“ดูแลอย่างใส่ใจ ร่วมมือรักษากติกา” ถอดบทเรียน รพ.สนามธรรมศาสตร์

‘ผศ.ปริญญา’ ในฐานะผู้จัดการโรงพยาบาลฯ ชี้ ใช้คนไข้เป็นศูนย์กลาง ดูแลอย่างใส่ใจ ร่วมมือรักษากติกา แบ่งปันประสบการณ์ทำงานใหม่ของบุคลากรในมหาวิทยาลัยฯ

หลังประกาศปิดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ รอบ 2 ไปวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมาเนื่องจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในขณะนั้นค่อนข้างควบคุมได้ดี จำนวนผู้ป่วยลดลงต่อเนื่อง และสถานพยาบาลหลักมีศักยภาพเพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยที่ยังคงค้างการรักษา แต่เพียงเวลาไม่ถึงเดือน โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ก็ต้องเปิดให้บริการอีกครั้ง เนื่องจากมีกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่จากสถานบันเทิง กระทั่งกลายเป็นการระบาดระลอกใหม่ และมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งการระบาดที่รุนแรงนี้ทำให้ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ต้องปรับตัวมากขึ้น เพื่อแบกรับภาระงานที่หนักขึ้น

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564 Active Talk คุยกับ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะ ผู้จัดการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “ปริญญา” นอกห้องเรียน เปลี่ยนรั้วมหาลัยสู่ รพ.สนามธรรมศาสตร์

ผศ.ปริญญา ระบุว่า โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เปิดให้บริการโดยเปลี่ยนจากหอพักในมหาวิทยาลัย เป็นที่พักคนป่วยอาการไม่รุนแรง เพื่อแบ่งเบาการดูแลมาจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยมีทีมงานหลายฝ่าย ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เป็นผู้รับผิดชอบดูแลด้านสาธารณสุข การตรวจสุขภาพของผู้ป่วย นักสังคมสงเคราะห์มาช่วยเหลือเยียวยาด้านจิตใจ เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย คอยดูแลความสะอาดเรียบร้อยของอาคารสถานที่ และตัวเอง ในฐานะผู้จัดการโรงพยาบาลสนามฯ ที่ดูแลการจัดการในภาพรวม

ในแง่ของ การบริหารจัดการสถานที่ การระบาดระลอกนี้มีความแตกต่างกับ 2 ครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้ต้องเพิ่มจำนวนเตียง จาก รอบแรก 100 เตียง รับผู้ป่วยมาจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รอบสอง 308 เตียง มีการเปิดรับคนไข้จาก 8 โรงพยาบาลในจังหวัดปทุมธานี และ รอบสาม ครั้งนี้ เพิ่มเป็น 494 เตียง เปิดรับจากทุกโรงพยาบาลที่มาขอใช้พื้นที่ ก่อนหน้านี้จัดให้มีการพัก 1 คนต่อห้อง แต่เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมาก จึงต้องจัดเตียงกระดาษเสริม และให้นอนรวมกันเป็น 2 คนต่อห้อง โดยถือว่ามีความเป็นส่วนตัวมากกว่าโรงพยาบาลสนามแบบเปิดโล่งอย่างที่พบเห็นบ่อยในคลิปวิดีโอ

บางอย่างก็เป็นเรื่องท้าทาย เช่น การต่อเตียงกระดาษ ช่างเขาก็ไม่เคยทำมาก่อน ไม่มีในสารบบมาก่อน ก็ต้องไปดูอันไหนหัวท้าย ต่อขึ้นโครงกันอย่างไร ก็มีการชวนนักศึกษาอาสามาเพิ่มเติม ช่วยเจ้าหน้าที่ทำงาน จนทำให้ได้เตียงเพิ่มมาเป็นทั้งหมด 494 เตียง เกือบ 500 เรียกว่าเต็มพิกัดแล้ว ตอนแรกคนมาเยอะ แต่ตอนนี้สถานการณ์เริ่มจะทรงตัวแล้ว

สำหรับหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการคน ซึ่งพบว่าโรงพยาบาลสนามหลายแห่งมีปัญหามาก ทั้งการทำผิดกฎระเบียบของผู้ป่วย หรือการดูแลที่ไม่ทั่วถึงเพียงพอ ผศ.ปริญญา กล่าวว่า สิ่งแรกที่ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ต้องเผชิญ คือความไม่เชื่อมั่นและหวาดระแวงภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ตนจึงได้มาพักภายในโรงพยาบาลสนามด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจว่า มีการรักษามาตรฐานด้านสาธารณสุข และที่นี่ไม่ใช่แหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค พร้อมสนุบสนุนงานของเจ้าหน้าที่ภายในอาคาร ทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัย และพนักงานรักษาความสะอาด ให้มีอุปกรณ์ในการป้องกันตัวเองอย่างเพียงพอ ได้รับชุด PPE สำหรับใส่ป้องกันเชื้อเมื่อต้องทำความสะอาดหรือดูแลพื้นที่บนอาคาร ซึ่งเป็นชุดที่สามารถใส่ซ้ำได้ 30-50 ครั้ง ลดปริมาณขยะอีกด้วย

ชุด PPE ที่มีส่วนประกอบจำนวนมาก หากใช้ครั้งเดียวทิ้ง จะกลายเป็นขยะจำนวนมากมายมหาศาล สมมติหากใช้ชุด PPE ส่งอาหาร 3 เวลา ขึ้นไปเก็บขยะอีกวันละ 1 ครั้ง ขึ้นไปทำความสะอาดห้องอีก 2 ครั้งต่อวัน ลองคูณดูว่าชุด PPE ซึ่งเป็นขยะติดเชื้อจะมากมายขนาดไหน ดังนั้น ธรรมศาสตร์จึงริเริ่มการใช้ชุด PPE แบบซักได้ใช้ซ้ำ ก็ได้รับบริจาคมา ซึ่งแม่บ้านทุกคนดีใจที่ได้ชุด

อีกส่วนที่ขาดไม่ได้ คือ การดูแลผู้ป่วย โดยเน้นการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ (work smart) ดูแลให้ผู้ป่วยสบายกาย สบายใจ “เอาคนไข้เป็นศูนย์กลาง” แต่ก็ขอให้อยู่ในแนวปฏิบัติ พร้อม ๆ กับการร่วมดูแลรักษาโลกด้วยการลดปริมาณการผลิตขยะไปด้วยกัน อันดับแรก ทุกคนที่เข้ามายังโรงพยาบาลสนามจะต้องรับทราบถึงข้อควรระวัง เช่น ไม่ควรออกนอกห้องพักของตนเอง และขอความร่วมมือในการรักษาความสะอาด ไม่สูบบุหรี่ ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ลงมานอกอาคาร อันดับสอง คือ การดูแลของใช้ส่วนตัวของตนเอง

ก่อนหน้านี้มีญาติผู้ป่วยบางคนเอาถ้วยโฟมมาให้ กะจะกินแล้วทิ้งเลย ซึ่งมันจะกลายเป็นขยะโฟมอีกจำนวนมาก เราก็เอาจานชามช้อนส้อมไปให้เขา ให้ล้างเองและใช้ซ้ำได้ทั้งวัน แม้ว่าเราจะเอาคนไข้เป็นศูนย์กลาง แต่ก็ไม่ได้ตามใจทุกอย่าง เช่น การสูบบุหรี่ที่ระเบียง เราก็ขอความร่วมมือเพราะมันกระทบกับห้องอื่นด้วย ก็บอกเขาว่าโควิด-19 ทำลายปอดอยู่แล้ว สูบบุหรี่ก็ทำลายปอดเข้าไปอีก หรือถ้าอยากได้อะไรเพิ่มเติมก็โทรศัพท์มาบอก เดี๋ยวเอาขึ้นไปให้ตามรอบ แต่การแยกห้องของเรา ทำให้การที่ผู้ป่วยเล่นเกมหรือคุยกัน ไม่ได้เป็นปัญหา เราก็ให้สิทธิเขาจะทำอะไรให้ห้องก็ได้ เพราะเราแยกห้องหมด แต่เคารพคนร่วมห้องเท่านั้น

ทั้งนี้ ผศ.ปริญญา ยังได้แสดงข้อกังวลถึงการนำเข้าและกระจายวัคซีนโควิด-19 ว่า มีความล่าช้า ไม่เพียงพอ และหากไม่วางแผนในการกระจายการฉีดวัคซีนให้ดี อาจเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มอภิสิทธิ์ชนก่อนประชาชนทั่วไป

ท่านนายกฯ จะอ่านชื่อวัคซีนผิด ๆ ถูก ๆ ไม่เป็นไร แต่ต้องรีบหามา และอีกข้อหนึ่งคือว่า วัคซีนมาทีละ 2-3 แสนโดส ไม่พอเรื่องหนึ่ง แต่แจกจ่ายให้ใคร ปัญหาของเราคือว่า ถ้าของมีน้อย แล้วการกระจายไม่วางแผนให้ดี มันจะไปอยู่กับอภิสิทธิ์ชนในการได้รับวัคซีน คนยากคนจนไม่ได้รับวัคซีนสักทีหนึ่ง เพราะการกระจายน้อย อันนี้ไม่ดี หลักการคือต้องให้กับกลุ่มเสี่ยงวงจรการแพร่ระบาด ใครมีความเสี่ยงมากกว่า ฉีดไปก่อน ไม่เกี่ยวกับเป็นใคร เป็นผู้บริหาร หรือแม่บ้าน และคิดว่าวัคซีนก็ต้องรีบเอาเข้ามาฉีดให้ได้อย่างน้อย 60% ของประเทศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้