น่าห่วง! “คนไร้บ้าน” ย่านรังสิต – จนท.พม. ติดโควิด-19 เพิ่ม จี้รัฐตั้งศูนย์ฯ ดูแลทุกมิติ

เครือข่ายคนไร้บ้าน ยอมรับ สถานการณ์ส่อเค้าวิกฤต เรียกร้องเร่งตรวจคัดกรองเชิงรุก เปิดช่องเข้าถึงวัคซีน ปิดจุดเสี่ยงคนไร้บ้านรับเชื้อ แพร่เชื้อในที่สาธารณะ


18 มิ.ย. 2564 – The Active ลงพื้นที่ จ.ปทุมธานี เพื่อติดตามความคืบหน้า การดำเนินงาน จุดประสานงานย่อยช่วยเหลือคนไร้บ้าน จ.ปทุมธานี “เพื่อนไม่ทิ้งกัน” ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือคนไร้บ้านในสถานการณ์โควิด-19 แห่งแรก จากความร่วมมือกันของ เทศบาลนครรังสิต, ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ปทุมธานี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของของมนุษย์ (พม.), สมาคมคนไร้บ้าน, มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

จุดประสานงานย่อยช่วยเหลือคนไร้บ้าน จ.ปทุมธานี “เพื่อนไม่ทิ้งกัน”



โดยจุดประสานงานฯ ดังกล่าว ดำเนินการทุกวันศุกร์ มีเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พม. อาสาสมัครเครือข่ายคนไร้บ้าน และ อาสาสมัครมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย คอยเก็บรวบรวมข้อมูลประวัติคนไร้บ้าน ตรวจสอบสิทธิต่าง ๆ ที่พึงได้รับ อย่างสิทธิการรักษาพยาบาลหากคนไร้บ้านมีปัญหาสุขภาพ หรือเจ็บป่วย รวมทั้งการเข้าถึงการตรวจคัดกรองโควิด-19 การเตรียมตัวเพื่อฉีดวัคซีน เพราะคนไร้บ้านบางคน ไม่ได้ติดตามข่าวสาร ไม่มีโทรศัพท์มือถือ จุดประสานงานฯ นี้ จึงเป็นอีกกลไกช่วยให้คนไร้บ้านได้เข้าถึงสิทธิเหล่านี้


สำหรับสัปดาห์ที่ 2 ของการตั้งจุดประสานงานฯ TheActive พบว่า มีเพียงอาสาสมัครเครือข่ายคนไร้บ้าน และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยเท่านั้น ไม่พบเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พม. ลงพื้นที่ด้วย “สมพร หาญพรม” ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ชี้แจงสาเหตุว่า เกิดจากเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครอง จ.ปทุมธานี ต้องกักตัว หลังลงพื้นที่สำรวจ ดูแลกลุ่มคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะเมื่อสัปดาห์ก่อน และได้สัมผัสใกล้ชิด กับคนไร้บ้านย่านรังสิตคลองสอง มีอาการป่วยเข้าข่ายต้องสงสัย ซึ่งผลจากการตรวจโควิด-19 ก็ให้ผลยืนยันว่าคนไร้บ้านดังกล่าวติดเชื้อโควิด-19

“หลังพบคนไร้บ้านในที่สาธารณะติดเชื้อโควิด  เจ้าหน้าที่ฯ ที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือ ก็ต้องกักตัว และตรวจหาเชื้อ  ซึ่งปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ 2 คน มีผลเป็นบวก ติดเชื้อโควิดด้วย เลยทำให้เจ้าหน้าที่ชุดนี้ ไม่ได้ร่วมลงพื้นที่ที่ศูนย์ประสานงานดังกล่าว”



สมพร หาญพรม” ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย



ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  มองว่า กรณีนี้สะท้อนสถานการณ์การระบาดในกลุ่มคนไร้บ้านที่น่ากังวลมากขึ้น เพราะพวกเขาถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ที่แม้จะอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง แต่ก็ต้องทำมาหากิน หรือเอาตัวรอด โดยเฉพาะช่วงนี้ ที่ต้องรับข้าวของบริจาค จึงมีโอกาสรับเชื้อและแพร่เชื้อได้ เพียงแต่คนกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการตรวจคัดกรองเชิงรุกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น



 “ผมว่ากลุ่มคนไร้บ้านน่าจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ด้วยซ้ำ ที่จะถูกตรวจเชิงรุก เพราะว่าเขาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ต้องเดินทางไปโน่นมานี่ ทำงานในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะตอนนี้ที่โควิดระบาดหนักใน กทม. แต่คนไร้บ้านกลับไม่ถูกพูดถึง และไม่ได้รับการตรวจเชิงรุกเลย อย่างที่ จ.ปทุมธานี จากการสำรวจพบคนไร้บ้านประมาณ 100 คน  ถ้าเปรียบกับ กทม.ซึ่งมี 1,000 – 2,000 คน ผมคิดว่านี่แหละ เป็นเหตุผลสำคัญที่เราเสนอเรื่องการตรวจหาเชื้อโควิดในพี่น้องกลุ่มเปราะบาง และคนไร้บ้านใน กทม.ด้วย”



ส่วนกรณีที่กังวลว่าการติดตามคนไร้บ้านหลังการตรวจเชิงรุกอาจเป็นเรื่องยาก ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เห็นว่า หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกัน สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ เพราะคนไร้บ้านเข้าใจและพร้อมให้ความร่วมมือ เพราะพวกเขาก็เผชิญกับความเสี่ยงโดยตรง ส่วนที่กังวลกันว่า หากคัดกรองแล้วพวกเขาจะไม่จัดการตัวเองต่อ อาจเป็นการคิดไปเอง เพราะจริง ๆ แล้วถ้าหากมีจุดประสานงานฯ ในพื้นที่สาธารณะเพิ่ม เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องการควบคุมโรค หรือทำให้พวกเขาเข้าถึงหน่วยงานภาครัฐ น่าจะทำให้การดูแลคนไร้บ้านในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้เดินหน้าไปได้


“ต้องมีศูนย์ประสานงานในพื้นที่สาธารณะเพิ่ม และทำงานเชิงรุก ตรวจคัดกรองเชิงรุกคนไร้บ้าน ตอนนี้มันจะโยนภาระให้ใคร คนใดคนหนึ่งไม่ได้แล้ว เพราะว่าถึงแม้ว่าคนกลุ่มนี้ จะอยู่ภายใต้ พม.ที่รับผิดชอบคนกลุ่มนี้ แต่ก็ต้องได้รับความร่วมไม้ร่วมมือจากทาง กทม. และ จังหวัด ที่มีคนไร้บ้านอาศัยอยู่ด้วย อีกส่วนคือกระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำให้คนไร้บ้านได้เข้าถึงการตรวจ และการฉีดวัคซีน ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน”



The Active ยังได้พูดคุยกับ ณรงค์ (นามสมมติ) คนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตบริเวณสถานีรถไฟรังสิต จ.ปทุมธานี ยอมรับว่า กังวลหลังทราบข่าวการติดเชื้อโควิดของคนไร้บ้านที่อยู่ตามที่สาธารณะในพื้นที่รังสิต คลองสอง ส่วนตัวอยากตรวจคัดกรองเชิงรุก และเข้าถึงวัคซีน แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าถึงอย่างไร ดังนั้นเมื่อมีศูนย์ประสานงาน มีภาคส่วนต่าง ๆ  มาให้คำแนะนำ ก็รู้สึกมีความหวัง ว่า จะสามารถเข้าถึงสิทธิการช่วยเหลือต่าง ๆ และการเข้าถึงอาชีพด้วย

“ตอนนี้ตกงาน รปภ.มาเกือบ 3 เดือน  พยายามไปสมัครงานรับจ้างยกของ เข็นของที่ไหนก็ไม่มีคนรับ ต้องอาศัยอาหารที่เครือข่ายต่าง ๆ นำมาบริจาค หากได้ตรวจคัดกรอง เข้าถึงวัคซีน ได้รับการรับรองว่าผ่านการฉีดวัคซีนแล้ว น่าจะหางานได้ง่ายขึ้น”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ