ห่วง จัดการยาก หลังโควิด-19 ระบาดชุมชนคลองเตย แนะ จัดทำคู่มืออยู่บ้านไม่กระจายเชื้อ เร่งฉีดวัคซีนคนพิการกลุ่มแรก
หลังพบข้อมูล ณ 24 เม.ย. 2564 ว่าชุมชนคลองเตยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มแรกจำนวน 65 คน จนนำมาสู่ตรวจเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงจำนวน 926 คน จาก 10 ชุมชน เมื่อวันที่ 27 เม.ย.
ล่าสุด (29 เม.ย. 2564) ทราบผลผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวน 50 คน คิดเป็นอัตราการติดเชื้อ 5.4% โดยบางส่วนทยอยเข้าไปยังศูนย์กักกันผู้ป่วยชั่วคราวรอส่งตัว ที่วัดสะพานแล้วนั้น
ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ แสดงความกังวลว่า สถานการณ์โควิด-19 รุกชุมชน ที่อาจไม่ได้หยุดแค่คลองเตย เมื่อยังมีการตรวจพบเพิ่มขึ้นในหลายชุมชน ที่อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ติด ๆ กัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะคนพิการ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอาการรุนแรงได้ง่าย
ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ได้ปรับเปลี่ยนชั้นที่ 2 เป็นห้องสำหรับพักฟื้นกลุ่มคนที่มีข้อจำกัดทางด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านร่างกาย อาทิ คนพิการ ผู้สูงอายุ เป็นต้น ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์พื้นที่ และบริการอื่น ๆ ภายในอาคารได้สะดวก โดยเพิ่มเครื่องวัดความดัน ถังออกซิเจน กล้องวงจรปิด รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ราวจับ อุปกรณ์สื่อสาร และได้รับการสนับสนุนบุคลากรเพื่อสื่อสาร ดูแล ระหว่างพักฟื้น โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
หลักการของผู้ที่เข้าเงื่อนไข คือต้องเป็นคนพิการดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง เช่น ตาบอด หูหนวก ผ่านการประเมินอาการในโรงพยาบาลอย่างน้อย 72 ชม. เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในเกณฑ์สีแดง แต่เมื่อแรกรับเข้ามาแพทย์จะตั้งกลุ่มนี้เป็นสีเหลืองโดยพื้นฐาน เพราะคนพิการ และโรคประจำตัว ความรุนแรงของอาการสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย
ขณะที่สถานการณ์พบผู้ป่วยรอเตียงเป็นจำนวนมาก จนมีแนวคิดสำหรับการแยกกักตัวที่บ้าน (home isolation) ผศ.นพ.ฉัตรชัย แสดงความเห็นว่า การกักตัวที่โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ยังเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทย ขณะที่การฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเปราะบางก็เป็นเรื่องจำเป็น
“แนวคิด home isolation ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเราดูจากสถานการณ์เวลานี้เราไม่ได้วางระบบรองรับสำหรับการกักตัวที่บ้านเลย ถ้าเกิดอาการทรุดก็อาจจะเคลื่อนย้ายมาโรงพยาบาลไม่ทัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรมีคู่มือในการสื่อสารให้ประชาชนรับทราบในแง่ของการดูแลตนเองเบื้องต้น รวมถึงการฉีดวัคซีนก็ควรพิจารณาให้คนพิการเป็นกลุ่มแรก ๆ เพราะเป็นกลุ่มที่ป้องกันตัวเองลำบาก ติดเชื้อ เสียชีวิตได้ง่าย”
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ 2,092,595 คน หรือคิดเป็น 3.21 % ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้มีกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องการพิเศษ 335,305 คน หรือคิดเป็น 16.03% โดยความเสี่ยงในการติดโควิด-19 มาทั้งจากการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ดูแล และการประกอบอาชีพ ล่าสุด นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ระบุว่า พบผู้พิการทางสายตาติดเชื้อแล้ว 1 คน จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล เพราะพบเจอคนจำนวนมาก แต่ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการแพทย์จึงให้กักตัวที่บ้าน ซึ่งมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อให้คนอื่น หรือหากเกิดเหตุฉุกเฉินก็อาจจะแจ้งผู้เกี่ยวข้องได้ล่าช้า