คาด ร่างกายเริ่มย่อยกระเพาะอาหาร หลังอดอาหารนาน 45 วัน ทนายเตรียมยื่นประกันบ่ายนี้ (29 เม.ย.) ‘ผศ.ปริญญา’ ชี้ สุขภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมได้
วันนี้ (29 เม.ย. 2564) ที่ศาลอาญารัชดา ทนายความเตรียมยื่นขอประกันตัว พริษฐ์ ชิวารักษ์ – เพนกวิน อีกครั้ง หลัง สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของเพนกวิน ระบุว่าลูกชายได้เล่าให้ทนายที่เข้าเยี่ยมฟังว่า อาการเริ่มทรุด อ่อนเพลีย และพบถ่ายเป็นชิ้นเนื้อ ซึ่งคาดว่าเกิดจากร่างกายเริ่มย่อยกระเพาะอาหารแล้ว เนื่องจากการอดอาหารเป็นเวลานานกว่า 45 วัน
ซึ่งการยื่นขอประกันครั้งนี้จะรวมถึงแกนนำกลุ่มราษฎรอีก 6 คนที่ยังถูกคุมขัง ทั้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์, อานนท์ นำภา, ชูเกียรติ แสงวงศ์ หรือ จัสติน, ปริญญา ชีวินกุลปฐม หรือ พอร์ท วงไฟเย็น และ ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง
ขณะที่เพจ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดหมายจัดกิจกรรมที่ด้านหน้าศาลอาญารัชดา โดยจะมีการยื่นจดหมาย ‘ราชอยุติธรรม’ ที่ได้จากการรณรงค์ประชาชนร่วมลงชื่อตั้งแต่เมื่อวานนี้ (28 เม.ย.) มากกว่า 7 พันฉบับ การยืนอ่านกลอน ‘ตุลาการภิวัติ’ และไปให้กำลังใจการยื่นประกันตัวทั้ง 7 คน
ผศ.ปริญญา ชี้ สุขภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า การไม่ปล่อยชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น ที่ต้องมีเหตุตามมาตรา 108/1 เท่านั้น ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดอันแสดงว่าบุคคลใดกระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”
ดังนั้น ผู้ต้องหาหรือจำเลยจึงต้องมีสิทธิได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว หรือได้รับการประกันตัว เพื่อให้ไม่ติดคุกก่อนศาลพิพากษาและสามารถสู้คดีนอกคุกได้ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 107 ก็ได้บัญญัติเป็นหลักไว้โดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญว่า “ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคน พึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว”
การไม่ปล่อยชั่วคราวจึงเป็นเรื่องยกเว้น และต้องเข้าเหตุใดเหตุหนึ่งที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 เท่านั้น จึงจะไม่ปล่อยชั่วคราวได้ เช่น ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
การที่ศาลท่านไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวด้วยเหตุผลอื่น อันได้แก่ “คดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง” และ “หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก” จึงไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1
คำถามที่น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่ง คือ ทำไมผู้พิพากษาในคดีนี้ ท่านจึงไม่ยึดถือมาตรา 107 และมาตรา 108/1 ในการพิจารณาเรื่องนี้ อีกทั้งคำสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวก็เขียนเป็นลายมือ หรือพิมพ์ลงในคำร้อง ทั้งๆ ที่มาตรา 108/1 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า หากศาลมีคำสั่งไม่ปล่อยชั่วคราว จะต้องแจ้งเหตุที่ไม่ปล่อยชั่วคราวให้ผู้ต้องหาหรือจําเลยทราบเป็นหนังสือ ทำไมจึงเกิดการไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างชัดเจนเช่นนี้
คำตอบของเรื่องนี้จะทำให้เราประหลาดใจ หรืออาจจะถึงขั้นตกใจด้วยซ้ำ เรื่องของเรื่องคือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 107 ที่บัญญัติว่า “ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” นั้น เพิ่งจะถูกแก้ไขให้มีข้อความดังกล่าวนี้ในปี พ.ศ.2547 ก่อนหน้านั้นมาตรา 107 เขียนไว้แต่เพียงว่า “เมื่อได้รับคำร้องให้ปล่อยชั่วคราว ให้เจ้าพนักงานหรือศาลรีบสั่งโดยอาศัยหลักเกณฑ์ในหกมาตราต่อไปนี้” และมาตรา 108/1 ก็เพิ่งจะถูกเติมเข้าไปจากการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในปี พ.ศ.2547 เช่นกัน
นั่นหมายความว่า มีความเป็นไปได้ว่าศาลท่านอาจจะไม่ทราบว่ามาตรา 107 มีการแก้ไขให้ “ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” คือการปล่อยชั่วคราวได้กลายเป็นหลักและการไม่ปล่อยชั่วคราวเป็นเรื่องยกเว้นไปแล้ว และทำนองเดียวกันท่านก็อาจจะไม่ทราบว่ามีมาตรา 108/1 เป็นมาตราใหม่ในเรื่องนี้แล้ว เพราะตอนที่ท่านเรียนนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 ไม่ใช่แบบปัจจุบันนี้ และมาตรา 108/1 ก็ยังไม่มี
ท่านอ่านแล้วอาจจะเห็นต่าง เพราะไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ศาลท่านจะไม่รู้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีการแก้ไขแล้ว ผมก็เห็นด้วยว่าไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ด้วยความเคารพ กฎหมายคือสิ่งที่ศาลท่านต้องใช้ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 188 ว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดําเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย” โดย “มีอิสระ ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง”
การไม่ปล่อยชั่วคราวที่ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นเรื่องที่มีปัญหามากในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความเชื่อถือศรัทธาของผู้คนที่มีต่อศาลและกระบวนการยุติธรรม เพราะไม่เคยมีเหตุการณ์ที่ผู้คนไปยืนเรียกร้องหน้าศาลฎีกาเป็นจำนวนมากและต่อเนื่องเช่นนี้มาก่อนเลย แล้วก็กำลังจะกระทบเลยเถิดไปมากกว่านั้น เพราะคนจำนวนไม่น้อยมีความเชื่อว่ามีใบสั่งมาให้ศาลทำเช่นนี้ ซึ่งทำให้สถานการณ์จะยิ่งแย่ลงไปอีก
วิธีแก้ไขคือ ต้องยึดมาตรา 107 และ 108/1 ในการดำเนินการเรื่องปล่อยชั่วคราว หากศาลท่านกังวลว่าปล่อยชั่วคราวแล้วจะเกิดปัญหา หรือความเสียหายใด ท่านก็สามารถใช้มาตรา 108 วรรคสาม ซึ่งเพิ่งแก้ไขในปี พ.ศ.2558 ที่บัญญัติว่า “ศาลจะกําหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ หรือในกรณีที่ผู้นั้นยินยอมจะสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจํากัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวก็ได้ ท้ังนี้ เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ..”
“เงื่อนไขอื่นใด” ในมาตรา 108/1 คือจะกำหนดอะไรก็ได้ทั้งสิ้น และหากท่านเห็นว่า “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” และจึงยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวทุกครั้ง ผมใคร่ขอเสนอว่าสุขภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมได้แล้ว หรือหากพบว่าคำสั่งเดิมไม่ถูกต้องหรือไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ก็เป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ เพราะศาลต้องพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะกระทำผิดจริงตามข้อหาหรือไม่ เป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาล แต่การปล่อยชั่วคราวเป็นสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยทุกคนไม่ว่าจะเป็นคดีใด เพราะในคดีอาญาเราต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และจะปฏิบัติกับเขาแบบผู้กระทำผิดก่อนที่จะมีคำพิพากษาไม่ได้ นี่คือสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองทุกคน