“นพ.สกานต์ บุนนาค” เสนอมาตรการอำนวยความสะดวกฉีดวัคซีนให้ถึงที่ ด้วยฐานข้อมูลเดิม ระบุ แม้คนสูงอายุติดเชื้อน้อย แต่หากติดแล้วโอกาสเสียชีวิตสูง
ตัวเลขค่าเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในประเทศไทย มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ราว 70 ปี นั่นหมายความว่า “ผู้สูงอายุ” ที่รับเชื้อจากชุมชนหรือคนใกล้ชิด เป็นกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตมากที่สุด
ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่พบ คือ ผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับฉีดวัคซีน ส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดเตียง เคลื่อนที่ลำบาก
กรณีนี้ นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวถึงมาตรการป้องกันความเสี่ยงติดเชื้อในผู้สูงอายุ และแนวทางกระจายวัคซีนเชิงรุกให้ทั่วถึงผู้สูงอายุในชุมชน
สถานการณ์ติดเชื้อและเสียชีวิต ในกลุ่ม”ผู้สูงอายุ”
นพ.สกานต์ ระบุว่า หากดูจากภาพรวมการติดเชื้อของคนทั้งประเทศ ผู้สูงอายุติดเชื้อ เป็นจำนวนน้อยกว่ากลุ่มคนวัยทำงาน เนื่องจากผู้สูงอายุทราบว่าตนเป็นกลุ่มเสี่ยงและมีการระวังตัวอย่างดี และแม้ว่าจะพบการติดเชื้อน้อย แต่กลับมีอัตราการเสียชีวิตสูงในกลุ่มผู้สูงอายุ
พอติดเชื้อแล้ว อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง บางพื้นที่ที่มีการระบาดเยอะ ๆ อัตราการเสียชีวิตอาจจะขึ้นไปถึง 10-20% และเมื่อไปดูยอดสถิติการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อของทั้งประเทศจะพบว่า อายุค่าเฉลี่ยของผู้เสียชีวิต อยู่ที่ประมาน 70 ปี แปลว่าคนสูงอายุส่วนใหญ่ ติดเชื้อน้อย แต่ถ้าติดเชื้อเมื่อไร ตายเยอะ
นพ.สกานต์ ยังระบุอีกว่า การติดเชื้อโควิด-19 ในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้รับเชื้อโดยตรง แต่ติดมากับญาติ หรือคนใกล้ชิด ในขณะที่ผู้สูงอายุจำนวนมาก เป็นกลุ่มติดบ้านติดเตียง ไม่สามารถออกไปรับเชื้อที่อื่นได้ นอกจากตัวญาติหรือผู้ดูแลที่นำเชื้อมาติด เพราะฉะนั้นแหล่งรับเชื้อของผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงมาจากญาติหรือผู้ดูแล
“ความเสี่ยงติดเชื้อ” ของผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชน กับ ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานดูแล
นพ.สกานต์ ระบุว่า ผู้สูงอายุในสถานดูแล ทั้ง 3,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งขึ้นทะเบียนและยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน พบว่า ในภาพรวมมีจำนวนผู้สูงอายุติดเชื้อน้อยกว่าผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชน เพราะค่อนข้างมีมาตรการที่ดีมาตั้งแต่การระบาดระลอกแรก โดยมีความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมฯ สหพันธ์ฯ ต่าง ๆ ซึ่งได้ประสานความร่วมมือเรื่องมาตรการดูแลกับกระทรวงสาธารณสุข ทำให้สามารถคุมการระบาดในสถานพยาบาลได้ดีกว่า เพราะเป็น “ระบบปิด”
สถานดูแลผู้สูงอายุ รับมาตรการไปปฏิบัติได้ค่อนข้างดีมาโดยตลอด มีมาตรการค่อนข้างเข้มข้น ช่วงที่มีการติดเชื้อเยอะ ๆ สถานดูแลบางแห่งไม่ให้ญาติเข้าเยี่ยมเลย เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้สูงอายุ ส่วนตัวผู้ดูแลเอง เรียกว่ามีการคัดกรองในแต่ละวันว่ามีความเสี่ยงหรือเปล่า ดังนั้น จึงค่อนข้างป้องกันได้ดีมาตลอด มีบางแห่งที่ติด แต่ก็ควบคุมได้
ผู้อำนวยการสถาบันสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ มองว่า ผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงกว่า คือ ผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้าน หรือในชุมชน เนื่องจากไม่สามารถใช้มาตรการควบคุมบังคับได้ ไม่สามารถออกกฎเกณฑ์ให้คนในบ้านหรือคนในชุมชนปฏิบัติได้เคร่งครัดเหมือนในสถานพยาบาล ส่วนใหญ่เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อการป้องกัน รณรงค์ผ่านสื่อต่าง ๆ
เราเน้นประชาสัมพันธ์เรื่องแนวทางการปฏิบัติตัวต่อผู้สูงอายุในบ้าน ว่าในเวลาที่จะเข้าไปหาผู้สูงอายุให้ประเมินตัวเองก่อน ว่าเรามีความเสี่ยง อาการ หรือประวัติมากน้อยแค่ไหน หากพบว่ามี ก็ต้องงดเข้าหาผู้สูงอายุเลย แต่หากไม่มีความเสี่ยง ก็ยังต้องเน้นมาตรการ ใส่หน้ากาก ล้างมือก่อนเข้าไปหาผู้สูงอายุ ยิ่งถ้าไปนอกบ้านมา ต้องอาบน้ำ สระผม เปลี่ยนชุดก่อน เพราะผู้สูงอายุรับเชื้อง่ายกว่าคนทั่วไป
ขณะที่ผู้สูงอายุในกลุ่ม ติดเตียง ซึ่งต้องมีคนดูแลประกบตลอดเวลา และเว้นระยะห่างได้ยาก จำต้องย้ำถึงการใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หรือล้างสบู่ก่อนที่จะมาสัมผัสตัวผู้สูงอายุ และต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา แม้จะอยู่ที่บ้านก็ตาม
ทั้งยังต้องระวังการสัมผัสกับเด็ก ๆ หลายบ้านเป็นครอบครัวใหญ่ มีเด็กเล็ก ที่มีความสามารถในการระวังตัวต่ำกว่าผู้ใหญ่ ขณะที่ผู้สูงอายุมักให้ความเอ็นดูเด็ก ด้วยการกอด สัมผัส ซึ่งอันตราย…
ช่วงนี้อาจเน้นนิดนึงว่าบ้านไหนมีเด็กเล็ก หากไม่จำเป็น ก็จะต้องให้ห่างกับผู้สูงอายุไว้ เพราะส่วนใหญ่เด็กจะมีมาตรการดูแลตัวเองที่ไม่ดีนัก เรื่องนี้เราก็พยายามที่จะสื่อสารออกไปสู่ชุมชนให้ได้รับรู้ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุบางคนก็อาจจะไม่ได้มีความสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มาก ไม่เท่ากับวัยอื่นที่สื่อสารผ่านออนไลน์ได้คล่องกว่า ดังนั้น จึงต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ หรือกลุ่มคนที่มีความรู้ด้านสาธารณะลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ เช่น อสส. อสม. care giver เพื่อสื่อสารให้ทั่วถึงด้วย
“อำนวยความสะดวก” วัคซีนแก่ผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้สูงอายุที่สามารถดูแลตัวเองได้ กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน และกลุ่มผู้สูงอายุติดเตียง
กลุ่มแรก ที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนคนทั่วไป สามารถเดินทางไปฉีดวัคซีนด้วยตัวเองได้ แต่เมื่อกลับถึงบ้าน ควรรีบอาบน้ำสระผม เปลี่ยนเสื้อผ้า กลุ่มสอง คือ กลุ่มติดบ้าน สามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง แนะนำให้ไปฉีดวัคซีนที่จุดบริการ แต่อาจจะต้องมีการอำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทาง โดยหน่วยงานในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจร่วมมือกับมูลนิธิ สาธารณสุขในพื้นที่ เอกชน ในการจัดรถเพื่อพาผู้สูงอายุกลุ่มนี้ไปฉีดวัคซีน ในสถานที่ให้บริการวัคซีนควรมีการจัดพื้นที่ช่องทางด่วน เพื่อให้สามารถให้รับความสะดวก
กลุ่มสุดท้าย คือ ผู้สูงอายุติดเตียง เดินทางมายังจุดให้บริการไม่สะดวก สาธารณสุข หรือหน่วยฉีดวัคซีนจึงควรที่จะเดินทางไปฉีดให้ถึงที่ โดยจัดรถพยาบาลที่มีอุปกรณ์พร้อมกู้ชีพไปด้วย และทีมงานที่มีความสามารถในการกู้ชีพได้ เดินทางไปพร้อมกับวัคซีนที่แช่แข็งได้มาตรฐาน
ในการลงพื้นที่ให้บริการ ควรจะต้องมีการวางแผนในการฉีด การออกไปครั้งหนึ่งให้สามารถฉีดได้หลายคน และรถพยาบาลพร้อมทีมต้องมีช่วงเวลาที่รอสังเกตอาการ 30 นาที หากฉีดทีละคนอาจจะลำบาก จึงต้องมีการวางแผนเชิงพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการสำรวจจำนวนผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงอยู่ตรงไหนบ้าง สาธารณสุขจังหวัดสามารถเอาฐานข้อมูลที่มีเดิม มาจัดคิว วางแผนการฉีดให้ทำเวลาได้ดีขึ้น โดยอาจจัดเป็นการฉีดทีละกลุ่มพื้นที่
นพ.สกานต์ ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานดูแล เป็นกลุ่มผู้สูงอายุอยู่รวมกันที่เดียว ดังนั้น ทีมสาธารณสุขอาจจะสามารถลงพื้นที่ฉีดวัคซีนได้สะดวกมากกว่า เนื่องจากสถานที่เองก็พอจะมีอุปกรณ์ในการช่วยเหลือดูแล แต่การเอาวัคซีนออกจากที่แช่แข็งอาจต้องพึงระวัง เนื่องจากวัคซีนจะสามารถอยู่ได้เพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น หากวางแผนไม่ดี อาจทำให้กระทบกับปริมาณวัคซีนที่ใช้งานได้จริง เสียประโยชน์โดยสิ้นเปลือง