โควิด-19 กระตุ้นการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา ยกระดับมาตรฐานความรู้ไทย

อธิการฯ สจล. ชี้ โควิด-19 “รุก รับ ปรับเปลี่ยน” แนะ มหาวิทยาลัย ต้องปรับหลักสูตรเท่าทันโลก ย้ำ ต้องพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม AI ก่อนถดถอย ไม่ทัดเทียมนานาชาติ

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2564 ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ “พี่เอ้” ร่วมสะท้อนมุมมองของปรากฏการณ์โควิด-19 ผ่านเทคโนโลยีการศึกษา ในรายการ Active Talk ตอน รุก รับ ปรับเปลี่ยน จากบทเรียนโควิด-19 โดยระบุถึงการปรับตัวของมหาวิทยาลัยในการเป็นส่วนสนับสนุนการรับมือกับโควิด-19 และการปรับตัวของอนาคตการศึกษาไทย

เขาบอกว่านับตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่มีการระบาดใหม่ของโควิด-19 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมสู้โควิด-19 โดยมีการริเริ่มจัดทำเครื่องช่วยหายใจขนาดเล็กสำหรับใช้ยามฉุกเฉิน (KMITL Mini Emergency Ventilator) และตู้ความดันบวกสำหรับการตรวจเชื้อเชิงรุก รถตู้ความดันบวก รวมถึงตู้ติดเชื้อความดันลบที่ติดตั้งตามโรงพยาบาล หรือตั้งรับเพื่อกรองผู้ป่วยก่อนเข้ามายังโรงพยาบาล รวมกว่า 1,000 ชิ้นแจกจ่ายให้กับสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

ข่าวดีวันนี้คือเราสามารถสร้างเครื่องช่วยหายใจประเภททันสมัยสูงที่ใช้ระบบเครื่องเป่าลมสำหรับเป็นครั้งแรกของแผ่นดินไทยแล้ว ซึ่งในอดีตนำเข้าต่างประเทศทั้งหมด แต่วันนี้ผลิตได้แล้วโดยนักวิจัยของเรา

ในเรื่องของการศึกษา เราจะรุก รับ ปรับเปลี่ยนอย่างไร สำหรับระบบการศึกษาไทยควรจะไปอย่างไรต่อ? พี่เอ้ ระบุว่า ต่อให้ไม่มีโควิด-19 การศึกษาไทยก็วิกฤตหนัก เพราะสู้กับมาตรฐานโลกไม่ได้ ดังนั้น ระบบการศึกษาจึงควรจะเปลี่ยนในตามทันโลกทันยุคสมัย เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ เทียบชั้นได้กับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ที่มีความความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด

อเมริกา จีน แข่งกันรุนแรงเรื่องเทคโนโลยี ทำให้แต่ละประเทศ ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย อาหรับเอมิเรตส์ ต่างก็พยายามผลักดัน ยกระดับทางการศึกษา แต่ไทยยังย่ำอยู่กับที่ ทั้งที่จริงเทคโนโลยีเรื่องการเรียนของไทยเกิดขึ้นมานานแล้ว แพลตฟอร์มก็มีอยู่แล้ว อินเทอร์เน็ตก็มีอยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่ได้ช้ากว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เพียงแต่ว่าเราไม่ชอบทำคอนเทนต์กัน เพราะคิดว่าสอนแบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว ดังนั้น ต่อให้มีอินเทอร์เน็ตที่เร็วที่สุดในโลก มี Wi-Fi (wireless fidelity) ทั่วถึงมันก็เปล่าประโยชน์

โดยหลังจากโควิด-19 ระบาด และรัฐบาลได้ประกาศให้มีการเรียนออนไลน์พบว่า มีการให้ความสนใจเรื่องนี้จำนวนมาก และพิสูจน์ว่าการสอนออนไลน์สามารถทำได้ ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมมีการเรียนออนไลน์ไม่ถึงหมื่นคน แต่หลังจากนั้นก็มีการเรียนออนไลน์เพิ่มขึ้นนับแสนคน ซึ่งเป็นการกระตุ้นจากโควิด-19 แง่หนึ่งโรคระบาดจึงเป็นข้อดี

แต่ต่อให้สามารถเรียนออนไลน์ที่ไหนก็ตาม เรื่องของการสร้างผู้นำ การสร้างพลเมืองไทยที่ดี การสร้างการทำงานเป็นทีม การเรียนในห้องยังมีความจำเป็นอยู่ ไม่สามารถเอาการเรียนออนไลน์มาทดแทนได้ ในอนาคตอาจจะได้ แต่วันนี้การเรียนในห้องยังมีความจำเป็นอยู่

ทั้งนี้ ยังมองว่ามหาวิทยาลัยก็ต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้ทันกับโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพราะหากไม่มีการพัฒนา การศึกษาก็ถดถอย ไม่ทัดเทียมนานาชาติ

พูดถึงเครื่องมือแพทย์สิงคโปร์ ก็พัฒนาเครื่องมือแพทย์ไปแล้ว เป็นผู้ส่งออกเครื่องมือแพทย์ที่สำคัญไปแล้ว แต่ประเทศไทยยังบ๋อแบ๋ หมอไทยยังทำงานมือเปล่า ขาดเครื่องมือแพทย์ ประเทศไทยก็มีแต่สาละวันเตี้ยลง ในอนาคตคงต้องส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศกันหมด

ศ.สุชัชวีร์ ทิ้งท้ายว่า ความจำเป็นในอนาคต คือ ทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ เพราะเด็กไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงคอมพิวเตอร์ และการใช้ปัญญาประดิษฐ์มากนัก จึงจำเป็นที่เด็กรุ่นใหม่จึงศึกษา และนำมาใช้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในสังคม

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้