กสม. เตรียมชงเรื่องตรวจสอบ หลังชาวบ้านร้องเรียนคำสั่งนายอำเภอเชียงดาว ขยายผลปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ อ้าง หากไม่ยินยอมจะถูกดำเนินคดี ‘มูลนิธิผสานวัฒนธรรม’ ชี้ เข้าขั้นละเมิดสิทธิชาวบ้าน หวั่นส่งผลกระทบการคุมระบาดโควิด-19 ในชุมชน
วันนี้ (22 ก.ค. 2564) เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง โพสต์ข้อมูลผ่านเพจ IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง ระบุว่าได้รับรายงานจากชาวบ้านในพื้นที่หย่อมบ้านห้วยถ้ำ หมู่บ้านแกน้อย หมู่ 2 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ซึ่งพบว่าเมื่อช่วงเช้า ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ประมาณ 40 คน สนธิกำลังกันเข้าไปยังชุมชน พร้อมแจ้งให้ผู้นำชุมชนประกาศให้ชาวบ้านมารวมตัวกัน เพื่อทำการตรวจหาสารพันธุกรรม (DNA) ตามคำสั่งของนายอำเภอเชียงดาว
จากรายงานอ้างว่า ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งของนายอำเภอเชียงดาว ถึงผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 และหมู่ 12 ตำบลเมืองนะ ลงวันที่ 21 ก.ค. 64 เรื่อง ขอความร่วมมือและอำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่ในการปิดล้อมตรวจค้นฯ พื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติด โดยหนังสือระบุว่า เป็นการขยายผลจากการจับกุมยาเสพติด แล้วพบว่าขบวนการดังกล่าวมีความเชื่อมโยงถึงคนในพื้นที่ จึงขอความร่วมมือและอำนวยความสะดวกในการตรวจ DNA
สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากหมู่บ้านละแวกนั้น อยู่ระหว่างการปิดชุมชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 หลังพบผู้ติดเชื้อในชุมชนรวมแล้ว 7 คน และอยู่ระหว่างตรวจหาเชื้อเพิ่มเติมจากกลุ่มเสี่ยงด้วย
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ชาวบ้านบางส่วนขอสงวนสิทธิ์ตรวจหาสารพันธุกรรม เนื่องจากเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะให้ความยินยอมหรือไม่ก็ได้ พร้อมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่นำคำสั่งศาลที่ระบุตัวบุคคลชัดเจนมา หากจะขอตรวจ DNA
หลังจากเรียกรวมตัวไม่นาน ชาวบ้านก็สลายตัวจากห้องประชุม แต่ก็มีรายงาน ว่า เจ้าหน้าที่บุกตรวจค้นตามบ้านเรือนด้วย และได้นำรายชื่อชาวบ้านที่ได้รับมาจากนายอำเภอเชียงดาวให้ผู้ใหญ่บ้านประกาศ ตามรายงานข่าวยังระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ข่มขู่หากไม่มารายงานตัวและไม่ยินยอมให้ตรวจ DNA ชาวบ้านจะถูกดำเนินคดี
ขณะที่ชาวบ้านห้วยถ้ำ อยู่ในอาการหวาดกลัว เพราะเกรงว่าการเก็บตัวอย่าง DNA ดังกล่าวจะกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล และมีกระบวนการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงต้องการนำ DNA นั้นคืนจากเจ้าหน้าที่ เพื่อนำมาทำลายต่อไป
นักสิทธิฯ ชี้ เข้าขั้นละเมิดสิทธิชาวบ้าน หวั่นส่งผลกระทบการคุมระบาดโควิด-19 ในชุมชน
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่า การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดกฎหมาย และละเมิดสิทธิมนุษยชน การตรวจเก็บ DNA ส่วนใหญ่จัดเก็บจากเนื้อเยื่อจากกระพุ้งแก้มเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และข้อมูล DNA เป็นข้อส่วนบุคคล ต้องขอคำยินยอมโดยมีคำอธิบายให้ชัดเจน ทั้งวิธีการ การนำไปใช้ และเหตุผล รวมทั้งต้องมีการลงชื่อในเอกสารยินยอมและต้องมีช่องที่บอกว่าไม่ยินยอม
“การกระทำวันนี้ที่เชียงดาวไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้เป็นพิเศษ จดหมายขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิด และคิดว่าตนต้องให้ความร่วมมือ และยิ่งโดยเฉพาะช่วงนี้อยู่ในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ขั้นวิกฤต ซึ่งขั้นตอนการตรวจเก็บสารพันธุกรรมอาจนำมาซึ่งการแพร่เชื้อในหมู่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ผู้กระทำการตรวจเก็บสารพันธุกรรมได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้สำลีเก็บเยื่อกระพุ้งแก้ม เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่งในเวลานี้”
ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังย้ำว่า รัฐมีนโยบายปราบปรามยาเสพติดเป็นสิ่งที่ดี แต่มาตรการที่ใช้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง การเก็บ DNA ไม่สามารถปราบปรามการค้ายาเสพติดได้ การเลือกดำเนินการในพื้นที่ห่างไกล และเน้นเก็บเฉพาะชนเผ่าพื้นเมืองตามเขตชายแดน อาจมีเจตนาแอบแฝงหรือไม่ อยู่บนพื้นฐานการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติหรือไม่ เชื่อว่ารัฐจะไม่มาเก็บ DNA ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ โดยอ้างการปราบปรามยาเสพติด รวมทั้งเสนอให้มีการตรวจสอบการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ด้วย
“ต้องตรวจสอบการทำงานของนายอำเภอ ทหาร และตำรวจในวันเกิดเหตุ ลงโทษทางวินัย มีคำสั่งทำลาย DNA ทั้งหมดที่ไม่ได้เกิดจากการยินยอมของชาวบ้าน เนื่องจากไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน และทบทวนนโยบายการเก็บ DNA ทั้งหมดทั้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ กับชาวบางกลอย และกับพี่น้องที่เชียงดาว โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด และการปิดล้อมหมู่บ้านต้องมีหมายศาล”
ขณะที่ ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่โทรศัพท์มาร้องเรียนต่อ กสม. และขณะนี้ กสม. ได้ประสานการคุ้มครองไปที่อธิบดีกรมการปกครอง เนื่องจากหนังสือขอความร่วมมือปิดล้อมตรวจค้น ออกมาจากอำเภอเชียงดาว และกสม. ได้ประสานงานลงไปในพื้นที่แล้ว พร้อมทั้งจะหยิบยกเรื่องนี้ ขึ้นมาตรวจสอบเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป