เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศ “ซิโนฟาร์ม” เข็มละ 888 บาท ตั้ง 4 เงื่อนไขสอดรับ อปท. จัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ขณะที่จีนจำกัดโควตาส่งออกวัคซีนมาไทย เดือนละ 3 ล้านโดส
“โดยที่ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ผลิตหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร
ยังมีจำนวนจำกัด หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
มาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ ให้จัดหาจากหน่วยงานตามข้อ 3
(กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติสภากาชาดไทย
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ)
และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง”
ข้อความส่วนหนึ่งที่ระบุลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 8 มิถุนายน 2564 เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ข้อ 5 ระบุชัดเจนว่า เปิดทางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้งบประมาณเพื่อการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยราชกิจจานุเบกษาระบุต่อไปว่า…
“หลักเกณฑ์หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือนายกรัฐมนตรีกำหนดการดำเนินการตามวรรคหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ให้เป็นไปตามแนวทางหรืออยู่ในการกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพด้านงบประมาณและรายได้ ที่แตกต่างกัน และเพื่อให้การกระจายวัคซีนในห้วงเวลาวิกฤติมีความเป็นธรรมมากที่สุด
ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนและให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวก แก่ประชาชนในพื้นที่ในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนรวมของประเทศ”
ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2564 “ศ.นพ.นิธิ มหานนท์” เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แจ้งประกาศ ข้อกำหนดผู้ขอรับการจัดสรรวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” ทางเฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda สอดรับกับประกาศราชกิจจานุเบกษา เปิดทางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาวัคซีนได้ทันที โดยระบุ 1 ใน 4 เงื่อน ต้องเป็นองค์กรนิติบุคคลหรือหน่วยงานทั้งภาครัฐ (สำหรับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้เป็นไปตามประกาศ ศบค. เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ข้อ 5)
องค์กรการกุศลและหน่วยงานเอกชน โดยจะพิจารณาการจัดสรรในระยะที่ 1 ตามประเภทการดำเนินงานของหน่วยงาน (ความสำคัญด้านความมั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำ) ระดับความเสี่ยงของโอกาสในการแพร่เชื้อให้กับสังคม และระดับความเสี่ยงโควิดบนพื้นที่ของทำเลที่ตั้งสถานประกอบการ
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ยังกำหนดอัตราวัคซีนตัวเลือก ซิโนฟาร์ม ราคาเข็มละ 888 บาท อัตราดังกล่าวรวมค่าวัคซีน ค่าขนส่ง ค่าเก็บรักษา พร้อมประกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากวัคซีนแล้ว แต่ไม่รวมค่าบริการของโรงพยาบาลและค่าบริการทางการแพทย์ที่ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาลที่ทางองค์กร หรือหน่วยงานติดต่อประสานเพื่อการบริการฉีดวัคซีน
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนในระยะที่สองสำหรับบุคคลทั่วไปที่ประสงค์จะเข้ารับการฉีดวัคซีนตัวเลือกนี้ จะประกาศให้ทราบต่อไป หลังจากตรวจสอบระบบความปลอดภัย และการเชื่อมต่อข้อมูลกับสถานพยาบาลแล้ว
The Active สอบถามไปยัง “ซ้อสมทรง” หรือ “สมทรง พันธ์เจริญวรกุล” นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ได้จัดเตรียมงบประมาณไว้แล้ว 300 ล้านบาท เพื่อซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 300,000 โดส เฉลี่ยโดส ละ 1,000 บาท ยืนยันว่าการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวไม่กระทบกับแผนการใช้งบประมาณอื่น ๆ ของ อบจ. โดยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดหาวัคซีนทางเลือกเข้ามาฉีดเพิ่มเติมกับของรัฐบาลที่ได้รับจัดสรรมาแล้ว ให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ พระนครศรีอยุธยา เป็นเมืองท่องเที่ยว มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กว่า 2,000 โรง การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา สร้างผลกระทบต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทาง อบจ.พระนครศรีอยุธยา ได้จัดสรรงบประมาณในการป้องกัน และจัดสร้างห้องผู้ป่วยแยกโรค รวมถึงเครื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 มาโดยตลอด
“หลังจากที่มีการปลดล็อกการใช้งบประมาณขององค์กรท้องถิ่นผ่าน ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ศบค. ดังกล่าว สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีสมาชิกทั้ง 76 จังหวัดก็ได้พูดคุยกันเพื่อเร่งติดตามวันและเวลาที่จะได้ซื้อ และได้รับส่งมอบโดยเร็ว”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าประเทศจีนจำกัดโควตาส่งออกวัคซีนโควิด-19 มายังประเทศไทยเพียงเดือนละ 3 โดสเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยได้สั่งวัคซีนซิโนแวค จากประเทศจีนเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงทำให้มีโควตาการส่งมอบทั้ง 2 ยี่ห้อรวมกันไม่เกิน 3 ล้านโดส คาดว่าล็อตแรกของวัคซีนซิโนฟาร์มที่จะนำเข้ามายังประเทศไทยในเดือน มิ.ย. จะมีเพียง 1 ล้านโดสเท่านั้น