นำร่อง Teledoctor/Telemedicine ช่วยผู้ป่วยเรื้อรังรักษาตัวที่บ้าน เตรียมต่อยอดช่วยผู้ป่วยโควิด-19

สถานการณ์โควิด-19 ที่มียอดผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนไม่กล้ามาใช้บริการที่โรงพยาบาล แน่นอนว่ากระทบต่อผู้ป่วยที่อาจจะพลาดการรักษา โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่าง เบาหวาน ความดัน ที่จำเป็นต้องเจาะเลือดทุก 3 เดือน และต้องรับยารักษาเป็นประจำ ขณะที่บุคลากรทางกร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็โหลด ไม่เพียงพอต่อการรักษา

ล่าสุด คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เปิดตัวแอปพลิเคชัน “Vajira@Home” นวัตกรรมที่จะให้บริการผู้ป่วยผ่านระบบออนไลน์ และรอรับยาทางไปรษณีย์ เพื่อลดการเดินทาง ลดความแออัดของโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่ติดได้ง่าย โดยแอปพลิเคชันเพิ่งเปิดตัวได้เพียง 2 วันและเริ่มใช้นำร่องเฉพาะผู้ป่วยหลัก 2 กลุ่ม คือ

  • คลินิกกลุ่มโรคเรื้อรัง (Non-communicable diseases, NCDs) ความดัน เบาหวาน ซึ่งกลุ่มนี้ต้องพบหมอ เจาะเลือด อย่างน้อยปีละ 3-4 ครั้ง
  • คลินิกกลุ่มโรคไข้ข้อ (ออร์โธปิดิกส์) การติดตามผลการรักษาก่อนและหลังผ่าตัด การสอนทำกายภาพบำบัด เพราะกลุ่มนี้คุณหมอต้องดูท่าทางการเดิน ซึ่งจะเหมาะกับการใช้เทคโนโลยีนี้มากกว่าโรคที่ประเมินกันทางโทรศัพท์ได้ยาก อย่างโรคทางตา ก็อาจจะต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือมากกว่า

ผู้ป่วยสามารถนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมรับคำปรึกษา วินิจฉัยโรค รักษา เสมือนกับการเดินทางมาโรงพยาบาล ความต่างระหว่าง แอปพลิเคชันที่ใช้ระบบ Teledoctor /Telemedicine กับ การคุยโทรศัพท์ทั่วไป คือ แพทย์จะรู้สิทธิ์การรักษา ลดปัญหาการสวมสิทธิ์, ประเมินอาการได้เร็ว, ข้อมูลจากคนไข้ เช่น ค่าน้ำตาลในเลือด สามารถ Input เข้าระบบสามารถดูย้อนหลังได้ เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้แพทย์ประจำตัวประเมินอาการได้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการยืนยันตัวตน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดในการรักษา ทั้งหมดนี้จะถูกบันทึกไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการรักษาผิดคน ผ่านการอำนวยความสะดวกของเทคโนโลยี Blockchain

“สมัยก่อน Teledoctor / Telemedicine แค่ถูกพูดถึง แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราต้องรักษาระยะห่าง ทีมแพทย์ไม่ต้องเสียเวลาเดินราว คนไข้ไม่ต้องมาโรงพยาบาล
ถ้า Teledoctor / Telemedicine ทำได้ดี ก็จะช่วยลดความยุ่งยาก ลดโหลดแพทย์เพราะ 1 คน สามารถ Teledoctor กับ คนไข้ได้หลายคน หรือ ทั้งชุมชน”

ผศ.นพ.จักราวุธ มณีฤทธิ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล

ผศ.นพ.จักราวุธ มณีฤทธิ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เปิดเผยว่า ทาง รพ.ได้ขอทุนสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DEs) ราว 24 ล้านบาท ใช้เวลานานกว่า 1 ปี ถึงจะพัฒนาแอปพลิเคชันตัวนี้ได้สำเร็จ หาก รพ.ไหนจะต่อยอดก็จะใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 เดือนก็ต่อยอดได้ทันทีเพราะเปิดระบบไว้เป็น Open Source

แม้ตอนนี้ยังจำกัดวงการทดลองใช้อยู่กับผู้ป่วยในเครือของโรงพยาบาลวชิระ ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด แต่ทางโรงพยาบาลเตรียมที่จะต่อยอดไปถึง การติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19

ล่าสุด วชิรพยาบาล เตรียมประสานกับ สำนักอนามัย กทม. เพื่อใช้เทคโนโลยีในการติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชน โดยคาดว่าจะเริ่มนำร่องใช้ Teledoctor ที่ ศูนย์สร้างสุข เกียกกาย เพื่อให้ครูพี่เลี้ยง ศูนย์ชุมชนคุยกับคุณหมอประเมินอาการของคนในชุมชน คาดว่าจะเริ่มนำร่องวันแรก คือ วันพุธที่ 14 ก.ค. 2564 แต่ข้อจำกัดสำคัญของการใช้เทคโนโลยีก็คือ ต้องอยู่ในการยอมรับของแพทย์กับคนไข้ และทั้ง 2 ฝ่ายต้องมีความพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยี

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน