“นิพนธ์ ทีดีอาร์ไอ” เตือน พล.อ.ประยุทธ์ แก้ปัญหาโควิด-19 ไม่ได้ รัฐบาลไปไม่รอด “ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ” แนะ วางเป้าหมายควบคุมโรคระยะสั้น ต้องทำอะไรบ้างภายใน 1 เดือนก่อนเปิดประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การตั้งเป้า 120 วันเปิดประเทศ” ส่งผลดีต่อคนที่ทำมาหากินรายวันและภาคการท่องเที่ยว ให้ใจชื้นขึ้นมาบ้างหลังซบเซามานาน แต่สวนทางกับด้านวิชาการ ที่ยังเป็นห่วงว่าความพยายามสร้างสมดุลสุขภาพและเศรษฐกิจสังคมของรัฐบาลนี้ จะควบคู่กันไปได้หรือไม่ แม้ยอมรับว่าการประเทศ เปิดเมืองเป็นเรื่องดี แต่ต้องไม่กระทบระบบสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องมีแผนบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งยังไม่เห็นแผนดังกล่าว หลัง “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายสำคัญนี้ไปเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2564
“รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร” นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แนะว่ารัฐควรมีแผนจัดการความเสี่ยง โดยการจำแนกความเสี่ยงเป็นหลายด้าน เช่น ความเสี่ยงด้านการกลายพันธุ์ของไวรัส และประสิทธิภาพของวัคซีนที่จะรับมือ หากพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ความเสี่ยงด้านการฉีดวัคซีนจำนวน 105 ล้านโดส จะสามารถจัดการ ได้ตามเป้าหมายหรือไม่ และในระหว่างที่วัคซีนยังมาไม่ครบ ก็มีความเสี่ยงที่โรคจะระบาดผ่านรูรั่วบริเวณชายแดนที่จะมีผู้คนข้ามเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ขณะที่ระบบกักกันโรคและตรวจคัดกรองติดตาม ยังทำได้ไม่เต็มศักยภาพ เห็นได้จากการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ในโรงงาน ตลาด ชุมชนแออัด และแคมป์คนงานก่อสร้าง ที่มีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา ต้องแก้ปัญหาควบคุมและอุดรอยรั่วปัญหาเหล่านี้ให้หมดก่อนที่จะเปิดประเทศ
ด้าน “พล.อ.ท. นพ.อนุตตร จิตตินันทน์” ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กังวลว่าหากครบ 120 วัน แล้วสถานการณ์ยังไม่สู้ดี รัฐบาลจะสามารถเลื่อนวันเปิดประเทศออกไปได้หรือไม่ หรืออีกแง่หนึ่งหากมองว่า 120 วันเป็นเพียงวิสัยทัศน์ ที่ต้องการวางไว้เป็นนโยบายให้ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน ก็มีโอกาสเป็นไปได้ว่าจะสามารถควบคุมโรคได้ แต่หากถึง 120 วันแล้วผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในหลัก 2,000-3,000 คน ขณะที่ผู้ติดเชื้อต่างประเทศยังมากอยู่ ก็เป็นความเสี่ยงที่น่ากลัว
ปัจจุบันแผนกลยุทธ์และแผนบริหารความเสี่ยงของรัฐบาล ยังไม่มีความชัดเจนตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังสงกรานต์ที่ผ่านมายังไม่มีแนวโน้มลดลง ส่วนใหญ่ยังคงพบการติดเชื้อในระบบบริการ และยังคงมีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่องยากที่จะหยุดได้ ขณะที่มาตรการควบคุมโรคขั้นสูงสุดและเข้มข้นอย่างมาตรการล็อกดาวน์ซึ่งได้ผล ก็กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ในทางการแพทย์ต้องการให้มีการตัดตอน หยุดวงจรระบาดเพื่อกดตัวเลขผู้ติดเชื้อลงมาและพร้อมเปิดประเทศ
เปิดประเทศได้ ต้องกดผู้ติดเชื้อเหลือ 500 คน/วัน
การเปิดประเทศเร็วขึ้น 1-2 เดือน จะทำให้ GDP เติบโตขึ้นราว 1.2 - 1.5 แสนล้านบาทต่อเดือน “รศ.นิพนธ์” คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจพร้อมระบุว่ามองในแง่ดี เปิดประเทศจะไม่ต้องกู้เงินมาเยียวยาอีก แต่ถ้าสถานการณ์หลังเปิดประเทศเลวร้ายลง อาจส่งผลต่อเสถียรภาพและความอยู่รอดของรัฐบาล และหากประเทศไทยยังไม่สามารถควบคุมผู้ติดเชื้อให้ลงมาถึงหลักร้อย หรือ 500 คนต่อวัน ก็ยังคงกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจยังไม่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย เพราะไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย
อย่างไรตาม มองในมิติด้านสังคม การเปิดประเทศก็ยังส่งผลดีต่อความรู้สึกประชาชน และผู้ประกอบการร้านอาหารให้กลับมาทำมาหากิน เด็กได้ไปโรงเรียน ส่งผลในเชิงจิตวิทยาให้คนรู้สึกมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นได้เข้าสู่วิถีปกติ พบเพื่อนฝูง
นักการเมืองแย่งงานข้าราชการประจำ ปัญหาบริหารในภาวะวิกฤต
การบริหารประเทศในภาวะวิกฤตไม่ใช่เรื่องง่ายและจำเป็นต้องมีความชัดเจนในการแบ่งอำนาจเพื่อบริหารจัดการ คือ อีกแง่มุนที่ “รศ.นิพนธ์” กล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลในขณะนี้ โดยชี้ว่า ประเทศไทยไม่มีระบบบริหารความเสี่ยงอย่างแท้จริง ทุกครั้งที่เกิดวิกฤต มักตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาเหมือนเป็นผักชีโรยหน้า ประเด็นสำคัญคือการแบ่งอำนาจหน้าที่ในการทำงาน
ตามหลักการ นักการเมืองหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวง จะต้องเป็นคณะกรรมการนโยบาย และให้ข้าราชการประจำเป็นผู้ปฏิบัติงาน แต่ในปัจจุบันนักการเมืองมักจะไม่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายของตัวเอง แต่ชอบลงมาทำงานของข้าราชการประจำ เช่น วิกฤตน้ำท่วม นักการเมืองถือกุญแจประตูระบายน้ำเอง เพื่อจัดการหวังคะแนนเสียง สิ่งที่เกิดตามมา คือ ความวุ่นวาย สถานการณ์โควิด-19 ก็เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างการบริหารจัดการวัคซีนที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง นักการเมือง ไปตั้งจุดฉีดวัคซีนเอง แย่งโควตาวัคซีน
“ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่ามันผิดเพี้ยนในระดับนโยบาย เอาข้าราชการมานั่งทำงาน แล้วนักการเมืองเป็นฝ่ายปฏิบัติ ไม่ถูกต้อง อันที่จริงแล้วนักการเมืองต้องคุยกัน แบ่งเค้กกันให้เสร็จสรรพ ให้เกิดความชัดเจน และสั่งการลงมาให้ข้าราชการทำงานตามนโยบาย”
ต้องทำอะไรบ้างภายใน 1 เดือนก่อนเปิดประเทศ
หากนับถอยหลังเปิดประเทศของรัฐบาลกลับไม่วางเป้าหมายระยะสั้นรอบ 1 เดือน บอกมาเพียง 120 วัน ไม่กำหนดว่าจะต้องทำอะไรบ้าง “พล.อ.ท. นพ.อนุตตร” แนะว่าภายใน 1 เดือนรัฐบาลจะต้องวางเป้าหมายควบคุมโรคในระยะสั้นและระยะยาว ว่าต้องควบคุมโรคได้เท่าไร ยังไม่เห็นเป้าหมายระยะสั้นในการควบคุมโรค
ในมุมมองแพทย์ต้องการมาตรการควบคุมสูงสุด คือ ล็อกดาวน์ แต่ก็เข้าใจความลำบากทางเศรษฐกิจ การที่ผู้นำตั้งเป้าวิสัยทัศน์ได้นั้น ต้องเกิดจากความเชื่อมั่นให้ทุกคนปฏิบัติตาม แต่ทุกวันนี้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลมีน้อย ข้อควรระวังคือการเปิดประเทศทั้งที่ยังไม่พร้อม นอกจากจะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว ยังอาจทำให้ผู้ติดเชื้อสูงมากขึ้น
ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ บอกอีกว่าก่อนถึง 120 วัน การควบคุมโรคจะต้องทำให้ถึงจุดที่เกิดความเชื่อมั่นภายใน 1 เดือน คือ 1. มีการตรวจเชิงรุกหาผู้ป่วยให้มากที่สุด 2. อุดรูรั่วทั้งหมดจากการระบาด ไม่ว่าจะเป็นแรงงานการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง รวมทั้งเคร่งครัดมาตรการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม เพราะที่ผ่านมาหย่อนยาน ไม่มีการควบคุม ถ้าจะเปิดกิจการ ทุกคนต้องให้ความร่วมมือ 3. วัคซีนที่จะให้ได้ฉีดได้ถึง 50 ล้านคนใน 120 วัน ปัจจุบันทั้งประเทศเพียง 7 ล้านคน เหลืออีก 43 ล้านคน เฉลี่ยแล้วจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ถึงวันละ 3-4 แสนคน โดยหากพิจารณาจากวันที่ 7 มิถุนายนซึ่งเป็นวัน Kick Off ฉีดวัคซีนทั่วประเทศสามารถฉีดได้ถึง 4 แสนคน นั่นหมายความว่าเรามีศักยภาพที่ฉีดจำนวนมาก ๆ แต่ปัญหาคือไม่มีวัคซีนเพียงพอ เมื่อจัดหาวัคซีนไม่พอความเชื่อมั่นก็ลดลง
การฉีดวัคซีนที่ผ่านมาเริ่มจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มผู้สูงอายุโรคประจำตัว ถูกต้องแล้ว เพราะเป้าหมายของวัคซีนเพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตใน 2 เดือนแรก ควรจะฉีดให้กับสูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวให้ครบ แล้วนำวัคซีนที่เหลือหลังจากนี้ฉีดลงไปในพื้นที่ที่มีการระบาด ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ประชาชนเคลื่อนย้ายตลอดเวลาคนจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ก็อาจจะพาโรคแพร่ต่อได้
“สิ่งที่กังวลไปอีก อาจจะไม่ต้องถึง 120 วัน คือรอบบ้านก็มีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ระบาด และในบ้านเราหากเกิดการระบาดเยอะ ๆ ไปนาน ๆ ก็มีโอกาสเกิดสายพันธุ์ไทย ที่จะเป็นความเสี่ยงต่อไปว่าวัคซีนที่มีอยู่จะมีประสิทธิภาพรองรับป้องกันโรคได้หรือไม่เมื่อถึงจุดนั้นอาจมีปัญหา”
เตือน พล.อ. ประยุทธ์ แก้ปัญหาโควิด-19 ไม่ได้ รัฐบาลไปไม่รอด
ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลานับปีแล้ว ไม่เกินความคาดหมายของ “รศ.นิพนธ์” ที่เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจขณะนี้ดิ่งลงเหว และปัญหาสังคมจะรุนแรงมากขึ้น หากรัฐบาลนี้ไม่สามารถกอบกู้แก้ไขสถานการณ์ จะเกิดภาวะ “ระส่ำ” สั่นคลอนความอยู่รอดของรัฐบาล
“เมื่อรู้แบบนี้แล้วจะหาทางป้องกันอย่างไร การจัดการความเสี่ยง และการตัดสินใจบนความรู้ หลักวิทยาศาสตร์ สามารถทำได้ แต่รัฐไม่ทำ ทั้งที่มีบุคลากรที่มีความสามารถ”
เขามองว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ ระบุประเภทความเสี่ยง และประเมินความเสี่ยง จากมากไปน้อยในแต่ละเรื่อง และต้องประเมินความเสี่ยงในทุก ๆ ปัจจัย เพื่อหาแนวทางแก้ไข เช่นความเสี่ยงจากวัคซีนที่จะได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส มีมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่ได้วัคซีนมีแผนรับมือต่อไปอย่างไร แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย มีความเสี่ยงมากถึงน้อยแค่ไหน ที่จะนำโควิด-19 เข้ามา และจะป้องกันตรงนี้อย่างไร รวมถึงความเสี่ยงจากการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ มีมากน้อยแค่ไหน ป้องกันอย่างไร
“รศ.นิพนธ์” ประเมินว่าประเด็นที่เป็นความเสี่ยงมากที่สุด คือ “การระบาดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ” อาจจะมีขึ้นได้ ควบคุมยาก ก่อนหน้านี้ทีดีอาร์ไอเคยมีข้อเสนอให้ กทม. ตั้งทีมตรวจเชื้อเชิงรุก 200 ทีม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีบุคลากรเพียงพอ ทุกวันนี้จึงรอให้เจอการระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือ เป็นคลัสเตอร์ก่อนแล้วค่อยตรวจเชื้อเชิงรุก แต่ในความเป็นจริงแล้วเราต้องตรวจเชื้อเชิงรุก ก่อนที่จะเจอการระบาดเป็นคลัสเตอร์
- อ่านเพิ่ม 3 มาตรการคุมระบาด ฟื้นตลาด ฟื้นชุมชน