หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่ง ด้าน ‘บอร์ด สปสช.’ ควักงบฯ 3,753 ล้านบาท สู้โควิด-19 ระบาด เตรียมความพร้อมแผนงบฯ ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็น
จากตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่วันนี้ (23 เม.ย. 2564) เพิ่มกว่า 2,000 คนต่อวันแล้ว ปัญหาที่พบ คือ การขาดแคลนรถรับส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล
จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ต่อสายตรงหา สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อช่วยส่งรถของกระทรวง พม. ไปเสริมกำลังช่วยรับ-ส่งผู้คาดว่าจะติดเชื้อให้ได้มากขึ้น
รมช.สธ. บอกว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ กรมการแพทย์ ทำการอบรมเจ้าหน้าที่ทันที ทั้งจาก กระทรวง พม. และมูลนิธิต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยรถ 1 คัน ต้องมีคนขับและเจ้าหน้าที่ 2-3 คน ที่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการส่งต่อ ผู้คาดว่าติดเชื้อ และต้องมีอุปกรณ์ป้องกันพร้อมปฏิบัติงาน
พัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวง พม. กล่าวว่า ได้เตรียมรถ 10 คัน ที่พร้อมแยกฝั่งคนขับและผู้ติดเชื้อฯ ไว้แล้ว พร้อมกันนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังจัดโรงพยาบาลสนามและ hospitel จากโรงแรมที่จะช่วยกันรองรับสถานการณ์ด้วย
สปสช. อนุมัติงบฯ 3,753 ล้านบาท สู้โควิด-19
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในการดูแลประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่นี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีการจัดเตรียมความพร้อมแผนงบประมาณเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบ “ร่างข้อเสนอแนวทาง หลักเกณฑ์ การดำเนินงานและการบริหารจัดการงบฯ ที่ได้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน รอบที่ 2” วงเงิน 3,752.7050 ล้านบาท
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สปสช. ได้ขอรับงบประมาณจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.กู้เงินฯ) จำนวน 3,752.7050 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 เงินจำนวนดังกล่าวจะใช้สำหรับเป็นค่าบริการสาธารณสุขสำหรับโรคติดเชื้อโควิด-19 วงเงิน 3,652.385 ล้านบาท และค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีก 100.3200 ล้านบาท โดย ครม. ขอให้ สปสช. ใช้จ่ายเงินใน 2 ส่วนนี้แยกกัน และไม่ให้ถัวจ่ายกับรายการอื่น
สำหรับข้อเสนอขอรับงบจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติมจากรัฐบาลนั้น เป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2563 และปีงบประมาณ 2564 ก่อนหน้านี้ เพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขกรณีโควิด-19 โดยแยกจากงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ตามปกติ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ
“ภายหลังที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 กองทุนบัตรทองได้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีโควิด-19 เป็นการเฉพาะ ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขกรณีโควิด-19 ถือเป็นบทบาทของกองทุนบัตรทอง”