‘นพ.สุรพงษ์’ ติงนายกฯ รวมศูนย์อำนาจ ทำจัดการโรคระบาดล่าช้า ชี้ กทม. มีทรัพยากรพร้อม แต่รับมือไม่ได้ ‘โฆษก สธ.’ ยัน แอสตราเซเนกา ส่งมอบทันฉีด มิ.ย. 64
จากกรณีการเผยแพร่เอกสารของกระทรวงมหาดไทย ระบุ จำนวนวัคซีนแอสตราเซเนการายจังหวัดเข็ม 1 (มิ.ย.) พบว่า กรุงเทพมหานคร รับจัดสรรมากที่สุด 2,510,000 โดส รองลงมา คือ จังหวัดอุดรธานี 246,000 โดส จังหวัดสมุทรปราการ 237,000 โดส และจังหวัดสกลนคร 181,000 โดส ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ระบาดสีแดง ส่วนพื้นที่ระบาดสีแดง เช่น จังหวัดนนทบุรี ได้วัคซีนเพียง 64,000 โดส
นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมช.กระทรวงสาธารณสุข กล่าวผ่านรายการ Active Talk วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ระบุว่า แผนการกระจายวัคซีนที่ยังคงมีวัคซีนจำกัด รัฐบาลควรเน้นไปที่พื้นที่ระบาดสีแดง มากกว่าที่จะกระจายไปทั่วประเทศ ตามกลุ่มอายุประชากร ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มโรคเสี่ยง 7 โรค เนื่องจากในพื้นที่ที่ไม่มีการแพร่ระบาด อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้วัคซีน หากมีการให้วัคซีนก็ยังไม่รู้ว่าวัคซีนจะมีระยะเวลาสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายนานเท่าใด จำเป็นต้องฉีดซ้ำภายหลัง เพราะฉะนั้น การจัดลำดับความสำคัญในการระบาดรอบสาม ควรให้ความสำคัญกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ระบาดสีแดงก่อน
ด้าน นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า การจัดสรรวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่พบว่าต่างจังหวัดมีปริมาณสูง แม้ไม่ได้เป็นพื้นที่ระบาด เนื่องจากจัดสรรตามกลุ่มอายุประชากรผู้สูงอายุ และ 7 โรคเสี่ยง อย่างในจังหวัดสกลนครเป็นเมืองผู้สูงอายุ จึงมีการจัดสรรวัคซีนไปเพื่อผู้สูงอายุตามจำนวนที่ปรากฏในทะเบียนราษฎร์ ส่วนจังหวัดนนทบุรี แม้เป็นพื้นที่สีแดง แต่ผู้สูงอายุมีจำนวนน้อย จึงจัดสรรเท่าจำนวนจริงของผู้สูงอายุ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการจัดสรรวัคซีนซิโนแวคไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเอกสารดังกล่าวระบุเฉพาะวัคซีนแอสตราเซเนกา
แจงเหตุ “แอสตราเซเนกา” ล่าช้า
ส่วนกรณีที่ วัคซีน “แอสตราเซเนกา” ซึ่งเป็นวัคซีนหลักที่จะนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย มีกำหนดส่งมอบภายในเดือนมิถุนายนนี้ แต่ก่อนหน้านั้น กระทรวงสาธารณสุข ส่งสัญญาณว่าอาจมีการส่งมอบแอสตราเซเนกา จากสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งผลิตในประเทศไทยในวันที่ 17 พฤษภาคม เร็วกว่ากำหนดการเดิม แต่ล่าสุดมาจนถึงขณะนี้ ที่แม้มีกำหนดการว่าจะฉีด แอสตราเซเนกา ในวันที่ 7 มิถุนายน แต่ยังไม่มีการส่งมอบเกิดขึ้น และยังไม่มีวันที่แน่ชัดว่าส่งมอบในวันที่เท่าไร
นายแพทย์สุรพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลควรสื่อสารเรื่องนี้ให้ชัดเจน โดยต้องระบุวันที่ ว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาจะเข้ามาวันใด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวที่จะออกมาพูดถึงความคืบหน้าหรือยืนยันวันส่งมอบ แต่ทางบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ก็ควรออกมาให้ข่าวเพื่อเรียกความมั่นใจให้กับประชาชนด้วย
ส่วนกรณีหน่วยบริการหลายแห่งเลื่อนการฉีดแอสตราเซเนกาเข็มที่ 2 ออกไป เนื่องจากกังวลเรื่องวัคซีนจะมาไม่ทันตามกำหนดนั้น นายแพทย์รุ่งเรือง ชี้แจงว่าบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ไม่ได้กำหนดส่งในวันที่ 1 มิถุนายน แต่จะเริ่มจัดส่งภายในเดือนมิถุนายน และทางบริษัทก็รับทราบกำหนดการที่รัฐบาลวางแผนฉีดวัคซีนแบบปูพรมอยู่แล้ว
ทั้งนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าประเทศไทยยังมีวัคซีนซิโนแวคพร้อมอยู่ และมั่นใจว่าบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จะส่งมอบวัคซีนตามข้อกำหนด โดยสัญญาระบุว่าหากวัคซีนที่ผลิตในไทยยังจัดส่งไม่ได้ ก็ต้องจัดหามาจากแหล่งผลิตอื่นส่งให้ไทย
“ยืนยันเรามีวัคซีนฉีดให้กับพี่น้องประชาชนตามกำหนดของรัฐบาลแน่นอน และในช่วงบ่ายวันนี้ (25 พ.ค.) บริษัท ไฟเซอร์ ได้มาหารือเกี่ยวกับเอกสารสำหรับยื่น ถือเป็นการนับหนึ่ง ทุกอย่างก็เป็นไปตามแผน อย่าไปกังวลในวันที่ 7 มิถุนายน ที่จะเริ่มฉีดวัคซีนให้ผู้ที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม จะใช้วัคซีนที่มีทั้งหมด”
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงสาธารณสุข ระบุ
กทม. เขตปลอด “กระทรวงสาธารณสุข”
ตัวเลขผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานคร ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากกว่าทุกจังหวัด และยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ ทำให้ นายแพทย์สุรพงษ์ ตั้งข้อสังเกตถึงระบบสาธารณสุข กทม. ที่ถูกเรียกว่า เป็นเขตปลอดกระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่มีทรัพยากรมาก แต่ด้านของสาธารณสุขกลับมีความเข้มแข็งน้อยกว่าต่างจังหวัดหลายเท่าตัว
“ยกตัวอย่างง่าย ๆ ในต่างจังหวัดยังมีโรงพยาบาลประจำอำเภอ คนที่ต้องการที่จะผ่าไส้ติ่ง สามารถเดินเข้าไปแอดมิดและผ่าตัดได้เลย ในขณะที่คนกรุงเทพฯ จะต้องหาโรงพยาบาล หรืออาจต้องเป็นของเอกชน เพราะไม่มีโรงพยาบาลประจำเขต นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมการระบาดในกรุงเทพฯ จึงมีปัญหาเรื่องการหาเตียงของผู้ป่วย“
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์สุรพงษ์ เชื่อมั่นในหลักการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น แต่การให้ความสำคัญของท้องถิ่นต่อระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะ กทม. จะต้องมีการปรับปรุงและแก้ไขให้ดีขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าโครงสร้างของ กทม. อาจมีหลายเรื่องที่ซับซ้อน และแก้ไขได้ยาก
ด้าน นายแพทย์รุ่งเรือง ยอมรับปัญหานี้ โดยระบุว่า สัดส่วนของโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ 70% เป็นโรงพยาบาลในภาคเอกชน ส่วนอีก 30% เป็นของหน่วยงานรัฐและแบ่งแยกย่อยกันไปตามสังกัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัด กทม. และโรงพยาบาลของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
แนะยุบ “ศบค.” คืนอำนาจ กระทรวงสาธารณสุข
อดีต รมช.กระทรวงสาธารณสุข ยังวิพากษ์วิจารณ์ถึงการบริหารงานในสถานการณ์โควิด-19 ว่า การตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบค. ไม่ได้ช่วยให้การตัดสินใจเร็วขึ้น ซ้ำยังทำให้ทุกอย่างล่าช้า กระทบต่อกลไกในการควบคุมโรคตามหลักการแพทย์ เมื่อย้อนดูการควบคุมโรคในอดีตที่ผ่านมา ไม่มีการจัดตั้ง ศบค. เช่น โรคซาร์ส ใช้ทีมสอบสวนโรคลงไปควบคุมหาต้นตออย่างรวดเร็ว โรคไข้หวัดนก ก็มีการบริหารงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งใช้กลไกตามปกติในการบริหารงาน มีคนประมาณ 10 กว่าคนนั่งคุยกัน และแผนงานวันรุ่งขึ้นเดินหน้าทำเลย
“การที่นายกรัฐมนตรีรวบอำนาจการบริหารงานไว้ที่ตัวเอง กลับยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น จึงแนะนำว่าควรคืนอำนาจให้กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ และเชื่อว่าถ้ากระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเอง จะสามารถควบคุมโควิด-19 ได้ภายใน 3 เดือน”
ขณะเดียวกัน นายแพทย์สุรพงษ์ ระบุอีกว่า ยังมองไม่เห็นว่า คนในคณะรัฐมนตรีคนใดที่จะสามารถมาเป็นผู้นำในการบริหารภาวะวิกฤต ที่บริหารงานข้ามกระทรวงในช่วงโควิด-19 นี้ได้