ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว “รุ้ง ปนัสยา” หลังแถลงยอมรับเงื่อนไข “ไม่หมิ่นต่อสถาบันฯ-ไม่ทำกิจกรรมวุ่นวาย-ไม่เดินทางออกนอกประเทศ” มวลชนให้กำลังใจแน่นหน้าศาล
วันนี้ (6 พ.ค. 2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.05 น. ศาลอาญา อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว “รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” แกนนำกลุ่มราษฎร พร้อมกำหนดเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1. ห้ามกระทำการอันใดที่จะละเมิดหรือล่วงเกินสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. ห้ามทำกิจกรรม หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่จะสร้างความวุ่นวายต่อบ้านเมือง และ 3. ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาต โดยกำหนดวงเงินประกัน 200,000 บาท
ศาลให้เหตุผลเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ว่าเนื่องจากที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกแล้วจำเลยมาตามนัดหมายมาโดยตลอด และมีสถานะเป็นนักศึกษา คาดว่าจะไม่มีพฤติกรรมหลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน อีกทั้งจำเลยแถลงต่อศาลด้วยสมัครใจต่อศาลว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไข และตั้งทนายความในการพิจารณาคดีวันนี้ โดยให้มีการปล่อยตัวช่วงเย็นของวันนี้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
ยอมรับ 3 เงื่อนไข ขอปล่อยตัวชั่วคราว
ก่อนหน้านี้ รุ้ง ปนัสยา แถลงต่อศาล ว่า จะเคารพและปฏิบัติตามเงื่อนไขการขอปล่อยชั่วคราวที่ทนายความยื่นคำร้อง ประกอบด้วย จะไม่กระทำการอันใดที่เป็นอันลบหลู่หรือดูหมิ่นต่อสถาบันฯ, ไม่เดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อน และจะเดินทางมาศาลทุกครั้งตามที่ศาลได้นัดหมาย พร้อมแต่งตั้งทนายความในกระบวนการพิจารณาทางคดี หลังถอนทนายความไปก่อนหน้านี้ และไม่ขัดข้องหากศาลจะให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM)
ขณะที่ ผศ.อดิศร จันทรสุข รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงพ่อและแม่ ของ รุ้ง ปนัสยา ได้แถลงต่อศาลยืนยันว่า จำเลยมีความประพฤติเรียบร้อย หากจำเลยได้ปล่อยชั่วคราว จะกำกับดูแลจำเลยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด และที่ผ่านมาจำเลยไม่เคยต้องคำพิพากษาจำคุกมาก่อน
ด้านเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ทัณฑสถานหญิงกลาง ก็แถลงต่อศาลว่า ระหว่างถูกคุมขังจำเลยปฏิบัติตามระเบียบเป็นอย่างดี และทราบว่าไม่เคยทำผิดระเบียบในเรือนจำมาก่อน
ทั้งนี้ รุ้ง ปนัสยา ถูกควบคุมตัวหลังอัยการสั่งฟ้องคดี “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” จากการชุมนุมวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง และถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลางตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2564 โดยที่ผ่านมาได้มีการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้ว 5 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 โดยนับจำนวนวันที่รุ้งถูกคุมขังรวมทั้งหมดเป็นเวลา 60 วัน
อีก 15 คน ยังถูกคุมขัง
ส่วนแกนนำและผู้ชุมนุมที่ยังถูกคุมขัง มี พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ชูเกียรติ แสงวงค์ หรือ จัสติน, ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่, วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ ตี้ พะเยา, พรหมศร วีระธรรมจารี, ปริญญา ชีวินกุลปฐม หรือ พอร์ท ไฟเย็น
นอกจากนี้ ยังมีอีกจำเลย 5 คน ได้แก่ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร, ธวัช สุขประเสริฐ, ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี, ฉลวย เอกศักดิ์ และ สมคิด โตสอย ทั้งห้าถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2564 หลังอัยการมีคำสั่งฟ้อง 6 ข้อหา จากกรณีการขัดขวางและทุบรถควบคุมผู้ต้องขังที่ควบคุมตัวพริษฐ์ ชิวารักษ์ และภาณุพงศ์ จาดนอก หลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงคืนวันที่ 30 ต.ค. 2563
และผู้ต้องหาอีก 2 คน ได้แก่ ร่อซีกีน นิยมเดชา และ หทัยรัตน์ แก้วสีคราม ที่ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2564 หลังพนักงานสอบสวนฝากขังและศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยทั้งสองถูกแจ้ง 6 ข้อหา จากเหตุการณ์สลายการชุมนุม หลังจบ #ม็อบ2พฤษภาคม ซึ่งมีการชุมนุมบริเวณหน้าศาลอาญารัชดา เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2564
นอกจากนี้ ที่ศาลแขวงดุสิต ก็มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด หลังถูกพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 มีคำสั่งฟ้องคดีด้วยข้อหา ฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน 2 คดี ได้แก่ คดีจากการชุมนุม #ม็อบ18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และ คดีจากการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย โดยทนายได้ยื่นประกันตัวระหว่างพิจารณาเป็นเงินสดคดีละ 20,000 บาท รวมเป็น 40,000 บาท และกำหนดวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การทั้งสองคดีในวันที่ 9 ส.ค. 2564