วุฒิฯ อภิปรายให้ความเห็นต่อร่างแก้ รธน. ส่อแววคว่ำร่างปิดสวิตช์ ส.ว. ‘สมชาย’ ชี้ รีบร้อนเกินไป ไม่แคร์ประชามติ 15.2 ล้านเสียง ‘ถวิล’ ชี้ ส.ว. โดนด่าฟรี ตัดอำนาจ ส.ว. ขอให้คุยด้วยเหตุผล
24 มิ.ย. 2564 – สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเป็น ส.ว. ลำดับท้าย ๆ ของการอภิปรายให้ความเห็นต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นการอภิปรายโดยกล่าวว่าวันที่ 24 มิถุนายน เมื่อ 89 ปีที่แล้ว และกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 90 ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ประเทศไทยยังวนเวียนอยู่ที่เดิม หากไม่กลับไปสู่วงจรอุบาทว์ เขาเห็นว่าเป็นประชาธิปไตยที่น่ายกย่อง แต่ที่ผ่านมากลับพบว่ามีการใช้ห้องประชุมรัฐสภาเพื่อแก้กฎหมายตามใจชอบ เสียงข้างมากลากไป
พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงความรีบเร่งบรรจุญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 14 ฉบับ เพราะเห็นว่า เป็นเรื่องใหญ่ ที่เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบการเข้าสู่ตำแหน่ง เรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมือง โดยระบุว่า ขนาดเป็นการแก้ไขกฎหมายเล็ก ๆ น้อย ๆ ยังต้องใช้เวลาในการพิจารณาเป็นเวลานาน แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีผลบังคับใช้กับประชาชนกว่า 60 ล้านคน กลับให้เวลาในการพิจารณาร่างฯ เพียง 6 – 7 วัน พร้อมเห็นด้วยที่ประธานรัฐสภาถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องการตั้ง ส.ส.ร. ออกไป ทำให้เหลือร่างแก้รัฐธรรมนูญเพียง 13 ฉบับ
ส.ว. สมชาย ยังระบุว่า จากการอ่านร่างแก้ไขทั้งหมด พบว่า บางร่างไปลอกมาจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 บางร่างไปลอกมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งในความเป็นจริง หลายเรื่องปรากฏอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 โดยเขามองว่า มีพัฒนาการในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีความคืบหน้าตามหลักสากลมากกว่า นี่ทำให้แม้ว่าจะเห็นด้วยกับบางเรื่อง เช่น การแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิผู้บริโภค แต่ก็มีการระบุแล้วในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คำถามก็คือ หากแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว สภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ จะถูกยุบหรือไม่ เพราะผลผูกพันลงไปถึงระดับพระราชบัญญัติด้วย ก็จะเกิดความวุ่นวาย
อีกประเด็นสำคัญ คือ เรื่องการตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว. สมชาย ระบุว่า การแก้ไขมาตรา 272 เรื่องอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ นั้น ตามบทเฉพาะกาลเหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีกว่าเท่านั้น รวมถึงเป็นเรื่องที่ปรากฏในคำถามพ่วงที่เป็นผลมาจากการที่ประชาชนลงประชามติ หากแก้ไขเรื่องนี้ โดยยังไม่มีการถามองค์สถาปนารัฐธรรมนูญ คือ ประชาชน 15.2 ล้านเสียง คงเป็นไปไม่ได้ ส่วนตัวจึงเห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องมาปิดสวิตช์ ส.ว.
“ท่านไปรวมมาเลยครับ อีก 2 ปีข้างหน้า เลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าไปรวมกันให้ได้ 270 – 300 เสียง เราก็ไม่มีปัญญาไปทำอะไรหรอกครับ ในการไปโหวตค้านที่สภาแห่งนี้ หากเห็นว่าผู้นั้นอยู่ในบัญชีรายชื่อที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี เชื่อผมนะครับ ว่าท่านไม่ต้องไปเสียเวลาแก้”
นอกจากนี้ เขายังระบุถึงความพยายามที่จะนำเสนอรูปแบบสภาเดี่ยว ว่า ขนาดมีสองสภา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) ยังมีความพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 หมวด 2 อยู่ร่ำไป เป็นการก้าวก่ายพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรื่องนี้คงยอมไม่ได้ เพราะเห็นว่าประเทศไทยยังไม่พร้อม พร้อมย้ำว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จำเป็นต้องมี 2 สภา
ช่วงท้าย ส.ว. สมชาย ระบุว่า อยากฟังคำชี้แจงถึงเหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในแต่ละร่าง แต่เพราะความรีบร้อน ยินยอมให้ผ่านไปได้ลำบาก ส่วนร่างของพรรคพลังประชารัฐ มีสิ่งที่เห็นด้วย คือ การแก้ไขปัญหาการปฏิรูปประเทศในมาตรา 270 แต่เสียดายที่นำไปรวมกันเป็นร่างเดียวกับอีก 5 ประเด็น
“ผมเชื่อว่ามาตรา 270 วันนี้ จะผ่านสภาแน่นอน แต่เพราะมาตรา 144 และ 185 ซึ่งมีปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ที่ไม่ต้องการให้ ส.ว. เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงบประมาณ รวมถึงเจ้าหน้าที่ ซึ่งหมายความว่าเฉพาะเจ้าหน้าที่ของสำนักงบประมาณเท่านั้น ถ้าจะแก้ไขมาตรานี้ให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ ต้องมีความรัดกุมพอสมควร แต่ด้วยความรีบร้อน รวมเป็นเรื่องเดียวกัน ก็เห็นว่าจะยกมือผ่านให้ลำบาก”
สอดคล้องกับ ถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายว่า ตนรับไม่ได้ ที่จะแก้ไข มาตรา 144 และ มาตรา 185 เพราะนักการเมืองไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับข้าราชการ เพราะข้าราชการไม่ใช่พนักงานบริษัท ดังนั้น ควรปล่อยให้ข้าราชการทำงาน และเป็นไปด้วยระบบคุณธรรม ไม่มีการแทรกแซง ส่วนกรณีที่เสนอให้ปิดสวิตช์ ส.ว. นั้น ขอให้พูดคุยด้วยเหตุผล
“ผมยอมรับว่า ส.ว. ไม่ได้มาจากประชาชน การเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ไม่เป็นประชาธิปไตย หากเป็นสถานการณ์ปกติไม่ควรมี ดังนั้น ขอให้ตั้งสติ พิจารณาให้เป็นธรรม ใจกว้างว่าความจริงเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ ตามหลักการที่สวยหรูหรือไม่ ที่ผ่านมาบ้านเมืองมืดมน ไม่ใช่ฝีมือพวกผม แต่มีกลุ่มที่อาศัยประชาธิปไตยบังหน้า โกงกิน คอร์รัปชัน ทำบ้านเมืองเสียหาย และเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อทำลายระบบนิติรัฐ นิติธรรม จนมีผู้ประท้วงจำนวนมาก ผมยอมรับว่า มีนักการเมืองที่ดี แต่มีไม่พอต้านทานคนไม่ดี ดังนั้น บทเฉพาะกาล จึงเขียนให้มี ส.ว. เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี”