“สปสช.” ตั้งงบฯ 100 ล้าน เยียวยาอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 “โฆษก สธ.” ชี้ ซิโนแวค อาจมีอาการน้อยกว่าแอสตราเซเนกา พร้อมรับมือหลังปูพรมฉีดทั่วไทย
สถิติของผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ หลังฉีดวัคซีนนับตั้งแต่วัคซีน ซิโนแวค ล็อตแรกเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 รวมกับวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ฉีดล่าสุด มีสัดส่วนราว 3% แต่หากคิดเฉพาะวัคซีนแอสตราเซเนกา หลังจากเริ่มฉีดเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. มีสัดส่วนผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ประมาณ 4%
“นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ” โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสัดส่วนของผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเมื่อมีโครงการฉีดวัคซีนจำนวนมาก ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งทางการแพทย์จะไม่ใช้คำว่า “แพ้วัคซีน” ยกตัวอย่าง เช่น โครงการฉีดวัคซีนคอตีบจำนวน 22 ล้านโดส ซึ่งเป็นการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ที่สุด ที่เคยมีในประเทศไทยก่อนหน้านี้ มีสัดส่วนผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ 1 ต่อ 1 ล้านคน นั่นหมายความว่าจะต้องเจอผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ 22 คน แต่ในที่สุดก็พบว่ารายงานผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์จำนวน 18 คน ซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กับวัคซีน หรือไม่มีความสัมพันธ์กับการฉีดวัคซีน แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่าอุบัติการร่วม
“เราฉีดวัคซีนเป็นแสนคน จะต้องมีหนึ่งในแสนคนที่อาจจะไม่สบายอยู่แล้ว แม้ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน”
สปสช. ตั้งงบฯ 100 ล้านบาท จ่ายผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนใน 5 วัน
“นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ได้มีการตั้งงบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อที่จะชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 7 มิ.ย. 2564 มีผู้ร้องเรียนยื่นขอค่าชดเชยจำนวน 368 คน คณะอนุกรรมการพิจารณาจ่ายค่าชดเชยไปแล้ว 262 คน ไม่ผ่านการพิจารณาจ่ายค่าชดเชย 45 คน และอีก 61 คน ยังรอข้อมูลเพิ่มเติม โดยในจำนวนที่จ่ายค่าชดเชย 5 คน เป็นกรณีเสียชีวิต
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใช้หลักการเยียวยา ด้วยความรวดเร็วและพิจารณาให้เสร็จภายใน 5 วัน หลังรับเรื่องร้องเรียน ที่สำนักเขต สปสช. ที่มีอยู่ทั่วประเทศ 13 เขต โดยผู้มีอาการไม่พึงประสงค์สามารถยื่นเรื่องขอรับค่าชดเชยได้ภายใน 2 ปี หลังฉีดวัคซีน คณะกรรมการพิจารณาจากหลักเกณฑ์คร่าว ๆ คือ 1. ต้องฉีดวัคซีนมาแล้ว 2. เกิดอาการไม่พึงประสงค์ 3. อาการนั้นเกิดความเสียหายต่อสุขภาพ ซึ่งก็มีระดับการจ่ายค่าชดเชยตามความเสียหายจากมากไปหาน้อย
“ในกรณีผู้เสียชีวิต แม้จะยังไม่มีผลออกมาพิสูจน์ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนหรือไม่ แต่จะคณะกรรมการพิจารณาจ่ายค่าชดเชยก็จะสันนิษฐานว่าเกิดจากวัคซีนไว้ก่อน โดยดูจากปัจจัยแวดล้อม และสามัญสำนึก โดยไม่ต้องไม่รอการผ่าพิสูจน์ หรือตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนไปฉีดวัคซีน”
อนุบัญญัติดังกล่าว ถือเป็นกฎหมายที่ไม่ชี้ถูกชี้ผิด เป็นการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนมารายงานผลการฉีดวัคซีนที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์กว่าการไปแจ้งหรือไปร้องเรียนสื่อมวลชนให้เป็นข่าว จะไม่ได้รับค่าชดเชยใดใด ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างทำมาตรฐานการจ่ายชดเชย ซึ่งส่วนใหญ่จะจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ที่ต้องนอนพักรักษาโรงพยาบาล และเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนไม่นานมากนัก
“การเปิดกว้างให้ผู้ที่ฉีดวัคซีน ที่รู้สึกมีอาการไม่พึงประสงค์ยื่นขอค่าชดเชย โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ หลายคนอาจเป็นห่วงว่าจะมีจะทำให้มีผู้แอบอ้าง ซึ่งยืนยันว่าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พิจารณามีความรอบครอบและรวดเร็ว อยากประชาชนเข้ามาร้องเรียนมาให้มาก ๆ เพราะการแจ้งข้อมูลจะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์”
“นพ.จเด็จ” ระบุอีกว่าแม้จะพบข้อพิสูจน์ภายหลังว่าอาการไม่พึงประสงค์ที่ได้จ่ายค่าชดเชยไปแล้ว ไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ก็จะไม่เรียกเงินคืน หลังผลการพิจารณาใน 5 วันของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด แต่ทั้งนี้ หากเป็นวัคซีนทางเลือกโดยภาคเอกชน สปสช. จะไม่จ่ายชดเชยให้ เนื่องจากเอกชนมีการฉีดเพื่อทำกำไรอยู่แล้ว จะมีทางอื่นในการดูแลรักษาหากมีอาการไม่พึงประสงค์
ซิโนแวคอาจทำให้มีอาการไม่พึงประสงค์น้อยกว่าแอสตราเซเนกา
ปัจจุบันประเทศไทยมี 2 วัคซีน คือ ซิโนแวค และ แอสตราเซเนกา “นพ.รุ่งเรือง” ระบุว่า วัคซีนซิโนแวค เป็นวัคซีนประเภทเชื้อตาย ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมในการผลิต แม้จะไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงและเร็วเท่าวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่มีข้อดี คือ อาการผลข้างเคียงจะน้อยกว่า
สำหรับวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบไวรัลเวกเตอร์ จึงอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์มากกว่า มีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาพบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนถึง 30% นับรวมทั้งอาการที่สัมพันธ์และไม่สัมพันธ์กับการฉีดวัคซีน ทั้งอาการน้อยไปถึงมาก ขณะที่วัคซีนซิโนแวค พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน 3-5%
ด้าน “นพ.จเด็จ” บอกว่าแม้หลายคนที่มีโรคประจำตัว กังวลว่าหากฉีดวัคซีนไปแล้วเกิดมีอาการไม่พึงประสงค์ มาร้องเรียนเพื่อขอรับค่าชดเชยจะถูกตีตกหรือไม่ ต้องขอยืนยันว่าทางคณะกรรมการไม่ได้พิจารณาจากปัจจัยเรื่องโรคประจำตัวว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน หากรู้สึกว่าการรักษาโรคประจำตัวก่อนฉีดวัคซีน ไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง แต่หลังฉีดวัคซีน มีอาการที่รุนแรงขึ้น ก็ขอให้มาแจ้งให้ทราบ
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปัจจัยเรื่องเพศและอายุก็มีผลกับวัคซีนแต่ละยี่ห้อที่แตกต่างกัน อย่างเช่น วัคซีนแอสตราเซเนกา มักทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในเพศหญิงอายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งเป็นรายงานจากประเทศอังกฤษ เป็นต้น กรณีแบบนี้ประเทศไทยก็มีการเฝ้าระวัง และเก็บข้อมูลซึ่งหากพบสัดส่วนผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนมีแนวโน้มสูงขึ้น ก็อาจจะมีการออกมาตรการอื่น ๆ เพื่อป้องกัน
สธ. เตรียม 3 ด้านรับมืออาการไม่พึงประสงค์หลังปูพรมฉีดทั่วไทย
“นพ.รุ่งเรือง” ระบุว่า หลังจากการปูพรมฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก ๆ อาจต้องรับเรื่องร้องเรียนอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดจำนวนมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงวางมาตรการ 3 ด้าน 1. ด้านการป้องกัน คือ สร้างความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความมั่นใจและลดความเครียดก่อนฉีดวัคซีน สร้างบรรยากาศในสถานที่ฉีดวัคซีนให้รู้สึกผ่อนคลาย และกำชับเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ทำการฉีดวัคซีนให้เบาที่สุด ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่มาปฎิบัติหน้าที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีแล้ว 2. ด้านการเฝ้าระวังและติดตาม สำหรับประเทศไทยพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนน้อยกว่าต่างประเทศ สำคัญคือที่สุดการเก็บข้อมูลเชิงสถิติของผู้มีอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนแต่ละล็อต หากพบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด 1 ต่อ 1 หมื่นคน กระทรวงสาธารณสุข จะประกาศยุติการฉีดชั่วคราว เพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ยังจะต้องค้นหาเชิงรุกสำหรับผู้ที่ฉีดไปแล้วติดตามอาการต่อในระยะยาว 3. ด้านการดูแลรักษา หากมีผู้มีอาการไม่พึงประสงค์จะให้การดูแล ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม
เล็งดึง อบต.- อสม. รับเรื่อง ปชช. ขอค่าชดเชยอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน
“นพ.จเด็จ” กล่าวอีกว่า สปสช. เตรียมขยายจุดรับเรื่องร้องเรียนอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยจะหารือกับองค์การบริหารส่วนตำบล และ อสม. ให้เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนในอนาคต ซึ่งในช่วงเวลานี้เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากผู้คนจึงต้องการฉีดวัคซีน แต่ถ้าหากอีก 2 เดือนจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง คนก็อาจจะไม่อยากฉีดวัคซีนเพราะกลัวอาการไม่พึงประสงค์ เพราะฉะนั้น เรื่องของค่าชดเชยที่พยายามจะให้ความมั่นใจประชาชน ก็เพื่อต้องการให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนและมั่นใจว่าจะปลอดภัย รัฐจะดูแลและรับผิดชอบอย่างเต็มที่ โดยมีประเทศที่ดำเนินการจ่ายค่าชดเชยผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนในลักษณะแบบนี้ จำนวนกว่า 20 ประเทศ จาก 190 ประเทศทั่วโลก และจากงบประมาณที่ตั้งไว้ 100 ล้านบาท หากไม่เพียงพอ ก็จะขอจัดสรรเพิ่ม