“พิธา” ร่ายยาว รธน. 40 เคยดี เพราะเชื่อว่าจะไม่มี รปห. อีก ชี้ ต้องแก้ปมที่ยังไม่ลงตัวจาก 2475

หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายความเห็นต่อร่างแก้ไข รธน. ย้ำ ต้องปิดสวิตช์ ส.ว. เปิดทางร่างฉบับใหม่ ด้วยประชามติของประชาชน ตั้งคำถาม อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของใคร

24 มิ.ย. 2564 – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะสมาชิกรัฐสภา เป็นผู้อภิปรายคนสุดท้ายในสัดส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในการให้ความเห็นต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยระบุถึงความจำเป็นที่ต้องมีการจัดทำประชามติ เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ

เขาระบุว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 สมาชิกวุฒิสภาจะมาจากการเลือกตั้ง แต่สุดท้าย รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปธงเขียวก็จบลงด้วยการรัฐประหาร 2549 หลังจากนั้น การเมืองไทยก็ถอยหลังลงคลองเรื่อยมา จนมาจบที่รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญ ประสบการณ์ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของสังคมไทย คือ การจัดรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 การปฏิรูปการเมืองและการจัดทำรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ถูกออกแบบด้วยโจทย์และสถานการณ์ของสังคมไทยเมื่อ 30 ปีก่อน

“ขณะนั้นหลงเชื่อกันว่า ทหารได้กลับเข้ากรมกองไปแล้ว จะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกแล้ว ปัญหาหลักของการเมืองไทยมีเพียงการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง พรรคการเมืองไม่มีความเป็นสถาบัน และรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ”

พิธา กล่าวต่อไปว่า รัฐธรรมนูญ 2540 พยายามออกแบบให้เน้นระบบสองพรรคการเมืองใหญ่ ภายใต้การกำกับควบคุมขององค์กรอิสระต่าง ๆ ที่หวังเป็นกลไกตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ นอกจากนี้ ยังพยายามเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนและขยายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ผลของรัฐธรรมนูญ 2540 ประสบความสำเร็จ ทำให้ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูงมาก ประชาชนได้ผลประโยชน์จากการแข่งขันในเชิงนโยบาย แต่ต่อมาก็เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในปัญหาเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ เกิดคำถามเกี่ยวกับการแทรกแซงองค์กรอิสระ ตนเชื่อว่า หากปล่อยให้สังคมได้เรียนรู้ประสบการณ์และใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยในการแก้ข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สังคมการเมืองไทยคงจะพัฒนาไปไกลกว่านี้มากแล้ว

หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 จนถึงวันนี้ คือ ความขัดแย้งทางการเมืองที่ชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งไม่ยอมให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน โดยแสดงผ่านอำนาจจากการเลือกตั้งในระบบรัฐสภา ดังนั้น ประเด็นที่ควรนำมาเป็นโจทย์ในการพิจารณาถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้และในอนาคต จึงเป็นปัญหาที่ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้ เป็นของใคร ซึ่งนี่เป็นปมปัญหาใจกลางที่ยังไม่ลงตัวนับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475

เขาอธิปรายอีกว่า ปัญหาใจกลางของการเมืองไทยที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่เรื่องงบประมาณของ ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพที่เป็นแค่ตัวหนังสือ ไม่ใช่เรื่องระบบเลือกตั้งที่หวังว่าจะมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมาก เพราะต่อให้ใครชนะเลือกตั้งได้ท่วมท้นเพียงใด ก็เป็นได้แค่เพียง ‘เด็กขี่ม้า’ ดังที่อดีตประธานองคมนตรีท่านหนึ่งได้บรรยายที่โรงเรียนนายร้อย จปร. ต่อหน้าผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นว่า เราเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน

เขาอธิบายต่อในประเด็นนี้ว่า ตราบใดที่ยังแก้ปมปัญหาใจกลางไม่ได้ ก็จะไม่สามารถหลุดออกจากหลุมดำทางการเมืองได้ และสังคมไทยคงจะไม่มีศักยภาพไปทำเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนายุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการทลายทุนผูกขาดที่เกาะกุมกันแน่นกับระบบการเมืองที่ผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าให้ประชาชนพร้อมที่จะเผชิญกับโลกยุคใหม่ หรือไม่ว่าจะเป็นการยกเครื่องระบบการศึกษาให้ลูกหลานของเราเท่าทันโลก

“เมื่อมองเห็นการเมืองที่เป็นจริงเช่นนี้ ผมและพรรคก้าวไกลจึงเสนอให้รัฐสภาเร่งเดินหน้าการจัดทำประชามติเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้แสวงหาฉันทามติร่วมกันว่าระบบการเมืองแบบไหนที่เรายอมรับที่จะอยู่ร่วมกัน แม้จะมีความคิด ความฝัน หรืออุดมการณ์ไปกันคนละแบบ” 

พิธา อภิปรายในตอนท้ายว่า การลงมติเฉพาะหน้าวันนี้ หากไม่ร่วมกันปิดสวิตช์ ส.ว. การแก้ไขรัฐธรรมนูญในรอบนี้จะไม่มีความหมาย เป็นเพียงละครตบตาประชาชนฉากใหญ่

“ท้ายที่สุดนี้ ผมขออวยพรผ่านไปยังผู้มีอำนาจทุกท่าน ที่เชื่อว่าตัวเองจะสามารถเหนี่ยวรั้งเข็มนาฬิกาไว้ได้ ผมขออวยพรให้ท่านมีอายุยืนเพียงพอที่จะเห็นความพยายามของท่านล่มสลายไม่มีชิ้นดี เห็นความต้องการของท่านถูกบดขยี้ด้วยกงล้อของเวลาที่เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และได้มีโอกาสรับรู้กับตาตัวเองว่า ผู้คนและยุคสมัยจะตราหน้าพวกท่านว่าอย่างไรในประวัติศาสตร์ของชาติเรา”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active