“ความถูกผิดทางกฎหมาย ไม่อาจตอบความชอบธรรมทางการเมือง” วิกฤตศรัทธา ศาลรัฐธรรมนูญ?

นักรัฐศาสตร์ร่วมวิเคราะห์ คำวินิจฉัยศาล รธน. ความผิดข้ามแดน กรณี “ร.อ. ธรรมนัส” ตั้งข้อสังเกต “ล้างโทษ แต่อาจไม่ล้างการกระทำ” เปิดความเห็นกฤษฎีกาคดีใกล้เคียง ด้าน ฝ่ายค้านเดินหน้า ชง ป.ป.ช. ต่อ

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย “ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า” ไม่พ้นสมาชิกสภาพ ส.ส. และ ไม่พ้นสภาพ รัฐมนตรี จากเคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย อันถึงที่สุด ว่าได้กระทำผิดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าซึ่งยาเสพติด ของศาลแขวงรัฐรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย

กรณีนี้ ได้เกิดเป็นกระแสสังคมตั้งคำถามถึง บรรทัดฐานจริยธรรมการเมือง รวมถึงมาตรฐานการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

Active Talk ชวนวิเคราะห์เรื่องนี้กับ รศ.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง, รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช, ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา และ ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

พรรคฝ่ายค้าน และ กมธ. ป.ป.ช. เดินหน้าตรวจสอบ ร.อ. ธรรมนัส 4 ประเด็นคุณสมบัติรัฐมนตรี

ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และในฐานะโฆษก คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าสำหรับจุดยืนของพรรคก้าวไกลในกรณีนี้ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้ประกาศดำเนินการตรวจสอบ 2 เรื่อง คือ คุณสมบัติรัฐมนตรี และการปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม

สำหรับการตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี ของ ร.อ. ธรรมนัส ธีรัจชัย กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ 160 (4) ที่ระบุว่า “คุณสมบัติรัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน และไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างร้ายแรง…” แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้นำมาวินิจฉัยในกรณีนี้ ส่วนของ กมธ. จึงมีมติให้ตรวจสอบ ร.อ. ธรรมนัส เพิ่มเติม

สำหรับกรณีคุณสมบัติรัฐมนตรี ที่ต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตตามรัฐธรรมนูญ โดยจะตรวจสอบ 4 ประเด็น คือ

  1. กรณีการรับรองสถานะตนเอง ก่อนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มีการปกปิดไม่บอกข้อมูลการต้องคำพิพากษาถูกศาลออสเตรเลียสั่งจำคุกให้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)
  2. การลงสมัคร ส.ส. มีการปกปิดข้อมูล เรื่องการต้องคำพิพากษา
  3. การขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต้องรับรองตัวเอง ว่าเคยต้องคำพิพากษา
  4. กรณีที่ ร.อ. ธรรมนัส เคยทำหนังสือแจ้งข้อมูลต่อ กมธ. ป.ป.ช. เมื่อ 12 ธ.ค. 2562 มีข้อมูลใดคลาดเคลื่อนจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ กมธ. จะไปตรวจสอบประเด็นเหล่านี้ เพื่อดูว่า มีการกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4)

ส่วนกรณีการตรวจสอบเรื่องการปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม โดยของไทยจะมี 2 ประเด็น คือ 1) มาตรฐานผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ 2) มาตรฐานสภาผู้แทนราษฎร

โดย ฝ่ายกฎหมาย ป.ป.ช. จะยื่นดำเนินการต่อ เช่นเดียวกับ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ที่ยืนยันเดินหน้าตามแนวทางเดียวกับพรรคก้าวไกล เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ตำแหน่งรัฐมนตรี พร้อมยืนยัน ไม่ใช่แค่การเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับคนที่ต้องการจะเข้ามาเล่นการเมือง

ข้อสังเกตคำตัดสินศาล รธน. กับ มิติกฎหมายระหว่างประเทศ

“ในทางกฎหมายยุติ ในแง่คุณสมบัติ การเคลื่อนไหว พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พูดถึง คุณสมบัติจะต้องไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย การถูกต้องโทษจำคุกคดียาเสพติดเสื่อมเสียหรือไม่ ห้ามเป็น รมต. ได้ด้วยหรือไม่?”

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา ตั้งข้อสังเกต กรณีคดี ร.อ. ธรรมนัส ว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นลักษณะนี้ 3 ครั้ง คือ

ปี 2525 กระทรวงมหาดไทย จัดการเลือกตั้ง ได้พูดถึงกรณีการสมัคร ส.ส. ที่เคยถูกจำคุกในต่างประเทศจะเข้าเงื่อนไขต้องห้ามหรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาตอนนั้นก็ระบุว่า “ต้องห้ามตาม รธน.” เพราะไม่ต้องการให้เกิดความลักลั่น คือ “ติดคุกต่างประเทศ ก็ต้องติดในประเทศ” แต่คนไม่ค่อยให้ความสนใจ เพราะเห็นว่านานแล้ว

ถัดมาคือ ปี 2554 การขอรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีการถามว่า เคยต้องโทษจำคุกมาสามารถรับเครื่องราชฯ ได้หรือไม่ และสุดท้าย คือการตีความ ปลายปี 2563 กรณี พลตรีท่านหนึ่ง ถูกจับที่ฮ่องกง และถูกดำเนินคดีที่สหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับยาเสพติด มีเฮโรอีนเพื่อจำหน่าย โทษจำคุก 365 เดือนที่สหรัฐฯ ประเด็น คือ เมื่อถูกจับ กระทรวงกลาโหม ของไทยให้ออก หรือ พักจากราชการ ซึ่งเทียบกับแล้วก็ใกล้เคียงกับ กรณี ร.อ. ธรรมนัส แต่คณะกรรมการฯ ชุดนี้ไม่ได้ดูเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา แต่ดูไปถึงกฎหมายระหว่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ยังมองเห็นมิติกฎหมายระหว่างเทศที่ไม่ถูกนำมาพิจารณา ซึ่งสอดคล้องกับการเดินหน้าตรวจสอบของพรรคก้าวไกล และ กมธ. ป.ป.ช. อาทิ

  1. อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ
  2. อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
  3. อนุสัญญาต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

ซึ่งไทยได้ร่วมลงนาม และเรียกกฎหมายที่ออกมาภายในประเทศว่า พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มีมาตราสำคัญ เช่น

“มาตรา 5 ผู้ใดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักร ผู้นั้นจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร ถ้าปรากฏว่า (๑) ผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดคนใดคนหนึ่งเป็นคนไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย…”

ประสงค์ ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า หากเทียบเคียง กรณี ร.อ. ธรรมนัส คำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ มีศักดิ์ใหญ่กว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่สามารถหักล้างได้อยู่แล้วในกรณีคุณสมบัติ แต่กระบวนการวิธีคิด ในการค้นคว้ากฎหมายต่าง ๆ กลับไม่ได้นำมาใช้ประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

“เช่น อนุสัญญาระหว่างประเทศ ศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่ได้มีประเด็นนี้มาพิจารณา ทั้งที่ประเด็นยาเสพติด เป็นกฎหมายสากลที่ทั่วโลกมองว่าเป็นภัยอันตราย…”

ล้างโทษ แต่ไม่ล้างการกระทำ? ความถูกผิดทางกฎหมาย บางครั้งไม่อาจตอบความชอบธรรมทางการเมือง

“ผมเองในฐานะที่ไม่รู้เรื่องทางกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญ แต่จับสังเกตว่าเรื่องอะไรก็ตามแต่ ประชาชนมักจะวิเคราะห์ คำตอบของ ศาลรัฐธรรมนูญได้ถูกต้อง โดยดูเหตุการณ์ทางการเมือง…”

รศ.สุขุม นวลสกุล

“ความถูกผิดทางกฎหมาย บางครั้งไม่อาจตอบความชอบธรรมทางการเมือง”

รศ.ยุทธพร อิสรชัย

มุมมองของนักรัฐศาสตร์เห็นตรงกันว่า แทบจะไม่มีใครเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เลย แม้แต่กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลในด้านวิชาการ ก็ยังมีความเห็นว่าเรื่องนี้ยากที่จะให้ความเห็น

รศ.ยุทธพร อิสรชัย ระบุว่า ณ วันนี้ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร เป็นครั้งแรกที่วินิจฉัยแบบนี้ หมายความว่า ในการกระทำพฤติการณ์ ต่าง ๆ ต้องยึดบรรทัดฐานอันเดียวกัน ในทางรัฐธรรมนูญ แต่ความชอบธรรมทางการเมืองไม่อาจตอบได้ด้วยความถูกผิดทางกฎหมายอย่างเดียว

เมื่อถามว่า ในทางกฎหมายจะสิ้นสุดยุติทันทีหรือไม่หลังคำวินิจฉัย รศ.ยุทธพร มองว่า ทางกฎหมายไม่จบเสียทีเดียว อาจต้องตั้งโจทย์ใหม่ แต่จบกรณีคุณสมบัติที่วินิจฉัยไว้แล้ว ขณะที่เรื่องคุณสมบัติการเมืองจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามอีกมาก

“วิกฤตศรัทธาศาลรัฐธรรมนูญ ถูกตั้งคำถามมาหลายยุคสมัย รวมถึงการตั้งคำถาม และวิจารณ์ว่าเป็น ศาลการเมือง เราไม่เคยเห็นความชัดเจน การออกมาชี้แจง การวิจารณ์ทางสังคมคงเป็นปัญหาใหญ่ คดียุบพรรค ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ความเป็นการเมืองถ้าถูกหยิบจับมาเกี่ยวข้องกับกฎหมายก็จะเป็นแบบนี้ ทำให้ไม่เกิดความชอบธรรม ทำให้บรรดาข้อวิจารณ์ไม่เกิดขึ้นตามมาด้วย”

รศ.ยุทธพร ยังกล่าวอีกว่า ยิ่งเมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 ความเคลื่อนไหวหรือเวทีต่าง ๆ ยิ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก แรงกดดันทางสังคม ไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจทางการเมือง ปรากฏการณ์ย้ายประเทศ เป็นน้ำหนักที่ใช้ได้ และเป็นบทเรียนข้อคิดให้กับสังคมไทย

ด้าน รศ.สุขุม นวลสกุล มองว่า แม้จะเป็นการล้างโทษกรณีคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ล้างการกระทำ ว่าเคยกระทำผิดแม้เป็นความผิดในต่างประเทศ เทียบไม่ได้กับการนิรโทษกรรม

“นิรโทษกรรมไปแล้ว จะอ้างสิทธิ์ว่าไม่มีความผิดและขอรับราชการ แต่อันนี้ไม่ใช่สิทธิ์
เพียงแต่ไม่มีประวัติเท่านั้น จะเปรียบเทียบกับการนิรโทษกรรม และการรับเครื่องราชฯ มันเป็นคนละเรื่อง”

อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง ระบุอีกว่า กรณีคำวินิจฉัยครั้งนี้ อาจจะเทียบเคียงกับคำตัดสินที่ผ่านมา หรือคำตัดสินในอนาคตไม่ได้ เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแต่ละครั้ง ไม่ได้มีผลผูกพันในทางกฎหมาย แต่จากนี้คงต้องจับตา บทบาททางการเมืองของ ร.อ. ธรรมนัส อย่างใกล้ชิด โดย รศ.สุขุม คาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูง ที่จะมีความก้าวหน้าในทางการเมืองมากยิ่งขึ้น

ด้าน รศ.ยุทธพร กล่าวเสริมว่า ความชอบธรรมทางการเมือง ไม่อาจตอบได้ในทางกฎหมาย เห็นได้จากกรณีที่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว เกิดปฏิกริยาในโลกออนไลน์และออฟไลน์ สะท้อนให้เห็นว่าทางการเมือง คนที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องได้รับการยอมรับซึ่งจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ถึงขั้นให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พร้อมยกตัวอย่างกรณีของกลุ่ม PSPD (People’s Solidarity for Participatory Democracy: แนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม) ของสาธารณรัฐเกาหลี หรือ ประเทศเกาหลีใต้ ที่เป็นการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยองค์กรภาคประชาชน ที่ศาลของเกาหลีใต้ต้องฟัง เพราะเป็นการเคลื่อนไหวของคนนับสิบล้านคน

“การตรวจสอบจะไม่ได้มีสภา แต่จะมีการตรวจสอบจากภาคประชาสังคม ภาคประชาชน จะมีเครื่องไม้เครืองมือมากขึ้น เมื่อกฎหมายใช้ไม่ได้ผล”

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน