“นพ.มานพ” ชี้ สายพันธุ์อินเดียระบาดไว แต่ซิโนแวค-แอสตราฯ ยังเอาอยู่ ห่วงสายพันธุ์แอฟริกาหลบภูมิวัคซีน “ดร.อนันต์” เผย ภูมิคุ้มกันหมู่เกิดยาก ระบุ เข็ม 2 ฉีดต่างยี่ห้อได้
สายพันธุ์ดั้งเดิมของโควิด-19 พบที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เรียกว่า สายพันธุ์ D614
ต่อมา กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ G614 หรือ “สายพันธุ์ G” ในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เดือนกันยายน 2563 เริ่มพบโควิด-19 สายพันธุ์ B1.1.7 ในประเทศอังกฤษ หรือที่เรียกว่า “สายพันธุ์อังกฤษ” แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ G
เดิม การระบาดในประเทศไทยทั้งระลอก 1 และ 2 เป็น “สายพันธุ์ G” แต่ในที่สุด การระบาดรอบ 3 เมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากกว่าทุกระลอก เป็น “สายพันธุ์อังกฤษ” ที่คาดว่ามาจากคลัสเตอร์ทองหล่อ หรือหลุดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
จากนั้น 20 พฤษภาคม 2564 ตรวจพบโควิด-19 “สายพันธุ์อินเดีย” เป็นครั้งแรกในแคมป์คนงานก่อสร้าง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ไล่เลี่ยกัน วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 พบ “สายพันธุ์แอฟริกาใต้” ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จึงนำมาซึ่งความกังวลว่าสายพันธุ์ใหม่ทั้ง 2 สายพันธุ์ จะรุนแรงกว่าสายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดหลักอยู่ในตอนนี้ และวัคซีนที่ไทยมีอยู่จะรับมือได้หรือไม่
“สายพันธ์ุอินเดีย” VS “สายพันธุ์แอฟริกา” ใครน่ากังวลมากกว่า
“ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา” นักไวรัสวิทยา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ว่า สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ไม่น่ากังวลเท่าสายพันธุ์อินเดีย ที่แพร่ได้เร็วกว่า และตอบได้ยากว่า วัคซีนซิโนแวค จะสามารถรับมือกับสายพันธุ์อินเดียได้มากน้อยแค่ไหน เพราะงานวิจัยในประเทศที่ใช้วัคซีนซิโนแวค เช่น ประเทศจีน ยังไม่มีการระบาดของสายพันธุ์อินเดีย ขณะที่วัคซีนแอสตราเซเนกา สามารถรับมือกับสายพันธุ์อินเดียได้แน่นอน 33% แต่ประเทศอังกฤษก็จะมีวัคซีนไฟเซอร์ ที่รับมือกับสายพันธุ์อินเดียได้
“สายพันธุ์ใดจะกลายมาเป็นสายพันธุ์ระบาดหลัก ขึ้นอยู่กับว่ามีความสามารถในการแพร่กระจายรวดเร็วมากน้อยแค่ไหน สายพันธุ์อินเดียสามารถกระจายได้เร็ว อนาคตก็อาจจะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษ และในขณะที่แอฟริกามีอัตราการแพร่เชื้อต่ำ”
เขายกตัวอย่างประเทศอินเดีย ที่ตอนแรกเป็นสายพันธุ์อังกฤษ ระหว่างนั้นก็มีสายพันธุ์แอฟริกาเข้ามาแพร่ระบาด แต่ไม่สามารถสู้การระบาดของสายพันธุ์อินเดียได้ ซึ่งแพร่ได้เร็วกว่า แต่ถ้าพูดถึงความรุนแรง ต้องบอกว่า ไม่มีสายพันธุ์ใดที่รุนแรงไปกว่าสายพันธุ์อื่น สายพันธุ์แอฟริกา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะป่วยมากกว่าสายพันธุ์อังกฤษหรือสายพันธุ์อินเดีย
สอดคล้องกับ “ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร” หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า จำนวนคนเสียชีวิตขึ้นอยู่กับว่าระบบสาธารณสุขรองรับได้มากน้อยแค่ไหน ปัจจัยด้านการระบาดมีความน่ากลัวกว่าปัจจัยด้านสายพันธุ์
แต่ ศ.นพ.มานพ เป็นห่วงสายพันธุ์แอฟริกามากกว่าสายพันธุ์อินเดีย เพราะวัคซีนที่ไทยมีอยู่ทั้งซิโนแวค และแอสตราเซเนกาไม่สามารถรับมือได้ ขณะที่สายพันธุ์อินเดีย น่าเชื่อว่าฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ยังพอสร้างภูมิคุ้มกันได้ เช่นเดียวกับวัคซีนแอสตราเซเนกา
“ถ้าปัจจุบัน ไทยยังไม่มีวัคซีนที่จะป้องกันสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งต้องใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ สามารถกระจายวัคซีนไปในวงกว้าง จะสามารถกดการระบาดได้ อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ก็อาจจะมีสัดส่วนได้มากขึ้น เพราะประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีไม่สามารถเอาอยู่”
แต่ ดร.อนันต์ ยังมองว่า ประเทศอังกฤษก็สามารถรับมือกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ได้ ซึ่งใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นหลัก สัดส่วนของสายพันธุ์แอฟริกาใต้ มีเพียง 1% ไม่อยากให้ยึดติดกับตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตราเซเนกา ถึงแม้จะบอกว่ารับมือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 10.8% แต่อาจมีอะไรมากกว่านั้น
ขณะที่ ศ.นพ.มานพ ระบุว่า ประเทศอังกฤษก็ใช้วัคซีนไฟเซอร์คู่ไปกับแอสตราเซเนกา ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง แม้ว่าไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ จะหลุดรอดออกมาจากคนที่ฉีดแอสตราเซเนกา แต่อาจจะไปหยุดระบาดที่คนที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ยากที่จะระบุผลของแอสตราเซเนกากับสายพันธุ์แอฟริกาใต้
“ภูมิคุ้มกันหมู่” เกิดยากเพราะวัคซีนไม่ 100%
แม้รัฐบาลจะสื่อสารโดยตลอด ว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ 70% ภายในสิ้นปี 2564 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จากการฉีดวัคซีนประชากร 5 ล้านคน ครอบคลุม 70 %ให้ได้ภายใน 2 เดือน
ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า แท้จริงแล้วภูมิคุ้มกันหมู่ อาจจะเป็นสิ่งสมมุติ เราต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเกิดขึ้นจริง ๆ เพราะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ประชากร 70% นั้นอยู่บนสมมติฐานว่าวัคซีนต้องได้ประสิทธิภาพ 100% ซึ่งความเป็นจริงตอนนี้วัคซีนยังไม่มีประสิทธิภาพถึง 100% ประเด็นต่อมา คือ ความหลากหลายของวัคซีน ที่มีในประเทศไทย มากพอหรือไม่ และด้านการฉีด ว่ารวดเร็วมากน้อยแค่ไหน
ประเด็นนี้ ดร.อนันต์ เห็นสอดคล้อง ว่าภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นได้ ประการแรก ก็อยู่บนสมมติฐานว่าจะต้องวัคซีนต้องมีประสิทธิภาพ 100% ประการต่อมา คือ การกลายพันธุ์ของไวรัส ที่จะต้องพิจารณาถึงค่า R หรือการแพร่กระจายจากคนหนึ่งคนไปอีกกี่คน ซึ่งวัคซีนที่มาช้ากว่าก็ควบคุมโรคได้ช้า
“กรุงเทพมหานครที่ตั้งเป้าจะสร้างภูมิคุ้มกัน ภายใน 2 เดือน ไม่มีทางเกิดขึ้นจริง และปัจจุบันนี้ ก็มีโรคหลายโรคที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ อย่างเช่น ไข้หวัดใหญ่ก็ยังมีการฉีดวัคซีนแล้วก็สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ ก็ยังพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง”
เขากล่าวต่ออีกว่า ประเด็นวัคซีนสามารถที่จะยกระดับภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นโดยใช้วัคซีนที่มีอยู่ เช่น ซิโนแวค อาจจะต้องฉีดเข็ม 1 เข็ม 2 ตามด้วยเข็ม 3 ก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มระดับมากขึ้น จนสามารถที่จะป้องกันสายพันธุ์แอฟริกาหรืออินเดียได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่เห็นด้วยกับการที่จะปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกและทิ้งระยะไปนาน เพราะแทบจะไม่กระตุ้นเกิดภูมิคุ้มกัน (ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพวัคซีน) จำเป็นจะต้องฉีดอีกเข็มเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น
สามารถฉีดวัคซีนข้ามยี่ห้อได้
ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า การปูพรมฉีดเข็มแรกอาจสามารถหยุดการระบาดในบริบทของการระบาดในสายพันธุ์อังกฤษ การฉีดวัคซีนเข็มแรกที่มีประสิทธิภาพดี ย้ำว่ามีประสิทธิภาพดี ก็จะสามารถสกัดการระบาดได้ โดยเข็ม 2 อาจจะยืดระยะเวลาฉีดอีก 3-4 เดือน จากเดิมที่ต้องฉีดใน 2-3 สัปดาห์ ขณะเดียวกัน หากเป็นสายพันธุ์อินเดีย เข็มแรกหลังฉีดไปแล้วเข็มที่ 2 อาจจะต้องตามภายใน 1-2 เดือนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงมากพอที่จะรับมือสายพันธุ์อินเดีย แต่ปัจจุบันจำนวนวัคซีนที่มีไม่มากพอ
ขณะที่ ดร.อนันต์ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าสายพันธุ์อินเดียจำกัดอยู่ในวงแคบแค่แคมป์คนงานก่อสร้างจริงหรือไม่ เพราะกว่าจะถอดรหัสพันธุกรรมก็ใช้เวลาอยู่พอสมควร การฉีดวัคซีนไม่จำเป็นจะต้องฉีดยี่ห้อเดียวกันทั้งหมด สามารถฉีดต่างยี่ห้อได้ในเข็ม 2 และเข็ม 3 เพื่อเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ดีมากขึ้น
ศ.นพ.มานพ บอกว่าบนหลักการแล้ว สามารถฉีดต่างยี่ห้อกันได้ มีตัวอย่างงานวิจัยจากประเทศสเปนที่ฉีดแอสตราเซเนกาเข็มแรก แล้วยกเลิกวัคซีนเปลี่ยนมาฉีดไฟเซอร์เป็นเข็ม 2 ก็สามารถทำได้และให้ผลดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าวัคซีนซิโนแวคเข็มหนึ่ง แทบไม่กระตุ้นภูมิคุ้มกันเลย จำเป็นต้องฉีด 2 เข็มให้ครบ แล้วจึงไปฉีดต่างยี่ห้ออีกเข็มหนึ่งเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
อย่างไรก็ตามไม่อยากให้ไปกังวลกับรายชื่อวัคซีนขององค์การอนามัยโลก ที่แม้จะไม่ปรากฏวัคซีนซิโนแวค แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป้าหมายในการระบุรายชื่อวัคซีนขององค์การอนามัยโลกเพื่อที่จะเข้าร่วมโครงการ COVAX และเป็นไกด์ไลน์ให้กับประเทศเล็ก ๆ นำข้อมูลไปพิจารณา ในขณะที่ประเทศไทยมีระบบการอนุมัติยาอย่างดี ก็สามารถมั่นใจได้ รายชื่อวัคซีนที่ปรากฏขององค์การอนามัยโลก ส่งผลด้านความเชื่อมั่นเท่านั้น
ทั้งนี้ ซิโนแวค เป็นวัคซีนเชื้อตาย จึงไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีเท่าที่ควร จึงต้องฉีดให้ครบ 2 เข็ม ขณะที่แอสตราเซเนกาฉีดเข็มเดียว ก็สามารถที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ แต่ก็ยังแนะนำให้ฉีดหากมีโอกาสได้ฉีด เพราะดีกว่าไม่มีอะไรป้องกันเลย ส่วนกรณีฉีดซิโนแวคแล้วไม่สามารถเดินทางไปหลายประเทศโซนยุโรปได้ ไม่เป็นความจริง ยังสามารถเดินทางได้ตามปกติ ถ้ามีวีซ่าและไม่ติดแบล็คลิสต์ เพียงแต่ต้องมีกระบวนการจากตรวจเชื้อ และกักตัวอยู่ที่บ้าน แต่หากฉีดวัคซีนที่ประเทศปลายทางรับรอง ก็อาจจะไม่ต้องมีกระบวนการดังกล่าว