เช่นกัน ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.eef.or.th/ หรือโทร. 02-079-5475 กด 4 ตามวันเวลาราชการ