คาด เลือกตั้งเทศบาล 68 “บัตรเสีย” มากกว่าครั้งก่อน จี้ กกต. เร่งเผยผลการเลือกตั้ง

We Watch ออกแถลงการณ์ พบความผิดปกติ แนะ 5 ข้อเสนอ ยกระดับเลือกตั้งท้องถิ่น ให้ ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

แม้ยังไม่มีการประกาศตัวเลขบัตรเสียอย่างเป็นทางการ แต่จากประมวลข้อค้นพบจากรายงานการสังเกตการณ์ เครือข่ายเยาวชนสังสัเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) พบข้อกังวลเกี่ยวกับ จำนวนบัตรเสีย ที่อาจสูงกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยคาดว่า เป็นผลจากการออกแบบบัตรเลือกตั้ง และข้อกำหนดที่ไม่สอดคล้องกับความเข้าใจของประชาชน

ปัญหาที่ตามมา คือ เจ้าหน้าที่ในบางหน่วยเลือกตั้งยังขาดความชัดเจนในการแยกแยะระหว่าง “บัตรดีบางส่วน” กับ “บัตรเสีย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การตัดสินใจที่คลาดเคลื่อน และทำให้บัตรที่น่าจะนับว่าใช้สิทธิถูกต้องกลับถูกตัดสินเป็นบัตรเสียโดยไม่จำเป็น

โดยจากแถลงการณ์ We Watch โดยสรุป คือ การเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาทั่วประเทศ เมื่อวันที่11 พ.ค.2568 จบลงท่ามกลางข้อกังวลหลายประการที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใส และความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ข้อมูลเชิงประจักษ์ภาคสนามที่ได้รับรายงาน จากนักสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้สะท้อนถึงปัญหาเรื่องระบบ และการจัดการที่ส่งผลต่อคุณภาพ และกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ปัญหาหลักที่ We Watch พบ คือ

  • การจัดหน่วยเลือกตั้งที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ลักษณะหน่วยเป็นห้องทึบ ไม่เอื้อต่อการสังเกตการณ์
  • พบกรณีบัตรตัวอย่างที่ติดประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้งไม่ตรงกับบัตรเลือกตั้งจริง สะท้อนถึงความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน กับ แนวทาง หรือมาตรฐานที่ควรจะเป็น กระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการเลือกตั้ง
  • พบข้อกังวลเกี่ยวกับจำนวนบัตรเสียที่อาจสูงกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยคาดว่าเป็นผลมาจากการออกแบบบัตรเลือกตั้ง และข้อกำหนดที่ไม่สอดคล้องกับความเข้าใจของประชาชน โดยเฉพาะกรณี การเลือกสมาชิกสภาเทศบาล ที่สามารถทำเครื่องหมายกากบาทได้ถึง 6 หมายเลข ซึ่งทำให้เกิดกรณีที่เรียกว่า “บัตรดีบางส่วน” ในการเลือกตั้งครั้งนี้
  • We Watch ยังพบว่าในหลายหน่วยเลือกตั้ง ใช้ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งที่เป็นสีขาว-ดำ และในบางพื้นที่มีการใช้ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งแนวทางเดียวกันกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มีการแบ่งสีตามภูมิภาค ทั้งในการเลือกตั้งเทศบาล
    บัตรเลือกตั้งมีรูปแบบและสีที่แตกต่างกันออกไป โดยบัตรเลือกนายกเทศมนตรี เป็นสีเหลืองทอง และบัตรเลือกสมาชิกสภาเทศบาลเป็นสีเขียว ความคลาดเคลื่อนดังกล่าวอาจสร้างความสับสนให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และชี้ให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
  • พบกรณี ผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางราย นำใบปลิวหาเสียงเข้าคูหา เนื่องจากจำหมายเลขผู้สมัครไม่ได้ เหตุการณ์นี้สะท้อนความไม่ชัดเจนในการออกแบบบัตรเลือกตั้ง ตลอดจนการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัคร และวิธีการลงคะแนนที่ยังไม่ครอบคลุมพอ
  • พบพฤติกรรมอาจเข้าข่ายการใช้เงิน และผลประโยชน์จูงใจให้เลือกผู้สมัครในหลายพื้นที่ เช่น เทศบาลเมืองมหาสารคาม เทศบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดพัทลุง และสมุทรสาคร ซึ่งมีความเข้มข้นกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือระดับชาติในครั้งที่ผ่านมา
  • บางพื้นที่มีลักษณะการแข่งขันที่จำกัด มีผู้สมัครเพียงคนเดียว ทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือกที่หลากหลายในการลงคะแนน และบางกรณีแม้จะมีผู้สมัครหลากหลาย แต่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลายรายตัดสินใจ “งดออกเสียง” เช่น หมู่บ้านห้วยฮ่อม ตำบลบ้านเวียง อ.ร้องกวาง จ.แพร่ มีผู้มาใช้สิทธิ 747 คน แต่กลับมีผู้ใช้สิทธิเพียง 10 คน และทั้งหมดเลือก “งดออกเสียง”
  • หลายพื้นที่ยังมีกรณี เจ้าหน้าที่ไม่อม่ นุญาตให้นักสังเกตการณ์และประชาชนเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ทั้งที่เป็นสิทธิพลเมืองที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย

5 ข้อเรียกร้อง We Watch เร่งเผยแพร่ผลการ และ ทบทวนการเลือกตั้งท้องถิ่น

เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) จึงมีข้อเรียกร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 5 ประเด็นสำคัญ โดยสรุป คือ

  • การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในปัจจุบันจำเป็นต้องได้รับการทบทวนและปรับปรุงเร่งด่วน ให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้งได้อย่างสะดวก ทั่วถึง และเป็นธรรม โดยต้องจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับในวันเดียวกันทั่วประเทศ
  • คณะกรรมการการเลือกตั้งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทบทวน และปรับปรุงการออกแบบบัตร เลือกตั้งให้ชัดเจนและเข้าใจง่าย
  • ตรวจสอบ และจัดการกับปัญหาการลาออก ก่อนครบวาระ ของผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อ ป้องกันการเลือกตั้งซ้ำซ้อน การผลักภาระให้ประชาชนและท้องถิ่น การใช้จ่ายทรัพยากรและงบประมาณ ที่ไม่จำเป็น นอกจากนั้นยังขอเรียกร้องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ให้ช่วยกันหาข้อสรุป และแก้ไขปัญหาการลาออกก่อนครบวาระ
  • พัฒนาความโปร่งใส และความเป็นกลางในการเลือกตั้ง โดยสร้างมาตรการควบคุมดูแลความ เป็นกลางของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) รวมทั้งกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อให้เป็น บรรทัดฐานเดียวกัน เพื่อลดการละเมิดสิทธิของประชาชนและป้องกันการทุจริตในกระบวนการเลือกตั้ง
  • คณะกรรมการการเลือกตั้ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมสังเกตการณ์ อย่างเป็นรูปธรรม ให้ประชาชนสามารถสังเกตการณ์ได้อย่างราบรื่น และปราศจากอุปสรรค

เครือข่ายเยาวชนสังกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย We Watch ขอเรียกร้องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เร่งเผยแพร่ข้อมูลผลการเลือกตั้ง เทศบาลอย่างเป็นทางการโดยเร็ว และโปร่งใส พร้อมทั้งทบทวนกระบวนการจัดการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงในอนาคต และที่สำคัญที่สุด คือ ต้องยกระดับมาตรฐานของการเลือกตั้งท้องถิ่นให้เป็นพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active